Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ระเบียบเศรษฐกิจโลก ปี 2011

ระเบียบเศรษฐกิจโลก ปี 2011

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 2 - วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2554

ปัจจุบัน กำลังมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ของระเบียบหรือระบบเศรษฐกิจโลก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ของปี 2011 ดังนี้

มหาอำนาจเก่า

ระเบียบเศรษฐกิจโลกในอดีต ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ได้ถูกสร้างขึ้นโดยสหรัฐฯ โดยมีชื่อว่า Breton Woods System

แต่นับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี และล่าสุด หลังจากเกิดวิกฤตหนี้สหรัฐฯ และยุโรป ก็เลยส่งผลกระทบอย่างมากต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

สำหรับสหรัฐฯ กำลังประสบภาวะวิกฤตหนี้อย่างหนัก สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามาเป็นเวลายาวนานถึง 30 ปี และขณะนี้กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก มีมูลค่าสูงถึง 23 ล้านล้านเหรียญ สหรัฐฯ กู้เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านเหรียญต่อปี สหรัฐฯ กำลังประสบกับความล้มเหลวของนโยบายทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อิทธิพลของสหรัฐฯ ในเวทีเจรจาเศรษฐกิจโลก ก็ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในเวที WTO สาเหตุสำคัญมาจากการเสื่อมลงเรื่อย ๆ ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใหม่ ๆ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เคยใหญ่เป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก แต่ปัจจุบันก็ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการส่งออก สหรัฐฯ ก็ตกมาเป็นอันดับ 3 โดยมีจีน และเยอรมนีเป็นผู้นำการส่งออกของโลก การผงาดขึ้นมาของจีนทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ แม้ว่าเงินดอลลาห์สหรัฐฯ จะยังเป็นเงินสกุลหลักของโลก แต่เงินยูโรก็กำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญ และในอนาคต เงินหยวนของจีนก็จะกลายเป็นคู่แข่งอีกด้วย

ระเบียบโลกในศตวรรษที่ 21 แตกต่างจากระเบียบโลกในศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างมาก พลวัตทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงและพลิกผันไปอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ประเทศอุตสาหกรรม ประเทศร่ำรวย ซึ่งเคยเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ก็กำลังประสบกับวิกฤต ทั้งสหรัฐฯ ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น

สำหรับสหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่ง GDP รวมกันแล้ว ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก GDP ใหญ่กว่าสหรัฐฯ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ EU ตอนนี้ก็กำลังประสบกับวิกฤตการเงินและหนี้สินครั้งใหญ่ สหภาพการเงินของ EU ก็ยังไม่สมบูรณ์ ถึงแม้ในด้านเงินตรา จะมีเงินสกุลร่วมคือ เงินยูโร และมีธนาคารกลางยุโรปแล้ว แต่ EU ก็ยังไม่ใช่สหภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยยังไม่มีกลไกในการกำหนดนโยบายทางการเงิน วิกฤตการเงินที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2008 มาจนถึงปัจจุบัน กำลังเป็นภัยคุกคามต่อบูรณาการทางเศรษฐกิจของ EU วิกฤตหนี้ของ Euro zone ได้โจมตีสมาชิกที่อ่อนแอที่สุด คือ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส และขณะนี้กำลังลุกลามบานปลายเข้าสู่สเปนและอิตาลี

สำหรับญี่ปุ่นก็ยิ่งหนักหนาสาหัสกว่าสหรัฐฯ และ EU เสียอีก แทบไม่น่าเชื่อว่า ญี่ปุ่นมีหนี้รัฐบาลสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นประสบปัญหาเศรษฐกิจมานานตั้งแต่ฟองสบู่แตกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นโยบายของรัฐบาลก็ประสบความล้มเหลวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นจึงประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ

นอกจากนี้ กลไกประสานนโยบายของกลุ่มมหาอำนาจเศรษฐกิจเก่า คือ G7 และ G8 ก็ไม่สามารถเล่นบทบาทเป็นผู้นำในการจัดการระเบียบเศรษฐกิจโลกได้อีกต่อไป ทั้งนี้เพราะขาดความชอบธรรมในการเป็นเวทีแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก โดย G7 และ G8 ไม่ได้สะท้อนโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 และวิกฤตหนี้ตะวันตกในปัจจุบัน ทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจของตะวันตก ตกต่ำลงอย่างมาก ได้ทำลายชื่อเสียงของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจโลก ถือเป็นความล้มเหลวทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ของตะวันตก ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของตะวันตกในขณะนี้ได้ชี้ชัดว่า ระเบียบเศรษฐกิจโลกกำลังจะแปรเปลี่ยนจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ที่สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง ไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ ที่มีมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตะวันตกมีบทบาทมากขึ้น

มหาอำนาจใหม่

ดังนั้น ระเบียบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน กำลังจะถูกกำหนดขึ้นโดยการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งขณะนี้ขนาดเศรษฐกิจของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่มีสัดส่วนคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก และในขณะที่มหาอำนาจเก่ากำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะจีน อินเดีย ประเทศในเอเชีย ลาตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง เศรษฐกิจกลับเจริญเติบโตอย่างร้อนแรง มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่ามหาอำนาจเก่าถึง 3 เท่า ดังนั้น สัดส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มนี้ต่อเศรษฐกิจโลกก็เพิ่มขึ้นทุกปี และในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก การค้าขาย และการลงทุน ระหว่างกลุ่มประเทศเหล่านี้ด้วยกันเองก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มประเทศมหาอำนาจใหม่พึ่งพาเศรษฐกิจของตะวันตกลดลงเรื่อย ๆ และก็จะสามารถ หลีกเลี่ยงผลกระทบในทางลบจากวิกฤตเศรษฐกิจของมหาอำนาจเก่าได้ มหาอำนาจใหม่ขณะนี้มีถึง 8 ประเทศที่มี GDP เกินกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ ประเทศเหล่านี้ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล เกาหลี เม็กซิโก และในอนาคตก็จะมี ตุรกี และอินโดนีเซียด้วย

และที่เป็นการพลิกผันกลับตาลปัตรครั้งใหญ่ก็คือ การที่ประเทศยากจนกลายเป็นเจ้าหนี้ของประเทศร่ำรวย จีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ ก็มีเงินทุนสำรองมหาศาลโดยเฉพาะที่เป็นเงินดอลลาร์ เกินกว่า 1 แสนล้านเหรียญ ประเทศเหล่านี้ คือ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย บราซิล เกาหลี อินเดีย สิงคโปร์ ไทย อัลจีเรีย เม็กซิโก และมาเลเซีย
The rise of Asia หรือการผงาดขึ้นมาของเอเชีย จะทำให้เอเชียกลายเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลก โดยมีจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศที่ตามจีนมาติด ๆ เป็นแกนนำ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระเบียบเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คือ การที่ G20 ได้กลายเป็นกลไกหลัก ในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะมาแทน G8 ในอนาคต

จะเห็นได้ว่า ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2011 นี้ ได้พลิกโฉมเศรษฐกิจโลก จากในอดีตไปเป็นอย่างมาก ซึ่งเราคงจะต้องจับตาวิเคราะห์ดูกันต่อว่า ในอนาคต เศรษฐกิจโลกจะวิวัฒนาการไปอย่างไรต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: