Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2008

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2008

ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานผู้แทนการค้า ของสหรัฐฯ หรือ USTR ได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2008 เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า special 301 report ผมเห็นว่า รายงานดังกล่าวมีความสำคัญ จึงจะนำมาสรุปและวิเคราะห์ในคอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้


ภาพรวม

ในรายงานดังกล่าว ได้พิจารณาสถานะของทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก เกือบ 80 ประเทศ โดยได้มีการระบุประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯถึง 46 ประเทศ โดยประเทศที่มีการละเมิดมากที่สุดคือ จีน และรัสเซีย นอกจากนั้น ประเทศที่ถูกเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษได้แก่ อาร์เจนตินา ชิลี อินเดีย อิสราเอล ปากีสถาน เวเนซุเอลา และประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม รายงานได้ระบุว่า หลายๆประเทศได้มีความคืบหน้า ในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น

• รัสเซีย ได้เพิ่มบทลงโทษการละเมิดลิขสิทธิ์ และดำเนินมาตรการต่อโรงงานผลิตแผ่นเก็บข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ (optical disc) คือพวกแผ่นซีดี ดีวีดี
• จีน มีความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการลดซอฟแวร์เถื่อน
• อินโดนีเซีย และไนจีเรีย มีการเพิ่มการจับกุมการขายยาปลอม
• อินเดีย กำลังจะเป็นสมาชิกของ Madrid Protocol
• จีนและออสเตรเลีย ได้เข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญา WIPO (World Intellectual Property Organization)
• มาเลเซีย จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาใหม่ และ
• เวียดนาม กำลังปราบปรามการขโมยสัญญาณดาวเทียม

นอกจากนี้ รายงานได้ระบุว่า มีหลายประเทศที่ได้ถูกปรับสถานะให้ดีขึ้น คือประเทศ
เบลีซ และ ลิธัวเนีย ได้ถูกถอดออกจาก Watch List (WL) หรือประเทศที่ต้องจับตามอง ส่วนอียิปต์ เลบานอน ตุรกีและยูเครน ได้รับการปรับจาก Priority Watch List (PWL)ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษมาเป็น WL

ไทย

สำหรับในส่วนของไทยนั้น ผมขอย้อนกลับไปในรายงานปีที่แล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ถูกปรับระดับจาก WL เป็น PWL ในปีนี้ ไทยยังติดอยู่ในระดับ PWL ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามจากรัฐบาลไทยในการที่จะให้ไทยกลับไปอยู่ใน WL แต่รายงานระบุว่า ยังมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในไทยอย่างมาก โดยสหรัฐฯขอให้ฝ่ายไทยเพิ่มมาตรการที่จะพัฒนาระบบ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย โดยเน้นไปที่ต้นตอหรือแหล่งผลิต และเพิ่มโทษเพื่อเป็นการป้องปราม

นอกจากนี้ ทางฝ่ายสหรัฐฯ เน้นในเรื่องของการมีซีดี และดีวีดีเถื่อน การขโมยสัญญาณ รวมทั้งซอฟแวร์เถื่อนอย่างกว้างขวาง

และฝ่ายไทยควรจะเพิ่มมาตรการปราบปราม การผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าปลอม
รวมทั้งความล่าช้าในการอนุมัติสิทธิบัตร

รายงานระบุว่า ถึงแม้สหรัฐฯจะเข้าใจถึงความสำคัญของภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุข แต่นโยบายของไทยที่เกี่ยวข้องกับ CL สิทธิบัตรยานั้น ยังมีปัญหาในสายตาของสหรัฐฯ

ในรายงานยังได้ระบุถึงตลาดซื้อขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยนอกจากมีการระบุถึงตลาดใหญ่ๆ ในจีนและรัสเซียแล้ว ก็มีการระบุถึงตลาดในไทยด้วย โดยมีการระบุถึงพันธุ์ทิพย์พลาซ่า มาบุญครอง คลองถม และพัฒน์พงศ์ว่า เป็นตลาดใหญ่ในการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นจำนวนมาก

สิทธิบัตรยา

รายงาน special 301 ของ USTR ฉบับปี 2008 นี้ ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิทธิบัตรยา โดยมีการระบุว่า ปัญหาในการผลิตยาปลอม กำลังเป็นปัญหาใหญ่ โดยแหล่งผลิตที่สำคัญคือ บราซิล จีน อินเดีย เม็กซิโก และรัสเซีย

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้แสดงจุดยืนว่า ให้ความสำคัญต่อวิกฤตด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะเกี่ยวกับโรคระบาดร้ายแรง อาทิ โรคเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในแอฟริกา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯเชื่อว่า สิทธิบัตรยามีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนายาใหม่ๆ ขึ้นมา สหรัฐฯสนับสนุนปฏิญญา Doha ปี 2001 ที่ยอมรับถึงปัญหาด้านสุขอนามัยในประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ประชุม WTO ได้ตกลงว่า กฎ ระเบียบของ WTO ควรจะมีความยืดหยุ่น ที่จะบรรลุทั้ง 2 วัตถุประสงค์ คือ ทั้งในการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนที่ไม่สามารถซื้อยาราคาแพง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องบรรลุวัตถุประสงค์ที่จะให้ระบบสิทธิบัตรเดินหน้าต่อไปในการพัฒนายาใหม่ ๆ

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทาง internet

รายงานของ USTR ระบุว่า ขณะนี้ internet กำลังเป็นเครื่องมือของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนัก โดยประเทศที่มีการละเมิดอย่างหนักได้แก่ แคนาดา จีน สวีเดน สเปน และรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสนธิสัญญาที่พยายามจะป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทาง internet ซึ่งเรียกว่า WIPO Internet Treaties โดยมี 60 ประเทศเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาดังกล่าว จีนและออสเตรเลียก็เพิ่งเข้าเป็นสมาชิก จุดยืนของสหรัฐฯคือ ต้องการให้ประเทศต่างๆ เป็นภาคีของสนธิสัญญานี้


แผ่นเก็บข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ (optical disc)

รายงาน USTR ระบุว่า ขณะนี้มีหลายๆ ประเทศที่ได้พยายามป้องกันการผลิตและขายซีดีและดีวีดีเถื่อน โดยเฉพาะ บราซิล อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์และยูเครน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้โดยเฉพาะ บังคลาเทศ จีน อินเดีย รัสเซียและไทย
มาตรการของสหรัฐฯ

จากการวิเคราะห์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาข้างต้น รายงาน USTR ได้ระบุถึงมาตรการต่าง ๆ ที่สหรัฐฯจะเอามาใช้ ในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ดังนี้

• FTA
FTA จะเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของสหรัฐฯในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดยใน
การเจรจา FTA จะมีบทเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ด้วย

• GSP
เครื่องมืออีกอันหนึ่งในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาคือ การใช้ GSP โดยในอดีต
ได้มีการตัด GSP สำหรับประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมาก
ในอดีตไทยก็เคยถูกตัด GSP เพราะเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาแล้ว ในปัจจุบัน หลังจากถูกยกระดับเป็น PWL ก็มีการกลัวกันมากว่า สหรัฐฯจะตัด GSP ต่อสินค้าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ
แต่ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ประเทศที่สหรัฐฯกำลังทบทวน GSP คือ รัสเซีย เลบานอน และอุซเบกิสถาน โดยไม่มีไทย

• ข้อตกลงการต่อต้านการค้าสินค้าปลอม (Anti-Counterfeiting Trade
Agreement: ACTA)
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว USTR ได้ประกาศว่าสหรัฐฯต้องการเจรจาข้อตกลง ACTA
กับประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องมืออีกอันหนึ่งที่จะปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

• WTO
กลไกแก้ไขความขัดแย้งในกรอบของ WTO (WTO Dispute Settlement) ก็เป็น
เครื่องมืออีกอันหนึ่ง ที่สหรัฐฯใช้ในการบีบประเทศต่างๆในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยในกรณีล่าสุดคือ เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯได้ใช้กลไกนี้กับจีน โดยกล่าวหาจีนในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

• เครื่องมืออื่นๆ
นอกจากนี้แล้ว สหรัฐฯยังได้ใช้เวทีพหุภาคีต่างๆในการผลักดันมาตรการปกป้อง
ทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ G 8 การประชุมสุดยอด สหรัฐฯ – EU การประชุม OECD และการประชุม APEC

ไม่มีความคิดเห็น: