Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

นโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ ปี 2011

นโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ ปี 2011

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 กันยายน – วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2554

เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา Robert Hormats รองปลัดกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งดูแลกิจการด้านเศรษฐกิจ ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ ในหัวข้อ “U.S. Economic Policy and the Asia-Pacific” ที่นคร Los Angeles คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

สภาวะแวดล้อม

ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Hormats ได้วิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันว่า กำลังมีการเปลี่ยนแปลงของอำนาจในระบบโลก โดยกำลังมีการเคลื่อนย้ายของอำนาจจากตะวันตกมาตะวันออก จากการใช้เครื่องมือทางทหารมาเป็นการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ และจากประเทศที่มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว ไปสู่ประเทศที่มีเงินทุนมหาศาล

ในสมัยสงครามเย็น ประเทศต่างๆเน้นการสร้างเสริมกำลังทางทหาร แต่ในต้นศตวรรษที่ 21 ประเทศต่างๆได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจแทน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการสะท้อนถึงระบบโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดยการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจ จะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯจึงกำลังประสบกับคู่แข่งในหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้น หลายประเทศก็จะเป็นทั้งหุ้นส่วนและคู่แข่งของสหรัฐฯในขณะเดียวกันด้วย

การเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกใหม่ คือ การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันและในอนาคต ประเทศเหล่านี้กำลังมีอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และอิทธิพลในสถาบันโลกก็เพิ่มขึ้น

นโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ

จากการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าว Hormats จึงพยายามจะตอบคำถาม 3 คำถามด้วยกัน คำถามแรก คือ สหรัฐฯควรจะมีนโยบายเศรษฐกิจโลกอย่างไร คำถามที่ 2 คือ ระบบเศรษฐกิจโลกควรจะมีกฎระเบียบและบรรทัดฐานอย่างไร และคำถามที่ 3 คือ จะพัฒนาโครงสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียได้อย่างไร

Hormats ได้ตอบคำถามแรก คือ นโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯจะเป็นอย่างไรนั้นว่า นโยบายควรจะเน้น 4 เรื่องใหญ่ด้วยกัน คือ การส่งเสริมการส่งออก การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมการลงทุน และการส่งเสริมสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ

ความสำเร็จของนโยบายดังกล่าว จะต้องอาศัยการที่สหรัฐฯจะต้องพัฒนากฎและสถาบันของเศรษฐกิจโลกให้สอดคล้องกับผลปะโยชน์ในระยะยาวของสหรัฐฯ

สำหรับในด้านการส่งเสริมการส่งออกนั้น ประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศยุทธศาสตร์หลัก คือ National Export Initiative โดยได้ตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มการส่งออกของสหรัฐฯ ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 5 ปี

สำหรับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญานั้น Hormats ได้เน้นว่า ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ว่า จะดำเนินนโยบายเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ในลักษณะเชิงรุกและแข็งกร้าว ดังนั้น การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาจากการละเมิดในรูปแบบต่างๆ จึงเป็นแกนกลางของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ระบบเศรษฐกิจโลก

องค์ประกอบที่สำคัญของนโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ คือ การจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก หรือระบบเศรษฐกิจโลก เพื่อพร้อมรับกับสิ่งที่ท้าทายในศตวรรษที่ 21 โดยสหรัฐฯเน้นสถาบันและบรรทัดฐานที่โปร่งใส และมีความเป็นธรรม ซึ่ง Hormats ได้กล่าวว่า ระบบดังกล่าว ไม่ต้องสร้างจากศูนย์ ทั้งนี้เพราะ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สหรัฐฯได้จัดระเบียบเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่ ที่เรียกว่า Bretton Woods System ซึ่งมีสถาบันหลัก คือ IMF ธนาคารโลก GATT OECD และธนาคารเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่กลายเป็นตัวแสดงที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก ดังนั้น นโยบายของสหรัฐฯ จะต้องส่งเสริมให้มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ มีความรับผิดชอบต่อระบบเศรษฐกิจโลก และสหรัฐจะต้องมีคามสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ โดยขณะนี้ มีหลายเวทีสำหรับการปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่ ในระดับพหุภาคี มี G20 เป็นกลไกหลัก สำหรับในระดับทวิภาคี สหรัฐฯก็มีเวทีหารือทวิภาคีกับมหาอำนาจใหม่ อาทิ Strategic and Economic Dialogue กับจีน U.S.-India Strategic Dialogue และ U.S.-Russian Bilateral Presidential Commission

นอกจากนี้ ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังเน้นการที่จะทำให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ สามารถต่อสู้แข่งขันกับคู่แข่งประเทศอื่นได้ บทพื้นฐานของกฎระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นธรรม ปัญหาสำคัญของสหรัฐฯ คือ มีหลายประเทศที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนภาคเอกชน ทำให้ภาคเอกชนของประเทศเหล่านี้ได้เปรียบภาคเอกชนของสหรัฐฯ ดังนั้น นโยบายของสหรัฐฯ คือ จะต้องทำให้การแข่งขันของภาคเอกชนเป็นธรรม
นโยบายต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค

ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ Hormats ได้เน้นความสำคัญของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคโดยได้อ้างถึงคำพูดของ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯว่า “อนาคตของสหรัฐฯได้ถูกผูกติดอยู่กับอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค” นโยบายของสหรัฐฯต่อภูมิภาคจะเน้น 2 เรื่องด้วยกัน คือ นโยบายต่อเอเปค และการผลักดัน FTA ตัวใหม่ ที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP
สำหรับเอเปคนั้น สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเอเปคมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประเทศคู่ค้า 15 อันดับแรกของสหรัฐฯ มีถึง 7 ประเทศที่เป็นสมาชิกเอเปค 60% ของการส่งออกของสหรัฐฯ ก็ส่งมาที่สมาชิกเอเปค สมาชิกเอเปคมีทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งรวมกันแล้ว มีขนาดเศรษฐกิจเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก และมีปริมาณการค้าคิดเป็น 44% ของปริมาณการค้าโลก

ปีนี้จะเป็นปีพิเศษ เพราะสหรัฐฯจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย ในเดือนพฤศจิกายน Hormats ได้เน้นว่า การประชุมสุดยอดเอเปคในปีนี้ สหรัฐฯต้องการส่งเสริมการบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค และขยายการค้าและการลงทุน
เรื่องสุดท้ายที่ Hormats พูดถึง คือ การผลักดัน FTA ในภูมิภาคตัวใหม่ คือ TPP สหรัฐฯเป็นแกนนำในการจัดตั้ง TPP ซึ่งขณะนี้ มี 9 ประเทศที่เป็นสมาชิก โดย TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง สหรัฐฯได้ตั้งเป้าว่า ในการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวายนั้น จะได้มีการบรรลุถึงข้อตกลงเกี่ยวกับ TPP

บทวิเคราะห์

จากนโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯที่ได้สรุปไปข้างต้น ผมมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ดังนี้

• สุนทรพจน์ที่กล่าวโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นไปตามที่คาดไว้ คือ จะมีลักษณะที่เป็นภาษาดอกไม้ แต่หัวใจสำคัญของนโยบายต่างประเทศ คือ นโยบายที่ไม่ได้ประกาศ สำคัญกว่านโยบายที่ประกาศ นโยบายที่ Hormats ไม่ได้ประกาศ คือ วาระซ่อนเร้น หรือยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐฯ ซึ่งผมมองว่า ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ คือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั่นเอง

• อีกเรื่องที่อยากวิเคราะห์ คือ เรื่องหลักๆที่เป็นนโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯนั้น อาทิ การส่งเสริมการส่งออก ทรัพย์สินทางปัญญา และระบบเศรษฐกิจโลกที่เป็นธรรมนั้น ก็เป็นเรื่องที่สหรัฐฯจะได้ประโยชน์ทั้งสิ้น มีคำที่สหรัฐฯชอบใช้อยู่เรื่อย คือคำว่า “ต้อง fair” หรือต้องเป็นธรรม ผมมองว่า ระบบที่เป็นธรรม ก็คือ ระบบที่สหรัฐฯจะได้เปรียบ ส่วนระบบที่ไม่เป็นธรรม ก็คือ ระบบที่สหรัฐฯจะเสียเปรียบนั่นเอง

• กล่าวโดยสรุป นโยบายเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯที่แท้จริงนั้น คือ สหรัฐฯจะดำเนินยุทธศาสตร์แบบหลายช่องทาง
ในระดับโลก สหรัฐฯจะเน้นการสร้างสถาบันและกฎระเบียบในระดับโลก เพื่อเอื้อประโยชน์
แก่สหรัฐฯ โดยเฉพาะการผลักดันการเจรจา WTO รอบโดฮา และการครอบงำสถาบันเศรษฐกิจโลก คือ IMF และธนาคารโลก สำหรับ G7 G8 และ G20 ก็เป็นกลไกสำคัญของสหรัฐฯ ในการครอบงำการจัดการระเบียบเศรษฐกิจโลก

สำหรับในระดับภูมิภาคเอเชีย สหรัฐฯจะเน้นเอเปค เพราะสหรัฐฯได้ครอบงำเอเปคมาโดยตลอด และในขณะนี้ ก็ได้ผลักดัน TPP เพื่อมาแข่งกับ FTA ของอาเซียน

นอกจากนี้ สหรัฐฯยังดำเนินนโยบายผ่านช่องทางทวิภาคี ซึ่งในสมัยรัฐบาล Bush ได้ให้ความสำคัญกับการเจรจา FTA ทวิภาคี อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาล Obama การเจรจา FTA ทวิภาคีได้ลดความสำคัญลง

1 ความคิดเห็น:

ตวงน้อย กล่าวว่า...

อาจารย์ค่ะ
หนูอยากทราบว่าการที่จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแซงหน้าสหรัฐและการเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีนในประเทศกำลังพัฒนาแทนที่ตน ปฎิกิริยาของสหรัฐจะเป็นอย่างไรและสหรัฐจะมีวิธีรับมือการผงาดขึ้นของจีนอย่างไรค่ะ
ขอบคุนค่ะ