การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ตอนที่ 4)
นโยบายต่างประเทศของ Barack Obama
ตีพิมพ์ใน : สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
เป็นที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า Barack Obama น่าจะชนะ Hilary Clinton และคงจะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ John McCain จากพรรครีพับลิกัน แนวโน้มในขณะนี้คือ Obama มีคะแนนนำ McCain อยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเป็นที่คาดเดาได้ว่า ในที่สุด Obama อาจจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จึงอยากจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบของ Obama ต่อโลก หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี โดยจะวิเคราะห์แนวนโยบายต่างประเทศของ Obama ดังนี้
ภาพรวม
แนวนโยบายของ Obama นั้น โดยภาพรวมเป็นแนวนโยบายที่เราเรียกว่า เสรีนิยม เป็นลักษณะสายพิราบ ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของพรรครีพับลิกัน ที่มีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยม และเป็นสายเหยี่ยว Obama ได้เคยประกาศนโยบายต่างประเทศว่า จะเน้น ความมั่นคงร่วมกันสำหรับมนุษยชาติร่วมกัน หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า common security for common humanity โดย Obama ได้โจมตีแนวนโยบายของรัฐบาล Bush ว่า มีแนวคิดที่ล้าสมัย และเน้นการแก้ปัญหาโดยการใช้กำลัง ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ การบุกยึดอิรัก ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของอเมริกาเป็นอย่างมาก โลกได้สูญเสียความเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ
Obama จึงเสนอว่า นโยบายหลักของสหรัฐฯคือ สหรัฐฯไม่สามารถจะเผชิญกับภัยคุกคามและปัญหาต่างๆ ตามลำพัง และสำหรับประชาคมโลกก็ไม่สามารถเผชิญปัญหาโดยปราศจากสหรัฐฯ ดังนั้น อเมริกาจึงไม่สามารถดำเนินนโยบายโดดเดี่ยว หรือในทางกลับกัน ดำเนินนโยบายทำตัวเป็นอันธพาล หลักการพื้นฐานคือ ความมั่นคงและความรุ่งเรืองของสหรัฐฯนั้น ขึ้นอยู่กับความมั่นคงและความรุ่งเรืองของประเทศอื่นด้วย
ตะวันออกกลาง
สำหรับนโยบายของ Obama ต่อตะวันออกกลางนั้น เน้นไปที่ปัญหาอิรัก โดย Obamaต่อต้านสงครามอิรักมาโดยตลอด นโยบายคือ ยุติสงครามโดยเร็ว โดยมองว่าสหรัฐฯไม่สามารถใช้การแก้ปัญหาทางทหารต่อสงครามกลางเมืองในอิรักได้ สหรัฐฯควรจะค่อยๆ ถอนทหารออกมาให้หมดโดยเร็ว และรีบผลักดันการเจรจาทางการทูตในระดับภูมิภาค
สำหรับปัญหาปาเลสไตน์ซึ่ง Obama ได้โจมตีรัฐบาล Bush ว่าได้ละเลย แต่ Obama ก็คงรู้ดีว่า ชาวยิวในสหรัฐฯมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ดังนั้น นโยบายของ Obama คือ ยังคงจะยึดมั่นในการคุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยของอิสราเอล แต่ขณะเดียวกันก็จะผลักดันให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ให้อยู่ร่วมกับรัฐอิสราเอลให้ได้
สำหรับในกรณีอิหร่านและซีเรียนั้น แนวนโยบายของ Obama สะท้อนให้เห็นถึงยุทธศาสตร์หลักของ Obama ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ คือ จะต้องไม่ทำให้คนอเมริกันมองว่า เป็นนโยบายที่อ่อนแอ เพราะจุดอ่อนของพรรคเดโมแครตคือ มักจะถูกมองว่า มีนโยบายต่างประเทศที่ทำให้อเมริกาอ่อนแอ ดังนั้น Obama จึงผสมผสานนโยบายโดยใช้ การทูตกดดัน บวกกับการใช้อำนาจทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และทหาร Obama โจมตีนโยบายของ Bush ว่าล้มเหลว เพราะเน้นการข่มขู่อิหร่าน แต่ไม่ยอมเจรจากับอิหร่าน Obama เน้นว่า สหรัฐฯจะต้องไม่รีรอที่จะเจรจาโดยตรงกับอิหร่านและซีเรีย แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะต้องใช้กำลังหากจำเป็น
การก่อการร้าย
Obama โจมตีว่า รัฐบาล Bush ล้มเหลวในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยมองว่า Bush เน้นผิดที่ คือ ไปเน้นที่อิรัก Obama เสนอว่า จะต้องให้ความสำคัญกับอัฟกานิสถาน และปากีสถาน และกลุ่มตาลีบัน บิน ลาเดน และ อัล เคด้า Obama เสนอว่า ในการแก้ปัญหาการก่อการร้าย สหรัฐฯจะต้องสร้างหุ้นส่วนทางทหาร เหมือนกับที่สหรัฐฯ เคยสร้างพันธมิตร แนวร่วมในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น และประสบความสำเร็จ
ผมมองว่า นโยบายสำคัญที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งของ Obama คือ การที่เขาบอกว่า การแก้ปัญหาการก่อการร้าย จะต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยต้องรวมเอาทุกมิติของอำนาจ ไม่ใช่เน้นแต่ด้านทหารอย่างที่ Bush ทำ Obama เน้นว่า จะต้องเน้นไปที่รากเหง้าของปัญหา เข้าไปช่วยเหลือรัฐที่อ่อนแอ และรัฐที่ล้มเหลว สหรัฐฯต้องเข้าไปสนับสนุนกลุ่มแนวคิดสายกลางโดยการให้ความช่วยเหลือ ทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสนับสนุนกลุ่มนักปฏิรูปและภาคประชาสังคมในโลกมุสลิม
การสร้างหุ้นส่วนและพันธมิตร
Obama ได้โจมตีรัฐบาล Bush ว่า ได้ละเลยและทอดทิ้งพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของการไม่แยแสต่อเสียงคัดค้านของยุโรป ในกรณีการบุกอิรัก ไม่สนใจความพยายามของเกาหลีใต้ที่จะคืนดีกับเกาหลีเหนือ เมินเฉยต่อลาตินอเมริกา โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
Obama จึงเสนอว่า จะต้องมีการรื้อฟื้นพันธมิตรและหุ้นส่วนและสถาบันขึ้นมาใหม่ โดยการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ กระชับความสัมพันธ์ในกรอบ NATO สำหรับในเอเชีย สหรัฐฯควรจะดำเนินนโยบายที่ไปไกลกว่านโยบายเดิมๆ ที่เน้นความสัมพันธ์ทางทหารแบบทวิภาคี โดยเน้นการที่จะสร้างสถาบันพหุภาคีขึ้นมา
สำหรับในกรณีของจีน Obama เน้นที่จะให้จีนมีบทบาทความรับผิดชอบที่สร้างสรรค์ ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับว่า แม้จะมีหลายเรื่องที่สามารถร่วมมือกันได้ แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่สหรัฐฯกับจีนจะต้องต่อสู้แข่งขันกัน
ภาวะโลกร้อน
Obama ได้โจมตีนโยบายของ Bush ว่าล้มเหลว ในการที่สหรัฐฯจะมีบทบาทในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน Obama ยอมรับว่า สหรัฐฯเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากที่สุดในโลก ดังนั้น สหรัฐฯจึงจะต้องมีความรับผิดชอบที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหานี้ Obama ประกาศว่า ถ้าได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะดำเนินมาตรการเพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯให้ลดลงเป็นอย่างมาก
มนุษยชาติร่วมกัน
อีกเรื่องหนึ่งที่ Obama เน้น ก็คือ การที่สหรัฐฯจะต้องมีบทบาทต่อมวลมนุษยชาติโดยรวม โดยเน้นการเข้าไปส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สังคมที่มีความเป็นธรรม และมีความมั่นคงปลอดภัย สหรัฐฯจะต้องมีบทบาทในการลด และแก้ปัญหาความยากจนของโลก Obama เสนอว่า เขาจะจัดสรรงบประมาณถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ ภายในปี 2012 เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประเทศยากจน และจะจัดตั้งกองทุน Global Education Fund จำนวน 2 พันล้านเหรียญ
การค้า
ที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น หาก Obama ได้เป็นประธานาธิบดี และสามารถทำได้จริง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อโลกโดยรวม ซึ่งน่าจะดีกว่านโยบายของพรรครีพับลิกัน และของรัฐบาล Bush
อย่างไรก็ตาม มีนโยบายด้านหนึ่งที่อาจจะไม่เป็นผลดีต่อโลก และต่อไทย คือ นโยบายของ Obama ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า Obama มีแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม และเน้นการเอาใจผู้ใช้แรงงานชาวอเมริกัน
ที่ผ่านมา ถึงแม้ Obama จะสนับสนุนการค้าเสรี แต่ในระยะหลังๆ ก็มีท่าทีต่อต้านเขตการค้าเสรีหรือ FTA มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมองว่า FTA ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อชนชั้นผู้ใช้แรงงานของสหรัฐฯ Obama ได้ประกาศไม่เห็นด้วยกับการจัดทำ FTA ในหลายๆ กรณี อาทิ เขตการค้าเสรีของอเมริกากลาง หรือที่เรียกย่อว่า CAFTA และประกาศต่อต้านเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA และเพื่อเป็นการเอาใจคนงานอเมริกันที่เป็นฐานเสียงสำคัญ Obama จึงบอกว่า NAFTA ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อคนงานอเมริกัน และประกาศว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดีจะหารือกับผู้นำของแคนาดา และเม็กซิโก เพื่อแก้ไขข้อตกลง NAFTA ใหม่
ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า สหรัฐฯภายใต้การนำของ Obama คงจะมีนโยบายต่อต้านการค้าเสรีและ FTA มากขึ้น และคงมีนโยบายปกป้องทางการค้ามากขึ้น ซึ่งคงจะส่งผลกระทบในทางลบต่อโลก และต่อไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น