Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การประชุมสุดยอด Eurozone

การประชุมสุดยอด Eurozone

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม – วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2554

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด Eurozone เพื่อกำหนดมาตรการกอบกู้วิกฤตหนี้ของยุโรป คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์การประชุมดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

วิกฤตหนี้ของยุโรป หรือที่เรียกว่า วิกฤต Eurozone นั้น หัวใจอยู่ที่กรีซ ซึ่งประสบปัญหาหนี้ครั้งใหญ่ โดยสถานการณ์ของกรีซทรุดหนักลงเรื่อยๆ จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า กรีซกำลังจะเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ และล้มละลายในที่สุด

ในตอนแรก ก็มีกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ที่ประสบปัญหา แต่ต่อมาสถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน และอาจลามไปถึงฝรั่งเศสด้วย โดยโอกาสของการแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้กรีซไปสู่ประเทศอื่นๆ มีอยู่สูง โดยหากกรีซล้มละลาย ตลาดการเงินจะเกิดการตื่นตระหนก และอาจจะทำให้โปรตุเกส และไอร์แลนด์ ล้มละลายตามกรีซไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การล้มละลายของกรีซอาจจะส่งผลกระทบเป็น domino effect ต่ออิตาลี สเปน และฝรั่งเศสด้วย และอาจนำไปสู่วิกฤตธนาคารครั้งใหญ่ของยุโรป และในที่สุด อาจจะเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 70 ปีได้

การประชุมสุดยอด Eurozone

ที่ผ่านมา กลไกที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการกอบกู้วิกฤต Eurozone คือ EU IMF และ G20 โดย EU มีบทบาทสำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องในบ้านของตัวเอง แต่ EU นั้น มีสมาชิก 27 ประเทศ แต่มีเพียง 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโร เราจึงเรียกกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรนี้ว่า Eurozone ในอดีต ไม่เคยมีการประชุมสุดยอด Eurozone โดยจะเป็นการประชุมสุดยอดของ EU แต่หลังจากเกิดวิกฤตหนี้ของยุโรปในครั้งนี้ จึงมีการจัดประชุมสุดยอดของสมาชิก Eurozone 17 ประเทศขึ้น โดยการประชุมสุดยอดครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง

ก่อนหน้าการประชุมสุดยอด Eurozone มีการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของกลุ่ม Eurozone 17 ประเทศ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยประเด็นสำคัญของการประชุม มีอยู่ 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ มาตรการในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก คือ มาตรการที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า hair cut ประเด็น คือ การจะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซจะมีสัดส่วนเท่าใด

สำหรับเรื่องที่ 2 คือ การถกเถียงกันในเรื่องของจำนวนเงิน ที่จะใส่เข้าไปในกองทุนสำหรับการกอบกู้วิกฤต Eurozone ซึ่งมีชื่อว่า European Financial Stability Facility หรือ EFSF

ส่วนเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของการถกเถียงกันในการเพิ่มเงินช่วยเหลือธนาคารใหญ่ๆของยุโรป ในการเพิ่มทุน เพื่อรองรับต่อผลกระทบจากการล้มละลายของกรีซ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง Eurozone ก็ตกลงกันได้ที่จะจ่ายเงินกู้งวด 2 ให้แก่กรีซ แต่สำหรับเรื่องอื่นๆก็ยังตกลงกันไม่ได้
ต่อมาในการประชุมสุดยอด Eurozone ในวันที่ 23 ตุลาคม ผลการประชุมก็ออกมาในทำนองเดียวกับผลการประชุมระดับรัฐมนตรี โดยในตอนเช้าของวันที่ 23 มีการประชุมสุดยอด EU 27 ประเทศก่อน และหลังจากนั้นในตอนบ่าย เป็นการประชุมของ 17 ประเทศสมาชิก Eurozone อย่างไรก็ตาม ผลการประชุม ก็ยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องหลักๆ ดังนั้น จึงได้มีแผนที่จะประชุมสุดยอด Eurozone อีกครั้งหนึ่ง ในวันพุธที่ 26 ตุลาคม เพื่อที่จะบรรลุข้อตกลงให้ได้ โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicholas Sarkozy และผู้นำเยอรมนี Angela Merkel ได้กล่าวว่า ในวันที่ 23 ตุลาคม ได้มีการหารือถึงยุทธศาสตร์ต่างๆ และในวันที่ 26 ตุลาคม ก็จะบรรลุข้อตกลงสำหรับมาตรการกอบกู้วิกฤต เหตุผลประการหนึ่งที่ต้องมีการประชุมสุดยอด 2 วัน ก็เพราะทางเยอรมนี หลังจากการหารือกันในวันที่ 23 ตุลาคม จะต้องนำเรื่องมาตรการต่างๆไปขออนุมัติจากรัฐสภาเยอรมนี และหลังจากนั้น รัฐบาลเยอรมันจึงจะสามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงในที่ประชุมสุดยอด Eurozone ในวันที่ 26 ตุลาคมได้

อย่างไรก็ตาม การประชุมสุดยอด Eurozone ในวันที่ 23 ตุลาคม ยังตกลงกันไม่ได้หลายเรื่อง

เรื่องแรก คือ มาตรการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ซึ่งถึงแม้จะมีการปล่อยเงินกู้งวด 2 ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และเรื่องที่ขัดแย้งกัน คือ มาตรการ hair cut ซึ่งในเดือนกรกฎาคม ธนาคารต่างๆได้ตกลงกันอย่างไม่เป็นทางการว่า จะยกเลิกหนี้ให้กับกรีซประมาณ 20% อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงทำให้มีข้อเสนอที่จะต้องเพิ่มสัดส่วนการยกเลิกหนี้ให้กับกรีซถึง 60% ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน และยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี ซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันหลายเรื่อง

ส่วนเรื่องที่ 2 ที่ตกลงกันไม่ได้ คือ จำนวนเงินที่จะนำไปใส่ในกองทุน EFSF ซึ่งปัจจุบันมีเงินอยู่ 440,000 ล้านยูโร โดยได้มีข้อเสนอที่จะให้เพิ่มกองทุนนี้เป็น 2 ล้านล้านยูโร ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน

ส่วนเรื่องที่ 3 ที่ตกลงกันไม่ได้ คือ วงเงินที่จะปล่อยกู้ให้กับธนาคารใหญ่ๆของยุโรป เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มจากการประชุมสุดยอด Eurozone เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมว่า อาจจะตกลงกันได้ว่า วงเงินจะอยู่ประมาณ 100,000 ล้านยูโร แต่ก็ยังมีเครื่องหมายคำถามว่า เงินจำนวน 100,000 ล้านยูโรจะเพียงพอหรือไม่ ที่จะรองรับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ของกรีซต่อธนาคารต่างๆในยุโรป ซึ่งมีบางคนมองว่า อาจจะต้องใช้เงินถึง 400,000 ล้านยูโร ถึงจะเพียงพอ

ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี

อุปสรรคสำคัญที่สุดของแผนการกอบกู้วิกฤต Eurozone คือ ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี ซึ่งขัดแย้งกันหลายเรื่อง โดยฝรั่งเศสต้องการแผนการกอบกู้วิกฤตที่มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ แต่เยอรมนีไม่เห็นด้วย

สำหรับเรื่องสำคัญที่ขัดแย้งกัน คือ ความขัดแย้งกันในการเพิ่มบทบาทให้กับ EFSF และการเพิ่มเงินทุนให้กับกองทุนนี้ ฝรั่งเศสต้องการให้เพิ่มเงินเข้าไปเป็น 2 ล้านล้านยูโร แต่เยอรมนีไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ฝรั่งเศสต้องการให้ธนาคารกลางยุโรป หรือ European Central Bank เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นใน EFSF แต่เยอรมนีก็ไม่เห็นด้วย

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศยังมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับมาตรการ hair cut ที่จะช่วยเหลือกรีซ โดยฝรั่งเศสต้องการให้ยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 60% แต่ทางเยอรมนีก็ไม่เห็นด้วย

ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ผมยังไม่ทราบผลการประชุมสุดยอด Eurozone ครั้งที่ 2 ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม แต่ดูแนวโน้มแล้ว ค่อนข้างมีความเป็นไปได้ว่า ในที่สุด ฝรั่งเศสและเยอรมนี น่าจะตกลงกันได้ในเรื่องที่ขัดแย้งกัน โดยผลการประชุมในวันที่ 26 ตุลาคม น่าจะออกมาในลักษณะประนีประนอม ที่ตกลงกันที่จะมีมาตรการ hair cut ให้กับหนี้ของกรีซ ประมาณ 50% สำหรับการเพิ่มเงินในกองทุน EFSF นั้น ก็น่าจะตกลงกันได้ ที่จะให้เพิ่มขึ้นจาก 440,000 ล้านยูโร เป็นประมาณ 1-2 ล้านล้านยูโร และมาตรการสุดท้าย ที่น่าจะตกลงกันได้ คือ การกำหนดวงเงินปล่อยกู้ให้กับธนาคารในยุโรป ประมาณ 100,000 ล้านยูโร

ดังนั้น หากผลการประชุมออกมาในลักษณะนี้ วิกฤต Eurozone ก็น่าจะไม่ลุกลามบานปลาย และจะไม่กระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกมากนัก แต่หากผลการประชุมในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ประสบความล้มเหลว ก็อาจจะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี ก็เป็นไปได้

ไม่มีความคิดเห็น: