น้ำมัน กับการแข่งขันทางทหาร
ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ขณะนี้กำลังมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า กำลังมีการแข่งขันกันทางทหาร โดยเฉพาะการแข่งขันกันสะสมกำลังอาวุธ โดย Stockholm International Peace Research Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่ติดตามด้านการทหาร ได้เปิดเผยตัวเลขว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 1997 - 2006 งบประมาณการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 40% โดยสาเหตุสำคัญเนื่องมาจาก ความเป็นห่วงในเรื่องของทรัพยากรพลังงาน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ประเทศต่างๆจึงกำลังสะสมกำลังทางทหารในอัตราที่สูง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง
น้ำมันกับทหาร
การเพิ่มกำลังทางทหารในขณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศมหาอำนาจที่มีการบริโภคพลังงานน้ำมันมหาศาล และกำลังมียุทธศาสตร์ที่จะใช้อำนาจทางทหาร เพื่อปกป้องแหล่งพลังงานน้ำมันของตน นอกจากนี้ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเอง ก็มีการใช้จ่ายทางทหารสูงมากเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการแข่งขันทางทหาร กำลังทำให้ชาติตะวันตกต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางทหารใหม่ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในโลกที่ตะวันตกไม่สามารถครองความเป็นเจ้าทางทหารได้อีกต่อไป
แต่การสะสมกำลังทางทหารก็เป็นอันตราย เพราะอำนาจทางทหารยังอยู่ในมือของรัฐบาลเผด็จการและไม่มีเสถียรภาพ การสะสม และการแข่งขันกันทางทหาร จึงอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกันถึงขั้นสงครามได้
ในสมัยสงครามเย็น การแข่งขันทางทหารเป็นการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ ระหว่างคอมมิวนิสต์กับทุนนิยม แต่สถานการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยความมั่นคงด้านพลังงานได้เพิ่มความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางทหารเป็นอย่างมาก ในขณะที่แหล่งพลังงานน้ำมันกำลังหดหายไปทุกที และกระจุกตัวอยู่ภายในประเทศไม่กี่ประเทศ คือ 80% ของแหล่งพลังงานน้ำมันสำรองมีอยู่ในประเทศเพียงไม่ถึง 10 ประเทศ ดังนั้น ประเทศผู้บริโภคใหญ่ ๆ จึงต้องการที่จะปกป้องเส้นทางน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิต ในขณะเดียวกันก็ดำเนินยุทธศาสตร์ป้องกันไม่ให้คู่แข่งทำสัญญาและเข้าถึงแหล่งน้ำมัน
จีน
จีนเป็นประเทศที่เข้าข่ายแนวโน้มที่ผมวิเคราะห์ข้างต้นมากที่สุด เพราะจีนในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะแซงหน้าสหรัฐฯในการเป็นผู้บริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลก และจีนขณะนี้ กำลังขยายสมรรถนะด้านการทหารมากที่สุดในโลก งบประมาณทางทหารของจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 10- 20% ทุกปี ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก ตัวเลขของทางการจีนในปีนี้ มีงบทหาร 5 หมื่นล้านเหรียญ แต่สหรัฐฯก็ไม่เชื่อตัวเลขดังกล่าว และมองว่า มูลค่าที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านั้น คือ ประมาณ 1 แสนล้านเหรียญ
ยุทธศาสตร์ของจีนในขณะนี้คือ การเชื่อมโยงเรื่องของแหล่งพลังงานน้ำมันกับความร่วมมือทางทหารกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ในปี 2004 จีนได้ลงนามข้อตกลงกับอิหร่าน โดยจะใช้จ่ายเงินไปกับน้ำมันของอิหร่านถึง 1 แสนล้านเหรียญ และอิหร่านได้กลายเป็นประเทศผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ของจีน
เช่นเดียวกัน ซูดานส่งออกน้ำมันเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดไปยังจีน และจีนเป็นประเทศค้าอาวุธรายใหญ่ให้กับรัฐบาลซูดาน ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากนานาชาติในวิกฤตการณ์ Darfur ก็ตาม
ในเวเนซุเอลา ซึ่งนับเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่อีกประเทศหนึ่ง จีนก็เข้าไปตีสนิทโดยให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เวเนซุเอลา และได้ช่วย Hugo Chavez ผู้นำ เวเนซุเอลา ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน และเพื่อเป็นการตอบแทน Chavez ก็ได้ประกาศว่า จะส่งออกน้ำมันไปยังจีนเพิ่มอีก 3 เท่าตัว
ในเอเชียกลาง บริษัทน้ำมันของจีน ได้เข้าไปเจรจาเพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสร้างท่อส่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมายังจีน และเพื่อเป็นการตอบแทน เช่นเดียวกันจีนก็ได้กลายเป็นประเทศขายอาวุธรายใหญ่ให้กับประเทศเหล่านี้ ซึ่งในอดีตได้ซื้ออาวุธจากสหภาพโซเวียตเดิม แต่อาวุธเหล่านั้นก็ได้ล้าสมัยไปหมดแล้ว
นอกจากนี้ จีนยังได้ตั้งกลุ่มที่เรียกว่า Shanghai Cooperation Organization (SCO) และเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการซ้อมรบครั้งใหญ่ระหว่างประเทศสมาชิก SCO โดยมีจีน รัสเซีย และประเทศในเอเชียกลางเข้าร่วม การซ้อมรบดังกล่าว สมมติสถานการณ์ต่อสู้กับขบวนการก่อการร้าย แต่วาระซ่อนเร้นคือ การแสดงความร่วมมือทางทหารของกลุ่มประเทศเหล่านี้ เพื่อท้าทายอำนาจทางทหารของสหรัฐฯและตะวันตก
รัสเซีย
งบประมาณทหารของรัสเซียก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของรัสเซียก็ดีวันดีคืน โดยเฉพาะรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้งบทหารของรัสเซียเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน
รัสเซียได้พยายามเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ โดยได้ขายอาวุธให้กับประเทศต่างๆในแถบทะเลสาบแคสเปี้ยน เพื่อแลกกับความร่วมมือด้านพลังงาน สำหรับในเอเชียกลาง รัสเซียก็ได้เพิ่มความร่วมมือทางทหารกับประเทศเหล่านั้น และเมื่อปีที่แล้ว ในระหว่างการเยือนอินโดนีเซียของปูติน ก็ได้มีการลงนามในข้อตกลงที่อินโดนีเซียจะซื้ออาวุธจากรัสเซียถึง 6 พันล้านเหรียญ ปูตินได้ประกาศกร้าวว่า ขณะนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การแข่งขันทางทหารกำลังเกิดขึ้น
สหรัฐฯ
สำหรับสหรัฐฯ เป็นที่รู้กันดีว่า เป็นประเทศมหาอำนาจทางทหารอันดับ 1 ของโลก สหรัฐฯพยายามที่จะเพิ่มงบประมาณทางทหาร เพื่อข่มทั้งจีนและรัสเซีย โดยงบทหารของสหรัฐฯนั้น มากมายมหาศาล ปีนี้อยู่ที่ประมาณ 7 แสนล้านเหรียญ
เช่นเดียวกับจีนและรัสเซีย สหรัฐฯก็ได้ดำเนินยุทธศาสตร์เชื่อม ประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานกับทางทหาร โดยในแถบทะเลสาบแคสเปี้ยน สหรัฐฯได้เพิ่มความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย ซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ให้สหรัฐฯ สำหรับในเอเชียกลางซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันมหาศาล กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้เจรจาข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ เพื่ออนุญาตให้กองกำลังสหรัฐฯเข้าไปตั้งฐานทัพในประเทศเหล่านั้น
สำหรับในตะวันออกกลาง สหรัฐฯก็กำลังสร้างแนวร่วมทางทหารเพื่อปิดล้อมอิทธิพลของอิหร่าน โดยสหรัฐฯจะขายอาวุธรุ่นใหม่ให้กับซาอุดิอาระเบียมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ
ประเทศอื่น ๆ
นอกจากสามมหาอำนาจข้างต้นแล้ว ประเทศอื่นๆก็กำลังขยับเพิ่มงบประมาณทางทหารและแข่งขันทางทหารกันอย่างดุเดือด
อินเดียเป็นมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่ง ที่กำลังผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วทางด้านการทหาร กองทัพเรือของอินเดียมีบทบาทในมหาสมุทรอินเดีย และกำลังมีการแข่งขันกันทางทหารในมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะจีน และอินเดียที่ต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงมีแนวโน้มที่จะส่งกองทัพเรือมาปกป้องเส้นทางน้ำมันของตน นอกจากนี้สหรัฐฯก็กำลังเข้าไปตีสนิทอินเดีย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ คือ Robert Gates ได้เดินทางไปเยือนอินเดียเพื่อกระชับความร่วมมือทางทหาร โดยสหรัฐฯ มียุทธศาสตร์ที่จะดึงอินเดียมาเป็นแนวร่วมในการปิดล้อมจีนทางทหาร
สำหรับญี่ปุ่นก็พยายามเต็มที่ ที่จะขยายบทบาททางทหาร โดยเฉพาะเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน โดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด ญี่ปุ่นเพิ่งตั้งกระทรวงกลาโหมขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นการให้ความสำคัญทางด้านการทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ
แสดงความคิดเห็น