Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน ปี 2011

ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน ปี 2011

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 7 – วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2554

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน โดยรัฐบาลสหรัฐฯได้เปิดเผยแผนของอิหร่านในการสังหารทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว ดังนี้

แผนลอบสังหาร

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว อัยการสูงสุดของสหรัฐฯ Eric Holder และผู้อำนวยการ FBI Robert Mueller ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงแผนการลอบสังหารทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐฯ รวมทั้งแผนการก่อวินาศกรรมระเบิดสถานทูตซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลในกรุงวอชิงตัน ดี ซี โดยแผนดังกล่าวมีชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯร่วมกับแก๊งยาเสพติดจากเม็กซิโก เป็นผู้ลงมือ

ซึ่งจากข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯระบุว่า แผนดังกล่าว ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ องค์กร Quds Force ของรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งเป็นองค์กรที่สหรัฐฯกล่าวหาว่า ให้ความช่วยเหลือ Taliban ในอัฟกานิสถาน และโจมตีทหารสหรัฐฯในอิรัก Holder ได้กล่าวว่า แผนดังกล่าวได้รับการวางแผน สนับสนุน และบงการมาจากอิหร่าน แต่ก็ยังไม่ได้กล่าวหาว่า ผู้นำอิหร่านเกี่ยวข้องด้วย

แต่ต่อมา ประธานาธิบดี Obama ได้กล่าวเสริมว่า ยังไม่แน่ใจว่าผู้นำอิหร่านเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน แต่ Obama ย้ำว่า ผู้นำอิหร่านจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้

ชาวอิหร่านที่ถูกจับและกล่าวหาในแผนลอบสังหารนี้ ชื่อ Manssor Arbabsiar โดย Arbabsiar ได้ติดต่อแก๊งค้ายาเสพติดของเม็กซิโก และได้โอนเงินให้ 1.5 ล้านเหรียญ เพื่อให้สังหารทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงวอชิงตัน ดี ซี

เรื่องจริง หรือ นิยาย?

แผนการลอบสังหารในครั้งนี้ ขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า รัฐบาลอิหร่านเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด แต่ก็มีหลายประเด็นที่ทำให้เกิดความข้องใจว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเป็นนิยายกันแน่ นี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่อิหร่านถูกกล่าวหาในสิ่งที่อิหร่านไม่ได้ทำ และนี่ก็ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯกล่าวหาประเทศอื่น แต่ในที่สุดก็ไม่จริง ตัวอย่างคือ กรณีของ Saddam Hussein ที่รัฐบาล Bush กล่าวหาว่า พัฒนาอาวุธร้ายแรง และเป็นเหตุผลที่สหรัฐฯบุกยึดอิรักในปี 2003 แต่หลังจากยึดอิรักได้แล้ว ก็ไม่พบอาวุธร้ายแรงแต่ประการใด

ปัจจัยสำคัญที่น่าจะนำมาวิเคราะห์ มีดังนี้

• อิหร่านไม่ได้อะไรจากการลอบสังหารในครั้งนี้
ตั้งแต่การปฏิวัติอิสลาม ปี 1979 สิ่งที่สำคัญที่สุดต่อรัฐบาลอิหร่าน คือ ความอยู่รอด และ
ยุทธศาสตร์ความอยู่รอดของอิหร่าน ก็คือ การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับสหรัฐฯ สิ่งที่อิหร่านกลัวมากที่สุด คือ การโจมตีจากสหรัฐฯ ดังนั้น หากการก่อวินาศกรรมสำเร็จ คือ การสังหารทูตซาอุดีอาระเบียด้วยการระเบิด ซึ่งอาจจะทำให้มีคนตายนับร้อย และหากการก่อวินาศกรรมดังกล่าวมีหลักฐานว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลอิหร่าน ก็แน่นอนว่า สหรัฐฯจะตอบโต้อย่างรุนแรง ด้วยการโจมตีทางทหารต่ออิหร่าน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่รัฐบาลอิหร่านจะยอมทำเรื่องที่เสี่ยงเช่นนี้ โดยที่ผลที่จะได้รับก็แทบไม่มีอะไรเลย การสังหารทูตซาอุดีอาระเบียกับความเสี่ยงที่จะเปิดฉากสงครามกับสหรัฐฯ ดูไม่น่าจะคุ้มค่ากันเลย

• Arbabsiar และแก๊งค้ายาเสพติดเม็กซิกัน
อีกเรื่องที่แปลกมาก คือ การที่องค์กร Quds Force ซึ่งในอดีต จะใช้สมาชิกมืออาชีพ หรือ
ไม่ก็ใช้สมาชิกจากองค์กรแนวร่วม อาทิ Hizballah หรือกลุ่มก่อการร้ายซีเรีย หรือกลุ่มก่อการร้ายนิกายชีอะห์ชาวอิรัก ในการก่อวินาศกรรม แต่ในครั้งนี้ แผนใหญ่เช่นนี้ แต่ Quds Force กลับมาใช้ นาย Arbabsiar ซึ่งเป็นมือสมัครเล่น เป็นเซลล์แมนขายรถมือสอง และที่หนักไปกว่านั้น ก็คือ การใช้บริการของแก๊งยาเสพติดชาวเม็กซิกัน

• ความขัดแย้งอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย
อีกประเด็นที่น่าสงสัย และอธิบายไม่ได้ คือ ถึงแม้ว่าอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียจะมีความ
ขัดแย้งกัน แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมอิหร่านจึงเลือกที่จะมาก่อวินาศกรรมในกรุงวอชิงตัน ดี ซี ทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย และที่สำคัญไปกว่านั้น หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 สหรัฐฯก็เข้มงวดมาก ในการป้องกันการก่อการร้ายในเมืองหลวงของตน

ดังนั้น จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้เกิดความกังขาและข้องใจเป็นอย่างมากว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเป็นนิยายกันแน่ หากรัฐบาล Obama ไม่สามารถมีหลักฐานชัดเจนได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องตลกทางการทูตอีกครั้ง เหมือนที่ได้เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์ Saddam Hussein กับอาวุธร้ายแรง

ผมดูแล้ว ความเป็นไปได้ คือ รัฐบาลอิหร่านไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยอาจจะเป็นการกระทำโดยพลการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง อย่างเช่น อิสราเอล ที่ต้องการที่จะให้สหรัฐฯกับอิหร่านขัดแย้งกัน หรือไม่ก็อาจจะเป็นแผนของรัฐบาล Obama ที่สร้างเรื่องขึ้น เพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะใช้ไม้แข็งกับอิหร่าน หรืออาจถึงขั้นการใช้กำลังโจมตีอิหร่าน

ผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม แผนการสังหารดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือนิยายก็ตาม แต่ก็จะส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน โดยทั้ง Obama และรองประธานาธิบดี Joe Biden ได้ออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า จะต้องตอบโต้อิหร่าน และมาตรการตอบโต้ทุกรูปแบบก็กำลังได้รับการพิจารณา รวมถึงมาตรการทางทหารด้วย และสหรัฐฯกำลังจะล๊อบบี้พันธมิตรและประเทศต่างๆให้สนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน รวมถึงสหรัฐฯกำลังจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ UNSC ด้วย นอกจากนี้ Obama กำลังถูกกดดันอย่างหนักที่จะต้องตอบโต้อิหร่าน โดยเฉพาะกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า หาก Obama ไม่ทำอะไรเลย ก็จะถูกฝ่ายรีพับลิกันใช้เป็นประเด็นในการโจมตีในช่วงการหาเสียงอย่างแน่นอน
ผลกระทบที่เป็นรูปธรรมประการแรก คือ จะทำให้การเจรจาเรื่องนิวเคลียร์อิหร่านสะดุด
หยุดลง

นอกจากนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาล Obama ได้ประกาศว่า กำลังพิจารณาคว่ำบาตรธนาคารกลางอิหร่าน เพื่อเป็นการตอบโต้แผนลอบสังหารดังกล่าว ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรธนาคารกลางอิหร่าน จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจอิหร่าน มาตรการดังกล่าว จะโดดเดี่ยว Bank Markazi ซึ่งเป็นธนาคารกลางของอิหร่าน โดยจะมีการตั้งเงื่อนไขว่า บริษัทใดติดต่อกับธนาคารกลางอิหร่าน ก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินของสหรัฐฯได้ ซึ่งจะทำให้อิหร่านมีความยากลำบากเป็นอย่างมากในการส่งออกน้ำมัน ฝ่ายรัฐบาลอิหร่านได้ออกมาเตือนว่า มาตรการเช่นนี้ ถือเป็นการประกาศสงครามกับอิหร่าน

ผลกระทบของเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้มีการตั้งคำถามว่า จะนำไปสู่สงครามระหว่าง
สหรัฐฯกับอิหร่านหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า สหรัฐฯยังไม่พร้อมจะทำสงครามกับอิหร่านในขณะนี้ เพราะประชาคมโลกคงไม่เห็นด้วยและจะต่อต้านสหรัฐฯ และขณะนี้ กองทัพสหรัฐฯก็กำลังวุ่นอยู่กับการถอนทหารออกจากอิรัก และกำลังทำสงครามอยู่ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน นอกจากนี้ หากอิหร่านถูกโจมตี ก็จะตอบโต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง

ไม่มีความคิดเห็น: