Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2008

ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2008

ตีพิมพ์ใน : สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เมื่อเร็วๆ นี้ Robert Gates รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุม Shangri - La Dialogue ที่สิงค์โปร์ และได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายทางทหารล่าสุดของสหรัฐฯต่อเอเชีย

สุนทรพจน์ของ Gates ในครั้งนี้ เมื่อเทียบกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา ถือว่าลดความก้าวร้าวลงไปมาก และพูดจาภาษาดอกไม้และภาษาการทูตมากขึ้น แต่ก็มีเป็นการพูดที่มีนัยยะสำคัญแฝงอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการตีความ

ผมมองว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯนั้น คงไม่เปลี่ยน โดยยุทธศาสตร์หลักคือ การครองความเป็นเจ้า ยุทธศาสตร์ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า hub & spoke ยุทธศาสตร์ดุมล้อ และซี่ล้อ โดยมีสหรัฐฯเป็นดุมล้อ และพันธมิตรเป็นซี่ล้อ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และยุทธศาสตร์การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ดูจากสุนทรพจน์ สหรัฐฯกำลังมียุทธศาสตร์ลดการเผชิญหน้ากับจีน ลดความสำคัญกับยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และลดความสำคัญกับยุทธศาสตร์สงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ยังคงเน้นยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า

สุนทรพจน์ของ Gates เน้น 4 เรื่องสำคัญด้วยกัน ซึ่งผมจะแยกออกเป็นหัวข้อ ดังนี้

การคงบทบาทของสหรัฐฯในภูมิภาค

ในสุนทรพจน์ของ Gates ได้กล่าวนำว่า มีบางคนในเอเชีย อาจจะเป็นห่วงว่า สหรัฐฯ
อาจจะให้ความสำคัญกับตะวันออกกลางมากกว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ Gates ก็ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง โดยเขากลับกล่าวว่า สหรัฐฯ ขณะนี้ เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาค เป็นอย่างมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยบอกว่า ตัวเขาเอง ครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางมาเอเชียเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 18 เดือน ซึ่งถือว่า มาบ่อยมาก

Gates ได้ตอกย้ำว่า สหรัฐฯนั้น คือประเทศในแปซิฟิค ซึ่งเขาใช้คำว่า “Pacific nation” ซึ่งแน่นอนว่า สหรัฐฯก็จะมีบทบาทที่มั่นคงถาวรในเอเชีย สหรัฐฯสนับสนุนการผงาดขึ้นมาของเอเชีย และกล่าวในเชิงพูดเป็นบุญคุณว่า การผงาดขึ้นมาของเอเชียได้นั้นก็เพราะ การที่สหรัฐฯคงบทบาทในภูมิภาค โดย Gates บอกว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯได้มีบทบาทอย่างมากในการสร้างความมั่นคงในภูมิภาค และในปัจจุบัน ก็เหมือนในอดีต นั่นคือ ความมั่นคงของทุกประเทศในเอเชีย จะเพิ่มมากขึ้น จากการที่สหรัฐฯมีบทบาทที่เข้มแข็งในภูมิภาค

Gates ได้ตอกย้ำความสำคัญของพันธมิตรหลัก ๆ ของสหรัฐฯในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย ซึ่ง Gates ให้ความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ กับไทย นอกจากนี้ Gates ยังบอกว่า ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับหุ้นส่วนและมิตรประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกำลังกลายเป็น เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ได้รวมเอาทั้งอินเดีย และจีนเข้ามาด้วย

Gates ได้กล่าวว่า สหรัฐฯนั้น เป็น “resident power” ซึ่งหมายความว่า สหรัฐฯกำลังจะบอกว่า สหรัฐฯนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค เพราะสหรัฐฯมีดินแดนอยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิค ตั้งแต่หมู่เกาะ Aleutian จนมาถึงเกาะกวม ดังนั้น การที่ Gates พยายามตอกย้ำว่า สหรัฐฯเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค ก็จะนำไปสู่การอ้างความชอบธรรมที่ว่า สหรัฐฯจะต้องไม่ถูกกีดกันออกไปจากการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชีย ซึ่งขณะนี้ สหรัฐฯกำลังหวาดระแวงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า อิทธิพลในภูมิภาคของตนกำลังจะลดลง และกำลังจะถูกกีดกันออกไป จากการที่ประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน + 3 (อาเซียน + จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) กำลังมีแผนการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ

Gates ได้ตอกย้ำและได้ให้ความมั่นใจว่า เนื่องด้วยผลประโยชน์ของสหรัฐฯ สหรัฐฯจะไม่เพียงแต่จะคงอยู่และปฏิสัมพันธ์กับเอเชีย แต่กลับจะเพิ่มบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วยซ้ำ

หลักการ การเปิดกว้าง และความโปร่งใส

ประเด็นที่ 2 ที่ Gates ได้เน้นในสุนทรพจน์คือ สหรัฐฯสนับสนุนหลักการ การเปิดกว้าง
(openness) และต่อต้านหลักการการกีดกัน (exclusivity) ตรงนี้ผมมองว่า Gates ต้องการเน้น 2 เรื่อง เรื่องการเปิดกว้างนั้น เป็นการโจมตีจีนทางอ้อม โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการสร้างเสริมกำลังทางทหารของจีน ส่วนเรื่องที่ 2 การต่อต้านการกีดกันนั้น คือ การตอกย้ำการที่สหรัฐฯจะไม่ยอมถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มเอเชียตะวันออก

Gates ได้กล่าวโจมตีจีนทางอ้อมว่า สหรัฐนั้นต้องการการเปิดกว้างและความโปร่งใสในการพัฒนาสมรรถนะภาพทางทหารในภูมิภาค แต่การกล่าวของ Gates ก็เป็นการพูดทางอ้อมเท่านั้น โดยไม่มีการพูดถึงจีนโดยตรง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯกำลังปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเผชิญหน้ากับจีนในช่วงนี้ ผิดกับในช่วงของ Donald Rumsfeld รัฐมนตรีกลาโหมคนก่อน ในคราวที่มากล่าวสุนทรพจน์ที่ Shangri - La Dialogue ได้กล่าวโจมตีจีนอย่างรุนแรงหลายครั้ง

แนวโน้มดังกล่าว ผมมองว่า น่าจะเป็นผลมาจากแนวโน้มใหญ่ของนโยบายต่างประเทศในช่วงปลายรัฐบาล Bush 2 ที่ต้องการลดอุณหภูมิ ความร้อนแรงทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งในช่วง Bush 1 ได้ดำเนินนโยบายสายเหยี่ยว ทำให้ทั่วโลกปั่นป่วนไปหมด โดยเฉพาะการบุกยึดครองอิรัก

สถาปัตยกรรมความมั่นคงใหม่

ประเด็นที่ 3 ที่ Gates เน้น คือ แนวโน้มของการเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมความมั่นคงใหม่
(New Security Architecture) ของเอเชีย โดย Gates บอกว่า ขณะนี้ กำลังมีการพูดกันถึงสถาบันความมั่นคงใหม่ของเอเชีย ซึ่งสหรัฐฯก็สนใจการพัฒนาสถาบันในภูมิภาค แต่จุดที่ Gates เน้นคือ สหรัฐฯตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในวิวัฒนาการของสถาบันดังกล่าว ผมตีความว่า หมายถึง พัฒนาการของสถาบันเอเชีย ต้องไม่กีดกันสหรัฐฯนั่นเอง

แต่ Gates ก็สรุปว่า ถึงแม้การพัฒนาสถาบันจะน่าสนใจ แต่โครงสร้างที่สำคัญที่สุดก็คือ
กรอบความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับประเทศต่างๆ ซึ่งผมมองว่า คือการตอกย้ำความสำคัญของระบบ hub & spoke ของสหรัฐฯนั่นเอง

นอกจากนี้ Gates ยังย้ำว่า การพัฒนาสถาบันความมั่นคงในภูมิภาค จะต้องไม่เป็นลักษณะของเกมที่จะมีผู้แพ้และผู้ชนะ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า zero-sum game และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ Gates ย้ำประเด็นที่ขณะนี้อเมริกากำลังกลัวมาก นั่นคือการถูกกีดกัน โดยกล่าวว่า จุดเด่นของความร่วมมือทางด้านความมั่นคงของเอเชียในขณะนี้ คือ การไม่กีดกันประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น การพัฒนาสถาบันความมั่นคงของภูมิภาค จะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อ มองภูมิภาคว่าเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยกหรือกีดกันใคร ดังนั้น การจัดตั้ง ระบบความมั่นคง “เอเชียตะวันออก” ที่แยกตัวออกไป (โดยไม่มีสหรัฐฯ) นั้น คงจะเป็นไปไม่ได้
ซึ่งผมมองว่า Gates กำลังพยายามที่จะตีกันและป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มของประเทศอาเซียน +3 และพยายามที่จะป้องกันไม่ให้มีการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะถ้าจะมีแต่อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เท่านั้น ซึ่งเท่ากับจะเป็นการกีดกันสหรัฐฯออกไป สหรัฐฯจะยอมไม่ได้เด็ดขาด ถึงแม้ Gates จะไม่ได้กล่าวถึงอาเซียน + 3 โดยตรง แต่ผมตีความว่า Gates คงจะมีเจตนาเช่นนั้น และถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็เท่ากับเป็นสิ่งบ่งชี้ เป็นคำพูดที่ออกมาจากผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของสหรัฐฯ คือระดับรัฐมนตรีกลาโหม ที่ทำให้เห็นถึงแนวโน้มของการต่อต้านอาเซียน+3 ของสหรัฐฯมากขึ้นทุกที

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในอนาคต

ประเด็นสุดท้ายที่ Gates พูดถึง คือ นโยบายของสหรัฐฯหลังจากมีรัฐบาลใหม่ ในช่วงต้นปี
หน้า โดย Gates ให้ความมั่นใจว่า นโยบายของรัฐบาลใหม่ จะยังคงสานต่อจากนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน โดยจะตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือ สหรัฐฯจะยังคงเป็นประเทศที่มีผลประโยชน์ที่สำคัญยิ่งในภูมิภาค ผลประโยชน์ดังกล่าวจะยังคงอยู่ ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม โดย Gates เน้นว่า นโยบายของรัฐบาลใหม่ จะยังคงยืนหยัดหลักการการเข้าถึงทางยุทธศาสตร์ (strategic access) เสรีภาพทางการค้า และการเดินเรือ และเสรีภาพจากการถูกครอบงำโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือกลุ่มประเทศ โดยสิ่งที่ Gates เน้นคือ นโยบายสหรัฐฯในอนาคต จะป้องกันไม่ให้มีเจ้าในภูมิภาคเกิดขึ้น

ตรงนี้ผมมองว่า ขณะนี้ สหรัฐฯก็คือเจ้าในภูมิภาค และสิ่งที่สหรัฐฯต้องการคือ การป้องกันไม่ให้ใครมาท้าทาย และแย่งตำแหน่งเจ้าในภูมิภาคไป โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งจะท้าทายสหรัฐฯเป็นอย่างมาก

ผมเห็นด้วยกับ Gates ที่ว่า รัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯไม่ว่าจะเป็นเดโมแครตหรือรีพับลิกัน ก็คงจะยึดยุทธศาสตร์หลักไม่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ในรายละเอียดแล้ว หากพรรคเดโมแครตเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายของ Obama น่าจะมีความแตกต่างจากนโยบายของ Bush โดยนโยบายของ Obama น่าจะลดมิติด้านการทหาร และน่าจะให้ความสำคัญกับมิติทางด้านเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการทูตและความร่วมมือระหว่างประเทศมากกว่ารัฐบาล Bush ที่มักจะเน้นการทหารและการเผชิญหน้า

ไม่มีความคิดเห็น: