วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 3)
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2554
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ 2 ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์วิกฤต Eurozone ไปบ้างแล้ว ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงพัฒนาการของวิกฤต และแผนการกอบกู้วิกฤตล่าสุด รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ดังนี้
วิกฤต Eurozone
วิกฤตหนี้ของยุโรป โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้เงินยูโร ที่เรียกว่า Eurozone นั้น เป็นปัญหาเข้าขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ โดยในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบปัญหาหนี้สิน ได้แก่ กรีซไอร์แลนด์ และโปรตุเกส แต่ที่หนักที่สุด คือ กรีซ ซึ่งประสบปัญหาหนี้ครั้งใหญ่ จนอาจถึงขั้นล้มละลาย แม้ว่า EU และ IMF จะปล่อยเงินกู้เป็นเงินกว่า 150,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นเงินกู้งวดแรกให้กรีซไปแล้ว แต่สถานการณ์กลับทรุดหนักลง ทำให้หลายฝ่ายกลัวว่า กรีซกำลังจะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ และล้มละลายในที่สุด ต่อมา สถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน และอาจรวมถึงฝรั่งเศสด้วย โดยทั้ง 3 ประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤตหนี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าธนาคารกลางยุโรปจะได้ประกาศซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีและสเปนแล้ว แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น
ต่อมา เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ความวิตกกังวลว่า กรีซจะล้มละลายก็ผ่อนคลายไปได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ เพราะหลังจากตัวแทนของ IMF EU และธนาคารกลางยุโรป ที่เรียกว่า Troika ได้ออกมาประกาศว่า จะมีการปล่อยเงินกู้งวดที่ 2 ให้กรีซ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน
แถลงการณ์ดังกล่าว ทำให้ตลาดการเงินผ่อนคลายความกังวลไปได้ระดับหนึ่งว่า กรีซจะล้มละลาย หลังจากที่สถานการณ์อึมครึมมาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะที่มีข่าวออกมาว่า รัฐมนตรีคลังของ EU จะเลื่อนการตัดสินใจในการอนุมัติเงินกู้งวด 2 ให้กับกรีซ สำหรับเงินกู้งวด 2 นี้สำคัญมากสำหรับกรีซ เพราะหากไม่ได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว ก็จะผิดนัดชำระหนี้อย่างแน่นอน
บทบาทของ G20
และเมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีความคืบหน้าล่าสุดในการกอบกู้วิกฤต Eurozone โดยมีการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G20 ที่กรุงปารีส ในแถลงการณ์ผลการประชุม มีสาระสำคัญของมาตรการกอบกู้วิกฤต Eurozone ดังนี้
• ที่ประชุมได้ประกาศว่า มีความคืบหน้าในเรื่องมาตรการกอบกู้วิกฤต หลังจากได้มีการหารือกันเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในระหว่างการประชุมประจำปีของ IMF
• ที่ประชุมแสดงความยินดีที่ประเทศสมาชิก Eurozone ได้มีฉันทามติร่วมกันที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุน European Financial Stability Facility (EFSF) ซึ่งในปัจจุบันมีเงินอยู่ในกองทุนประมาณ 440,000 ล้านยูโร โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านยูโร ที่ประชุมคาดหวังว่า EFSF จะสามารถป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามบานปลายออกไป
• ที่ประชุมคาดว่า European Council ซึ่งจะประชุมกันในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ จะสามารถตกลงกันถึงแผนการกอบกู้วิกฤตที่มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ
• ที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ในครั้งนี้ เป็นการประชุมเตรียมการและจัดทำแผนกอบกู้วิกฤต Eurozone เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอด G20 ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
• ที่ประชุมจะทำทุกวิถีทาง ที่จะรักษาเสถียรภาพของระบบธนาคารและตลาดการเงิน และจะทำให้ธนาคารต่างๆมีเงินทุนพอที่จะทำธุรกรรมต่อไปได้
• G20 จะดำเนินมาตรการที่จะทำให้ระบบการเงินโลกมีเสถียรภาพ จัดการกับการไหลเวียนของเงินทุน พัฒนาตลาดพันธบัตร และปรับปรุงบทบาทของ IMF โดยเพิ่มความร่วมมือระหว่าง IMF กับกลไกการเงินในระดับภูมิภาค และให้ IMF หาวิถีทางใหม่ๆเพื่อช่วยเหลือประเทศที่เผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง และจะทำให้ IMF มีทรัพยากรหรือเงินทุนเพียงพอ รวมทั้งจะมีการปฏิรูปการบริหารจัดการของ IMF ด้วย
กล่าวโดยสรุป แผนการกอบกู้วิกฤต Eurozone ของ G20 ที่กรุงปารีสนั้น มี 3 มาตรการ
หลัก มาตรการแรก ได้แก่ การยกเลิกหนี้ของกรีซ ซึ่งประมาณการว่า จะยกเลิกหนี้ประมาณ 50% หรือมากกว่านั้น มาตรการที่ 2 คือ การเพิ่มเงินให้กับ EFSF และมาตรการที่ 3 คือ การระดมเงินทุนให้แก่ธนาคารที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง
ภายหลังการประชุม G20 รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส Francois Baroin ได้ออกมากล่าวว่า การ
ประชุมสุดยอดของ EU ในช่วยปลายเดือนตุลาคมนี้ ที่กรุงบรัสเซลส์ จะตกลงกันถึงมาตรการที่จะกอบกู้วิกฤต Eurozone
และผู้อำนวยการ IMF Christine Lagarde ได้กล่าวว่า ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ได้ทรุดหนักลง แทนที่จะดีขึ้น
ส่วนรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ Timothy Geithner กล่าวว่า สหรัฐฯต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการกอบกู้วิกฤต Eurozone ของเยอรมนีและฝรั่งเศส ที่ถือว่าเป็นผู้นำของ EU
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องจับตาดูกันต่อ ก็คือ การประชุมสุดยอด EU ในช่วงปลายเดือนนี้ และการประชุมสุดยอด G20 ที่ฝรั่งเศส ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนว่า จะมีมาตรการอะไรออกมาบ้าง
ผลกระทบต่อไทย
แต่ปัญหาที่สำคัญสำหรับคนไทย ก็คือ วิกฤต Eurozone ในครั้งนี้ จะกระทบต่อไทยมากน้อยเพียงใด ผมมองว่า มีความเป็นไปได้ หรือ scenario อยู่ 2 ทางด้วยกัน scenario แรก คือ วิกฤต Eurozone จะไม่ลุกลามบานปลาย และไม่กระทบต่อไทยมากนัก ส่วน scenario ที่ 2 วิกฤตอาจลุกลามบานปลาย จนทำให้ยุโรปประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ ซึ่งจะกระทบต่อไทยอย่างรุนแรง
• scenario ที่ 1
scenario นี้ มองว่า แม้ว่ากรีซจะผิดนัดชำระหนี้ แต่จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก โดยจะมีการ
ยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ซึ่งเรียกว่า มาตรการ hair cut ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากนัก และหาก EU IMF และ G20 สามารถผลักดันมาตรการต่างๆออกมาได้สำเร็จ ก็จะช่วยไม่ให้วิกฤตลุกลามบานปลาย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของวิกฤตที่จะมีต่อไทย
• scenario ที่ 2
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้อีกทาง โดยวิกฤต Eurozone อาจลุกลามบานปลาย จนอาจ
นำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ การล้มละลายของกรีซอาจแพร่ระบาดไปสู่ประเทศอื่น โดยเฉพาะโปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส ดังนั้น หากเกิดภาวะ domino effect อาจนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
Eurozone เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ดังนั้น หากวิกฤตลุกลามบานปลาย จะกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในปีหน้า เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางมาก เพราะต้องพึ่งพาการส่งออกซึ่งคิดเป็น 70% ของ GDP ไทย
สำหรับผลกระทบในด้านการลงทุนนั้น ยุโรปเป็นประเทศที่มาลงทุนเป็นอันดับต้นๆของไทย แต่หากวิกฤต Eurozone ลุกลามบานปลาย ยุโรปก็คงจะลดการลงทุนไนไทยลง รวมทั้งในตลาดหุ้น และตลาดการเงินด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น