Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 3

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ตอนที่ 3)

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้มาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังนี้


Texas และ Ohio
ก่อนการเลือกตั้งขั้นต้นที่ Texas และ Ohio สถานการณ์ของ Hillary Clinton ค่อนข้างย่ำแย่ ถึงขั้นการเลือกตั้งที่ Texas และ Ohio จะเป็นวันชี้ชะตาทีเดียว เพราะถ้า Hillary แพ้ ก็ถือว่าจบ ถึงขั้นมีคนแนะนำว่า ให้ Hillary ถอนตัวออกไปเลย เพราะยังไงก็แพ้แน่ อย่างไรก็ตาม Hillary ไม่ยอมถอนและยังคงเดินหน้าสู้ต่อ และผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา กลับพลิกสถานการณ์ เพราะ Hillary ชนะที่ Texas, Ohio และ Rhode Island ส่วน Obama ชนะที่รัฐ Vermont เท่านั้น ถือเป็นการหยุดชัยชนะของ Obama ที่ติดต่อกันถึง 12 รัฐ หลัง Super Tuesday

Hillary กลับมาได้คะแนนจากฐานเสียงสำคัญคือ คนอเมริกันผิวขาว ชนชั้นแรงงาน กลุ่มผู้หญิง ผู้สูงอายุ และพวก Latinos คือ คนอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน โดยในกลุ่มผิวขาว Hillary ชนะ Obama ถึง 19% ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ Ohio Hillary ชนะ Obama ถึง 32% สำหรับกลุ่มผู้หญิง Hillary ชนะ Obama ถึง 16% และที่ Texas ในกลุ่ม Latinos Hillary ชนะ Obama ถึง 2 ต่อ 1

ปัจจัยที่ทำให้ Hillary ชนะ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Hillary ชนะ Obama นั้นมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน

ประการแรก Hillary ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์การหาเสียงใหม่โดยหันกลับมาใช้ยุทธศาสตร์โจมตี Obama อย่างหนัก มีลักษณะเป็น fighter หรือ นักสู้ โดยได้มีการใช้ถ้อยคำรุนแรงโจมตี Obama อย่างหนัก และ Hillary ดูเหมือนกับจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนที่ชัดเจนขึ้น มีการใช้อารมณ์ ความโกรธ ทำให้คนอเมริกันมองว่า Hillary เข้าถึงคนอเมริกันได้มากกว่า Obama เข้าทำนอง “ตีนติดดิน” มากขึ้น

ประการที่สอง คือ การใช้ยุทธศาสตร์โจมตีจุดอ่อนของ Obama อย่างหนัก
โดยเรื่องแรกคือ การโจมตีว่า Obama ไม่มีประสบการณ์ และอ่อนหัดในเรื่องนโยบายความมั่นคง และไม่สามารถเป็นผู้นำกองทัพได้

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ทำให้ Obama เสียคนคือ การที่มีข่าวรั่วออกมาว่า Obama ไปพูดกับทางเจ้าหน้าที่ของแคนาดาว่า การที่ Obama โจมตี NAFTA นั้น เป็นเพียงยุทธศาสตร์การหาเสียง แต่จริงๆ แล้ว Obama ไม่คิดจะไปแก้ข้อตกลง NAFTA กับ แคนาดา แต่อย่างใด เรื่องนี้ทำให้ Obama เสียภาพลักษณ์มาก เพราะก่อนหน้านี้ เขาพยายามชูภาพว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ แต่ในที่สุด ก็กลับมาเป็นนักการเมือง “น้ำเน่า” ที่ตีสองหน้าได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่ทำให้ Obama เสียคนคือ การที่มีข่าวว่า Obama ไปมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักธุรกิจมาเฟียที่กำลังถูกดำเนินคดี คือ Tony Rezko

สาเหตุประการที่สามที่ทำให้ Hillary พลิกกลับมาชนะ Obama คือ การที่เศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการเลือกตั้ง ซึ่งเข้าทาง Hillary โดย 80% ของคน Ohio ที่ไปเลือกตั้งขั้นต้นมีความเห็นว่า FTA มีผลกระทบทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน คนที่Ohio ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงเข้าทาง Hillary เพราะคน Ohio มอง Hillary ว่ามีประสบการณ์ และนโยบายเศรษฐกิจเป็นรูปธรรมมากกว่า Obama ที่มักจะพูดแต่คำว่า “CHANGE” แต่ก็ไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม และนโยบายดูเพ้อฝัน

คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Hillary จะชนะ Obama ที่ Texas และ Ohio แต่คะแนนคณะผู้เลือกตั้งหรือ delegates ของ Obama ก็ยังนำ Hillary อยู่ประมาณ 160 คะแนน ทั้งนี้เพราะ ถึงแม้ Hillary จะชนะ แต่พรรคเดโมแครตใช้ระบบคิดเป็นสัดส่วน ดังนั้น ทั้ง Hillary และ Obama ก็ได้คะแนนโดยที่ Ohio ถึงแม้ Hillary จะชนะ Obama 10% แต่เมื่อแปลออกมาเป็นคะแนน delegates Hillary ก็ชนะ Obama เพียง 9 คนเท่านั้

ดังนั้น Hillary ยังอยู่ในภาวะเข็นครกขึ้นภูเขาถึงจะชนะ Obama ได้ โดยอาจจะต้องชนะรัฐที่เหลืออย่างน้อย 60% แต่ก็ไม่ง่ายเลย เพราะ Obama ก็เพิ่งชนะ Hillary ไปที่ Wyoming และที่ Mississippi Obama ก็คงจะชนะอีก เช่นเดียวกับที่ North Carolina และ Oregon

สำหรับ Hillary นั้น โอกาสชนะก็ที่รัฐ Pennsylvania, Indiana, West Virginia, Montana และ South Dakota

แต่แนวโน้มคือ คงจะไม่มีใครสามารถได้ถึง 2025 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่จะชนะได้เป็นตัวแทนพรรค ดังนั้น ในที่สุดแล้ว คงต้องไปต่อสู้กันในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครด ในช่วงเดือนสิงหาคม และปัจจัยชี้ขาดคือกลุ่ม superdelegates ซึ่งคล้ายๆ กับคณะกรรมการบริหารพรรค มีอยู่ประมาณ 800 คน และคงจะเป็นกลุ่มนี้ที่จะเป็นตัวตัดสินว่า จะเลือก Hillary หรือ Obama ในขณะนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่ตัวเลขล่าสุดคือ Hillary ได้รับเสียงสนับสนุนอยู่ 218 เสียง และ Obama 199 เสียง

ยุทธศาสตร์ของ Hillary

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือ Hillary คงจะต้องดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ซึ่งน่าจะมีอยู่ด้วยกัน 5 ประเด็น

• Hillary คงจะดำเนินยุทศาสตร์โจมตีจุดอ่อนของ Obama ต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องความอ่อนหัดในนโยบายความมั่นคงและนโยบายเศรษฐกิจ

• Hillary คงจะดำเนินยุทธศาสตร์ที่จะไม่ให้ superdelegates ไปสนับสนุน Obama โดยคงจะพยายามหว่านล้อมให้ superdelegates เชื่อว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีในที่สุดแล้วคงจะต้องวัดกันที่รัฐใหญ่ อาทิ Ohio, Florida ซึ่ง Hillary ดูจะมีความเหนือกว่า Obama และ Hillary คงจะต้องชนะที่รัฐ Pennsylvania เพื่อที่จะทำให้ superdelegates เชื่อว่า Hillary น่าจะทำให้พรรคเดโมแครตชนะพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้

• ทีม Hillary คงจะผลักดันให้การเลือกตั้งขั้นต้นใหม่ที่ Florida และ Michigan ซึ่งที่ผ่านมาถูกถือว่าเป็นโมฆะเพราะไปเลื่อนวันเลือกตั้ง โดย Hillary หวังว่าเสียงที่ Florida และ Michigan เหนือกว่า Obama ดังนั้น หากมีการเลือกตั้งใหม่ก็น่าจะได้เปรียบ

• Hillary คงจะเดินหน้าในการเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของ Hillary ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Clinton as fighter” ซึ่งกำลังโดนใจคนอเมริกันโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง

• Hillary คงจะตอกย้ำว่า การที่ชนะที่ Ohio นั้นเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ใครที่ชนะที่รัฐ Ohio ก็จะได้เป็นประธานาธิบดี

สมรภูมิ Pennsylvania

เหตุการณ์สำคัญที่เราจะต้องจับตามองกันต่อคือ การเลือกตั้งขั้นต้นที่ Pennsylvania ในวันที่
22 เมษายน ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นรัฐชี้ชะตาของ Hillary อีกครั้ง ถ้าชนะโอกาสตีตื้น Obama ก็มากขึ้น
จากโพลล์ล่าสุดปรากฏว่า Hillary ยังนำ Obama อยู่ 44% ต่อ 32% อย่างไรก็ตาม Obama ก็ไล่กวดขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเมื่อช่วงเดือนมกราคม Hillary นำ Obama อยู่ถึง 20% แต่ตอนนี้ Obama ตามอยู่เพียง 10 กว่า% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผมดูแนวโน้มแล้ว Hillary น่าจะชนะ เพราะลักษณะทางโครงสร้างประชากรของ Pennsylvania นั้น เหมือนกับที่ Ohio คือ เป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีฐานผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุน Hillary ดังนั้น เรื่องสำคัญก็คงจะเหมือนที่ Ohio คือ เศรษฐกิจ ซึ่ง Hillary น่าจะได้เปรียบ นอกจากนี้ Hillary ยังได้รับการสนับสนุนทั้งจาก ผู้ว่าการรัฐ Pennsylvaniaและจากนายกเทศมนตรีเมือง Philadelphia ด้วย


ไม่มีความคิดเห็น: