Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วิกฤตพายุ Nagis

วิกฤตพายุ Nagis

ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

สถานการณ์

พายุไซโคลน Nagis ที่ได้พัดถล่มพม่าไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่คลื่นยักษ์ซึนามิพัดถล่มภูมิภาคนี้เมื่อปี 2004

สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น ตัวเลขยังไม่แน่นอน โดยรัฐบาลทหารพม่าคงไม่ต้องการให้ตัวเลขมากจนน่ากลัว โดยพยายามบอกว่า ผู้เสียชีวิตมีประมาณ 2 หมื่นกว่าคนเท่านั้น และมีผู้สูญหายประมาณ 3 หมื่นกว่าคน รวมแล้วถ้ายึดตัวเลขของรัฐบาลทหารพม่า ก็คงจะเสียชีวิตประมาณ 6 หมื่นคน แต่จากการประเมินของฝ่ายต่างๆ น่าจะมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคน

สำหรับชาวพม่าที่กำลังประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องขาดแคลนอาหาร น้ำ ยารักษาโรคและกำลังเริ่มมีโรคระบาด ซึ่งจำนวนผู้ที่อยู่ในขั้นเสี่ยง ขณะนี้มีถึง 2 ล้านคน แต่ความช่วยเหลือขณะนี้ที่เข้าไปได้ ก็เข้าถึงได้เพียงประมาณ 2 แสนคนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะมีปัญหาอย่างมากในความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือ ทั้งจากรัฐบาลพม่า และจากการที่รัฐบาลพม่ากีดกันไม่ให้นานาชาติส่งความช่วยเหลือเข้าไป

อุปสรรคความช่วยเหลือ

ถ้าจะวิเคราะห์ดู น่าจะมีอุปสรรคใหญ่ๆ ที่ทำให้ความช่วยเหลือล่าช้ามาก ดังนี้

โครงสร้างพื้นฐานของพม่าล้าหลังมาก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สนามบิน จึงทำให้ไม่สามารถส่งความช่วยเหลือไปได้ทัน

แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความช่วยเหลือล่าช้ามากน่าจะมาจากตัวรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเอง ที่มีความหวาดระแวงเป็นอย่างมาก ต่อความมั่นคงของระบอบเผด็จการของตน จึงไม่ยอมที่จะให้ต่างชาติเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

รัฐบาลพม่าได้ประสบความล้มเหลวอย่างมากในการที่จะเตือนให้ชาวพม่ารู้ล่วงหน้าก่อนที่พายุจะพัดเข้าถล่มทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมหาศาล

นอกจากนี้ รัฐบาลพม่ายังกลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าจะให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยรัฐบาลทหารหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการลดกระแสความกดดันจากนานาชาติ และจะทำให้ระบอบเผด็จการของตนอยู่ต่อไปได้

รัฐบาลพม่าประกาศมาโดยตลอดตั้งแต่เกิดภัยพิบัติ ว่าจะไม่ยอมให้รัฐบาลต่างชาติและองค์กรต่างชาติเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่ก็มียกเว้นประเทศที่ญาติดีกับพม่า และไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์พม่า นั่นคือ อินเดีย จีน และไทย ที่พม่ายอมให้ส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้ แต่สำหรับประเทศตะวันตก ในตอนแรกรัฐบาลทหารก็ยืนกรานไม่ยอมรับความช่วยเหลือ

อาจจะเป็นไปได้ว่า รัฐบาลทหารพม่าต้องการที่จะให้ผ่านวันลงประชามติ คือวันที่ 10 พฤษภาคม โดยไม่ต้องการให้ชาติตะวันตกเข้ามาวุ่นวายกับการลงประชามติ

ต่อมา รัฐบาลพม่าได้ประกาศว่า จะยอมรับความช่วยเหลือ แต่จะไม่ยอมรับเจ้าหน้าที่ของต่างชาติหรือ องค์กรต่าง ๆ โดยเน้นว่า ความช่วยเหลือเหล่านั้นจะดำเนินการแจกจ่ายโดยพม่าทำเอง แต่ปัญหาสำคัญคือ ฝ่ายพม่าเองก็ไม่มีคนและเครื่องมือเพียงพอที่จะแจกจ่ายความช่วยเหลือ
หลายๆ ประเทศและหลายๆ องค์กรต้องรอทำวีซ่า และได้รับวีซ่าน้อยมาก ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ของ World Food Program หรือ WFP ขอวีซ่าไป 16 คนแต่ได้วีซ่าเพียง 1 คน

รัฐบาลทหารพม่าคงจะมีความกลัวเป็นอย่างมาก ต่ออิทธิพลของต่างชาติ ที่จะเข้ามาทำให้ระบอบเผด็จการของตนสั่นคลอน

ความช่วยเหลือจากประชาคมโลก

อย่างไรก็ตาม ประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ และประเทศต่างๆ ก็กดดันพม่าอย่างต่อเนื่อง ที่จะให้ยินยอมรับความช่วยเหลือ

ในกรอบของ UN นั้น ทางฝรั่งเศสได้เสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาว่า ในกรณีของพม่า ถือเป็นกรณีวิกฤต และจะเอาหลักการที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบในการปกป้อง” หรือ responsibility to protect ซึ่งเป็นหลักการที่ตกลงกันในที่ประชุมสุดยอด UN ในปี 2005 โดยหลักการนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า หากรัฐบาลใดล้มเหลว และก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง หรือมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประชาคมโลกก็มีความรับผิดชอบ ที่ต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อหลักการมนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ฝรั่งเศสเสนอ ปรากฏว่า ประเทศที่เป็นพันธมิตรกับพม่าก็ออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะ จีน รัสเซีย และเวียดนาม ออกมาค้านว่า ประเด็นเรื่องภัยพิบัติในพม่านั้น ไม่ถือเป็นประเด็นทางด้านความมั่นคง จึงไม่เข้าข่ายที่คณะมนตรีความมั่นคงจะพิจารณา

อย่างไรก็ตาม หลังจากถูกกดดันอย่างหนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าก็เริ่มอนุญาตให้องค์กร UN บินเข้าไปเพื่อแจกจ่ายความช่วยเหลือ โดยมีเครื่องบินจาก WFP 3 ลำ และ UNHCR ได้ส่งความช่วยเหลือทางรถยนต์ โดยผ่านเข้าไปทางพรมแดนไทย-พม่า สำหรับ UNICEF ได้ส่งอุปกรณ์บำบัดน้ำเสียเข้าไป แต่ว่ายังติดค้างอยู่ที่สนามบินในกรุงย่างกุ้ง

สำหรับในกรณีของสหรัฐฯนั้น ในตอนคลื่นยักษ์ซึนามิเมื่อปี 2004 สหรัฐมีบทบาทอย่างสำคัญโดยการส่งกองทัพเรือเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของพม่าในคราวนี้ สหรัฐฯกลับไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใด ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะ สหรัฐฯนั้นคือศัตรูสำคัญของพม่า และสหรัฐฯก็ดำเนินนโยบายคว่ำบาตรเล่นงานพม่ามาโดยตลอด พม่าจึงไม่ยินยอมที่จะให้กองกำลังทหารสหรัฐฯเข้ามาวุ่นวายในกรณีนี้

ทางฝ่ายสหรัฐฯเองก็หงุดหงิดจนถึงขั้นว่า ตัวแทนองค์กรให้ความช่วยเหลือ คือ USAID ถึงกับบอกว่า สหรัฐฯไม่ต้องสนใจ ให้ส่งเครื่องบินเข้าไปเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือชาวพม่าแม้ว่ารัฐบาลพม่าจะไม่ยินยอมก็ตาม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบุชก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะมองว่าจะเป็นการเผชิญหน้าเกินไป รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯคือ Robert Gates บอกว่าคงจะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐบาลพม่า

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม รัฐบาลสหรัฐฯพยายามประนีประนอมเพื่อที่จะให้พม่ายอมเปลี่ยนใจ โดยไม่กล่าวโจมตีในเรื่องการลงประชามติ เพียงแต่บอกว่า รัฐบาลพม่าน่าจะให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนมากกว่า และรัฐบาลสหรัฐฯได้พยายามล็อบบี้อย่างหนัก ทั้งกับทางฝ่าย จีน อินเดีย และไทย เพื่อที่จะให้ไปพูดกับฝ่ายพม่า

และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในที่สุดฝ่ายพม่าก็เปลี่ยนใจ ยินยอมให้สหรัฐฯส่งเครื่องบิน C 130 ลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปเป็นลำแรก

สำหรับชาติตะวันตกอื่นๆ ก็ได้ออกมาประณามรัฐบาลพม่าอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี คือ Angela Merkel ได้ออกมาบอกว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เช่นเดียวกับผู้นำฝรั่งเศสคือนาย Sarkozy ได้ออกมาประณามรัฐบาลพม่า และบอกว่าฝรั่งเศสกำลังส่งเรือบรรทุกความช่วยเหลือ 1,500 ตันไปยังพม่า และออสเตรเลียเองได้เพิ่มการให้ความช่วยเหลือพม่าเป็นเงินกว่า 23 ล้านเหรียญ สำหรับจีน เป็นชาติแรกๆที่ให้ความช่วยเหลือพม่า และขณะเดียวกัน จีนก็ได้กระตุ้นให้พม่ายอมรับความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก

นอกจากนี้ ยังมีองค์กร NGO ต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะสภากาชาดสากล ได้ส่งเครื่องบินเข้าไปในพม่าแล้ว 9 ลำ และองค์กร Medecins sans Frontiere ได้ส่งเครื่องบินลำเลียงอาหารจากยุโรปมา 3 ลำ

สรุปได้ว่า แนวโน้มขณะนี้ รัฐบาลพม่ากำลังเปิดรับความช่วยเหลือมากขึ้น ผมก็หวังว่าความช่วยเหลือเหล่านี้ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ น่าจะเข้าไปช่วยเหลือชาวพม่าที่กำลังลำบากอยู่เกือบ 2 ล้านคนได้ทัน


ไม่มีความคิดเห็น: