Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

10 ปี สงครามอัฟกานิสถาน

10 ปี สงครามอัฟกานิสถาน

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 – วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2554

ในเดือนตุลาคม ปีนี้ จะครบ 10 ปี ของสงครามอัฟกานิสถาน ที่เริ่มด้วยการที่สหรัฐฯ ทำสงครามบุกยึดอัฟกานิสถาน ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 2001 คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์สงครามอัฟกานิสถาน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน และวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต ดังนี้

สงคราม 10 ปี

หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 รัฐบาล Bush ได้ระบุว่า การโจมตีสหรัฐฯในเหตุการณ์ 11 กันยาฯ นั้น เป็นฝีมือของ al-Qaeda มีผู้นำ คือ Bin Laden ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในอัฟกานิสถาน รัฐบาลอัฟกานิสถาน ในขณะนั้น คือ รัฐบาล Taliban ซึ่งมีอุดมการณ์มุสลิมหัวรุนแรง จึงสนับสนุน al-Qaeda อย่างเต็มที่ ดังนั้น หลังจากรัฐบาล Bush ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สิ่งแรกที่ทำ คือ การบุกยึดอัฟกานิสถาน เพื่อโค่นรัฐบาล Taliban และกำจัด al-Qaeda และ Bin Laden

ในเดือนตุลาคม ปี 2001 สหรัฐฯได้เปิดฉากทำสงครามบุกอัฟกานิสถาน ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถบุกยึดกรุง Kabul และโค่นรัฐบาล Taliban ลงได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สหรัฐฯยึดได้ คือ เมืองเปล่า ผู้นำและนักรบ Taliban ได้หนีกระจัดกระจายไปหมด รวมทั้งกลุ่ม al-Qaeda และ Bin Laden ก็อันตรธานหายไปด้วย

หลังจากนั้น อัฟกานิสถานสงบอยู่ได้ไม่นาน นักรบ Taliban และ Bin Laden ก็ฟื้นคืนชีพ โดยมีแหล่งซ่องสุมใหม่อยู่บริเวณพรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถาน และได้ทำสงครามกองโจร ต่อสู้กับกองกำลังนาโต้ สถานการณ์สงครามก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ Taliban ได้ยึดครองพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในสมัยรัฐบาล Obama สหรัฐฯตัดสินใจเพิ่มกองกำลังทหารเข้าไป เพื่อที่จะเอาชนะ Taliban ให้ได้ แต่ก็ล้มเหลว ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ จะทำให้ Taliban อ่อนแอลง และทำให้กองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถาน นำโดย Karzai เข้มแข็งขึ้น ซึ่งในที่สุด จะช่วยเหลือตัวเองได้ และสหรัฐฯจะได้ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานได้ แต่ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ Taliban กลับเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กองกำลังของ Karzai ก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ ก็เกิดความแตกแยกในพันธมิตรนาโต้ หลายประเทศต้องการถอนทหารออกไป

ในปัจจุบัน สถานการณ์ด้านการทหารและการเมืองของอัฟกานิสถาน ได้ทรุดหนักลงเป็นอย่างมาก ชาวอัฟกานิสถานส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนรัฐบาล Karzai และไม่พอใจเป็นอย่างมากที่รัฐบาล Karzai ไม่สามารถสร้างความสงบให้เกิดขึ้นได้ แต่กลับมีชาวอัฟกานิสถานจำนวนไม่น้อย ที่สนับสนุน Taliban ซึ่งพยายามโน้มน้าวให้ชาวอัฟกานิสถานเชื่อว่า สงครามครั้งนี้เป็นสงครามชาติ ที่ Taliban กำลังต่อสู้กับฝ่ายรุกราน คือ สหรัฐฯและนาโต้

นอกจากนี้ กองกำลังทหารของ Karzai ซึ่งเรียกว่า Afghan National Army หรือ ANA ก็อ่อนแอ มีความเปราะบางและความขัดแย้งในกองทัพ โดยความขัดแย้งที่ร้าวลึก คือ ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ หรือเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาในอัฟกานิสถานมาตั้งแต่อดีต นักรบ Taliban เป็นชนเผ่า Pashtuns ส่วนฝ่ายต่อต้าน Taliban เป็นชนเผ่าหลายเผ่าพันธุ์ทางเหนือของประเทศ คือ ชนเผ่า Tajiks และ Uzbeks ก่อนสงครามปี 2001 ก่อนที่สหรัฐฯจะไปบุกยึดอัฟกานิสถานนั้น ก็มีสงครามชาติพันธุ์อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว คือเป็นสงครามระหว่างรัฐบาล Taliban ชนเผ่า Pashtuns กับพันธมิตรฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นชนเผ่า Tajiks และ Uzbeks เมื่อรัฐบาล Taliban ถูกโค่นอำนาจลง ชนเผ่า Pashtuns ก็ไม่มีบทบาทในรัฐบาลและในกองทัพ ซึ่งถูกครอบงำโดยชนเผ่าอื่น โดยผู้นำทางทหารของกองทัพอัฟกานิสถานในขณะนี้ เป็นชนเผ่า Tajiks และ Uzbeks เกือบทั้งหมด ความแตกแยกในกองทัพจึงพร้อมจะเกิดได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐฯถอนทหารออกไป

ส่วนยุทธศาสตร์ของ Taliban ในขณะนี้ คือ เวลาเป็นของฝ่ายตน ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเปิดฉากปฏิบัติการทางทหาร ยุทธศาสตร์หลัก คือ การรอ ปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯประกาศจะถอนทหารออกไป ขณะนี้ ก็เพียงแต่บั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาล Karzai ไปเรื่อยๆ
สำหรับสถานการณ์การสู้รบในต่างๆของอัฟกานิสถานนั้น ทางภาคใต้ สหรัฐฯได้เพิ่มกองกำลังทหารเข้าไป ทำให้ Taliban ต้องหยุดการรุกคืบ แต่สหรัฐฯก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะ Taliban ได้ สำหรับทางภาคตะวันออก ความรุนแรงได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ Taliban สามารถยึดพื้นที่คืนจากกองกำลังนาโต้ได้ และสำหรับทางภาคเหนือ Taliban ได้ปลุกระดมชนเผ่า Pashtuns ทางเหนือ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับฝ่าย Tajiks ให้มาร่วมรบกับฝ่ายตนได้มากขึ้นเรื่อยๆ

แนวโน้มสงครามในอนาคต

ปี 2014 จะเป็นปีชี้ชะตาของสงครามอัฟกานิสถาน เพราะเป็นปีที่สหรัฐฯประกาศจะถอนทหารออกไป และมีแนวโน้มว่า เงินให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาล Karzai ก็จะลดลงไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ดังนั้น แนวโน้มในอนาคต สำหรับสงครามในอัฟกานิสถาน จึงค่อนข้างจะมืดมน โดยมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเกิดสงครามกลางเมือง อย่างที่เคยเกิด ในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ Taliban จะยึดกุมอำนาจรัฐไว้ได้

ความเป็นไปได้อีกทาง หลังปี 2014 คือ อาจจะมีการทำรัฐประหารโดยกองทัพ นำโดยชนเผ่า Tajiks ซึ่งอาจเข้ายึดอำนาจรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง

สำหรับความเป็นไปได้อีกทาง คือ การเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับ Taliban อย่างไรก็ตาม หากมีการเจรจาจริง ท่าทีของ Taliban ก็คงจะไม่มีการอ่อนข้อให้กับสหรัฐฯ โดยสิ่งที่ Taliban ต้องการ คือ อำนาจรัฐ โดยหาก Taliban ยอมประนีประนอมกับรัฐบาล Karzai และยอม share อำนาจกับรัฐบาล Karzai ก็จะทำให้ Taliban เสีย credit ในสายตาของนักรบ Taliban และประชาชน ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของ Taliban คือ อาจจะยอมเจรจา แต่จะไม่ยอมอ่อนข้อใดๆทั้งสิ้น โดยจะใช้วิธีเตะถ่วง รอเวลาให้ถึงปี 2014 เท่านั้นเอง

จากการวิเคราะห์แนวโน้มข้างต้น ทำให้เห็นว่า อนาคตของสงครามอัฟกานิสถาน ดูจะยืดเยื้อและดูไม่มีทางออก นอกจากชัยชนะของ Taliban ซึ่งในที่สุด หาก Taliban สามารถยึดกุมอำนาจรัฐ และกลับมาเป็นรัฐบาลได้ ก็จะเป็นการประกาศชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของฝ่ายมุสลิมหัวรุนแรง ที่มีชัยชนะต่ออภิมหาอำนาจสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก

1 ความคิดเห็น:

Cometrue กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ

เขียนให้อ่านเข้าใจง่ายมาก ใช้ภาษาง่าย ๆ ดีครับ