Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ปี 2011 (ตอนจบ)

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ปี 2011 (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 – วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2554

ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์บทความของ Walter Lohman ชื่อ “Reinvigorating the US-Thailand Alliance” ใน website ของ Heritage Foundation ซึ่งเป็น think tank ที่มีอิทธิพลของสหรัฐฯ ไปบ้างแล้ว โดยได้วิเคราะห์พันธมิตรไทยกับสหรัฐฯ ในอดีตและปัจจุบัน และสิ่งท้าทาย ไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ ซึ่งจะเป็นตอนจบ ผมจะมาสรุปต่อในส่วนของข้อเสนอพันธมิตรไทยกับสหรัฐฯในอนาคต ของ Heritage Foundation และในตอนท้าย ผมจะนำเสนอบทวิเคราะห์ของผม ดังนี้

พันธมิตร ไทย – สหรัฐฯ : อนาคต

Heritage Foundation ได้เสนอรัฐบาลสหรัฐฯว่า ควรกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และรื้อฟื้นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยมีข้อเสนอหลักๆ ดังนี้

• ยกระดับความสัมพันธ์
ทั้ง 2 ประเทศ ควรเพิ่มการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงในกรอบทวิภาคี ที่ผ่านมา
ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศจะเจอกันในเวทีพหุภาคี คือ ในอาเซียน หรือในเอเปค ดังนั้น การยกระดับพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ จะเกิดขึ้นได้ ก็คือ จะต้องมีการเยือนไทยของผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดี Obama ยังไม่เคยเดินทางมาเยือนไทยเลย ทั้งๆที่ไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯในภูมิภาค และเป็น 1 ใน 5 พันธมิตรหลักของสหรัฐฯในเอเชีย

• เน้นผลประโยชน์ร่วมกัน
การรื้อฟื้นพันธมิตร ควรมุ่งไปที่ความร่วมมือที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การปกป้อง
การค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมประชาธิปไตย เสถียรภาพในภูมิภาค ความร่วมมือทางทหาร ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้น เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้อย่างมีความหมาย จึงควรยกระดับเวทีหารือทวิภาคีไทย-สหรัฐฯ คือ เวที US-Thailand Strategic Dialogue ซึ่งในปัจจุบัน เป็นเวทีหารือในระดับปลัดกระทรวง และระดับอธิบดี จึงควรยกระดับขึ้นเป็นระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และในปัจจุบัน มีการประชุม 2 ปี ครั้ง ก็ควรให้มีการประชุมปีละครั้ง

• ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง
หุ้นส่วนด้านความมั่นคงไทย-สหรัฐฯยังคงมีเสถียรภาพ ความร่วมมือในกรอบ Cobra Gold
การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง และการบังคับใช้กฎหมาย เป็นมาตรการที่ควรดำเนินการต่อ และควรขยายความร่วมมือให้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯควรเพิ่มการขายอาวุธให้กับไทย ทั้งนี้ เพื่อที่จะแข่งกับอิทธิพลของจีนที่กำลังขายอาวุธให้กับไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

• บทบาทของสถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯ
สถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯ เป็นสถานทูตสหรัฐฯที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
รัฐบาลสหรัฐฯควรเพิ่มบทบาทให้กับสถานทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯ โดยส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางการทูตของสหรัฐฯในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯ ควรมีบทบาทดูแลกรอบความร่วมมือต่างๆระหว่างสหรัฐฯกับภูมิภาค อาทิ Lower Mekong Initiative

• เพิ่มบทบาทการทูตภาคประชาชน
การที่จีนดำเนินการทูตภาคประชาชนในเชิงรุกต่อไทย ทำให้ไทยมองจีนในแง่บวกมากขึ้น
เรื่อยๆ ขณะเดียวกัน คนไทยก็มองสหรัฐฯในแง่ลบมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สหรัฐฯจะต้องรีบดำเนินยุทธศาสตร์การทูตภาคประชาชน โดยเพิ่มการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และกิจกรรมทางด้านมนุษยธรรม

• จับตามองความเคลื่อนไหวของจีน
Heritage Foundation เสนอต่อรัฐบาลสหรัฐฯว่า สหรัฐฯควรจะต้องติดตามเฝ้ามองบทบาท
และความเคลื่อนไหวของจีนในไทยอย่างใกล้ชิด ในทุกๆด้าน ทั้งทางด้านการทหาร ด้านเศรษฐกิจ และด้านการทูตภาคประชาชน

• ใช้ไทยเป็นช่องทางกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน
ไทยมีบทบาทนำในอาเซียนมาโดยตลอด สหรัฐฯจึงควรใช้ไทยเป็นช่องทางในการกระชับ
ความสัมพันธ์กับอาเซียน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และในเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย

• รื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ
การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งหยุดชะงักไปหลังรัฐประหาร ปี 2006 ก็ควรกลับมาเจรจา
กันต่อ โดยเฉพาะเมื่อทางฝ่ายรัฐบาลไทยพร้อม นอกจากนี้ สหรัฐฯควรชักชวนให้ไทยเข้าร่วมใน FTA ที่สหรัฐฯกำลังผลักดันในภูมิภาคอยู่ คือ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯจะต้องไม่ลืมว่า การค้าไทย-จีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศได้ทำ FTA กัน ดังนั้น สหรัฐฯจะต้องรีบเจรจา FTA กับไทย มิเช่นนั้น สหรัฐฯก็จะตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบจีน

บทวิเคราะห์

• บทความชิ้นนี้ ถือได้ว่า มีรายละเอียดและข้อมูลที่น่าสนใจมาก ทำให้เราเข้าใจนโยบาย
สหรัฐฯต่อไทยได้มากขึ้น Heritage Foundation เป็น think tank ที่มีอิทธิพลอย่างมากในสหรัฐฯ โดยจะมีความใกล้ชิดกับพรรครีพับริกันเป็นพิเศษ แม้ว่าจะไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล Obama ที่เป็นพรรคเดโมแครต แต่ข้อเสนอของ Heritage Foundation ก็จะมีอิทธิพลต่อสภาคองเกรส ซึ่งพรรครีพับริกันครองเสียงข้างมากอยู่ในขณะนี้

• ข้อสังเกตประการที่ 2 ของผม คือ เรื่อง China Factor เห็นได้ชัดจากงานเขียนชิ้นนี้ว่า
สหรัฐฯกำลังวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อการผงาดขึ้นมาของจีน และการขยายอิทธิพลของจีนเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสู่ประเทศไทย ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯต่อเอเชีย คือ การปิดล้อมจีนหรือการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน China Factor จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนการทูตของสหรัฐฯในภูมิภาค เห็นได้ชัดว่า งานเขียนชิ้นนี้ เปรียบเทียบความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ กับความสัมพันธ์ไทย-จีนอยู่บ่อยครั้ง และข้อเสนอหลักๆเกือบทั้งหมดก็มุ่งเป้าไปที่การแข่งกับอิทธิพลของจีนในไทย

• ในส่วนที่เป็นข้อเสนอแนะนั้น มีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายเรื่อง ซึ่งโดยรวมแล้ว ผมมอง
ว่า ถ้าหากรัฐบาล Obama คล้อยตามข้อเสนอเหล่านี้ และปรับนโยบายต่อไทย และรื้อฟื้นพันธมิตรกับไทยตามข้อเสนอเหล่านั้น ไทยก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ซึ่งประเด็นข้อเสนอหลักๆ ผมก็เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ การเสนอให้ Obama มาเยือนไทย การยกระดับ US-Thailand Strategic Dialogue การใช้ไทยเป็นช่องทางเข้าสู่อาเซียน และการรื้อฟื้น FTA ไทย-สหรัฐฯ เป็นต้น

• อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ ก็คือ ความขัดแย้ง
และความวุ่นวายทางการเมืองของไทย ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงในอนาคต
และอีกปัจจัยที่เป็นอุปสรรคที่ผมมอง คือ การที่สหรัฐฯมียุทธศาสตร์ต่อ
ภูมิภาคที่ต่างไปจากอดีต ที่เคยเน้นระบบ hub and spokes เน้นพันธมิตรหลัก 5 ประเทศ แต่ในขณะนี้ สหรัฐฯได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการขยายกรอบพหุภาคีมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีการขยายพันธมิตรออกไป จากเดิมที่มีแค่ 5 ประเทศ แต่ในขณะนี้ สหรัฐฯต้องการใกล้ชิดกับอีกหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะ อินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯมีตัวเลือกมากขึ้น ไทยจะมีความสำคัญต่อสหรัฐฯน้อยลง ในขณะที่ อินโดนีเซียและเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญต่อสหรัฐฯมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น สถานะของไทย ก็ตกต่ำลงอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศและเวทีอาเซียน
ทำให้การเป็นพันธมิตรของไทยในสายตาสหรัฐฯ ลดความสำคัญลง ไทยกลายเป็นพันธมิตรที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่สามารถเป็นผู้นำอาเซียนได้ และไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นได้ สหรัฐฯจึงมีแนวโน้มที่จะไปหาประเทศอื่นที่มีสถานะดีกว่าไทย

ไม่มีความคิดเห็น: