การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตอนที่ 5
นโยบายต่างประเทศของ John McCain
คอลัมน์โลกทรรศน์ครั้งที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึงนโยบายต่างประเทศของ Barack Obama ไปแล้ว ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงนโยบายต่างประเทศของ John McCain ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นที่คาดว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ น่าจะเป็นการแข่งกันระหว่าง McCain กับ Obama
ภาพรวม
แนวนโยบายต่างประเทศของ McCain ในภาพรวมนั้น มีลักษณะเป็นสายเหยี่ยว เมื่อเทียบกับ Obama ที่เป็นสายพิราบ McCain มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยม และโน้มเอียงไปถึงขั้นเป็นอนุรักษ์นิยมใหม่ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า neo-conservative ซึ่งมีอุดมการณ์ที่มองนโยบายต่างประเทศเป็นการต่อสู้ ระหว่างความดีกับความชั่วร้าย มองโลกเป็นขาวกับดำ โดย McCain มองว่า ขณะนี้ โลกกำลังอยู่ในยุคของการต่อสู้ ระหว่างค่านิยม เสรีภาพ และประชาธิปไตย กับค่านิยมเผด็จการ เหมือนกับในสมัยสงครามเย็น
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า แนวคิดของ McCain นั้นคือ การมองโลกว่า กลับเข้าสู่ยุคสงครามเย็นอีกครั้งหนึ่ง
แนวนโยบายของ McCain นั้น คงจะเป็นการสานต่อแนวนโยบายของ Bush ซึ่งก็เป็นพวกอนุรักษ์นิยมเหมือนกัน แต่มีแนวโน้มว่า McCain อาจจะเป็นสายเหยี่ยวมากกว่า Bush เสียอีก
McCain กล่าวอย่างหยิ่งผยอง และชาตินิยมจัดว่า ตั้งแต่มีการตั้งประเทศอเมริกาขึ้นมาเมื่อ 200 ปีมาแล้ว อเมริกาก็คือ ประเทศที่มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ คนอเมริกันคือ คนที่ชะตาชีวิตที่ยิ่งใหญ่ และในยุคปัจจุบัน ก็เป็นภารกิจของอเมริกา ที่จะต้องให้โลกเชื่อมั่นในหลักการของอเมริกา McCain ได้อ้างคำพูดของอดีตประธานาธิบดี Harry Truman ว่า “พระเจ้าได้สร้างอเมริกาและนำอเมริกามาสู่จุดที่มีอำนาจและยิ่งใหญ่ ในปัจจุบัน ก็เพื่อจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่” McCain จึงกล่าวว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จึงมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ที่จะต้องสร้างสันติภาพ และเสรีภาพให้เกิดขึ้นในโลก
ดังนั้น หัวใจของนโยบายต่างประเทศของ McCain คือ การต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ โดย McCain ถึงกับเสนอว่า น่าจะมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา ที่จะเป็นองค์กรที่เชื่อมโยงประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก โดยให้ชื่อว่า องค์กร “สันนิบาตประชาธิปไตย” (League of Democracies) และหาก UN ล้มเหลวในการปกป้องประชาธิปไตย องค์กรนี้ก็จะดำเนินการเอง McCain ได้เสนอว่า หากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ในปีแรกของการดำรงตำแหน่ง เขาจะจัดการประชุมสุดยอดของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อหารือถึงมาตรการต่างๆ ที่นำไปสู่การจัดตั้งองค์กรดังกล่าว เหมือนกับที่อเมริกาได้เคยทำเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ในการเป็นผู้นำ การจัดตั้ง NATO
สงครามต่อต้านการก่อการร้าย
สำหรับ McCain นั้น ชัยชนะในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุด โดยมองว่า อิรักคือ แนวรบที่สำคัญที่สุด ดังนั้น อเมริกาควรจะต้องเข้าสู่สงครามอิรักด้วยกำลังทางทหารที่เพียงพอ และมีแผนการที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จเพื่อชัยชนะ McCain มองว่า Bush ปล่อยให้เวลาผ่านไป 4 ปี ถึงได้ยอมรับยุทธศาสตร์ใหม่โดยการเพิ่มกองกำลังทางทหารเข้าไป
McCain มองว่า สหรัฐฯจะต้องประสบความสำเร็จและประสบชัยชนะในสงครามอิรัก เพราะผลกระทบจากความล้มเหลวและการพ่ายแพ้ในอิรักนั้น จะมีมากมายมหาศาล เท่ากับเป็นความพ่ายแพ้ต่อขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ซึ่งจะทำให้กลุ่มก่อการร้ายฮึกเหิมมากขึ้น อิรักจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลวในใจกลางตะวันออกกลาง ก็จะกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อการร้ายใหม่ สงครามกลางเมืองในอิรักจะขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งทั่วภูมิภาค และจะนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความพ่ายแพ้ ในอิรัก จะนำไปสู่จุดจบของการส่งเสริมประชาธิปไตยในอิรัก และจะเป็นการเชื้อเชิญให้อิหร่านเข้าครอบงำอิรักและภูมิภาค
อิรักจึงเป็นประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับประธานาธิบดีคนใหม่ McCain จึงโจมตีว่า ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตกลับประกาศว่าจะถอนทหารออกจากอิรัก โดยไม่สนใจต่อผลกระทบ ข้อเสนอของพรรคเดโมแครตจึงเท่ากับนำโลกไปสู่หายนะ
สำหรับในอัฟกานิสถาน การกลับฟื้นคืนชีพของนักรบตาลีบัน ได้คุกคามที่จะนำอัฟกานิสถานกลับไปสู่ยุคก่อน 11 กันยาฯ กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อการร้ายใหม่ ดังนั้น สหรัฐฯจึงจะต้องเพิ่มกองกำลังทหารเข้าไป และเพิ่มกองกำลัง NATO เข้าไปในอัฟกานิสถาน
McCain มองว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะ กลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย และอิหร่าน ก็คือรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้ายตัวยง และขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ หากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ก็จะสามารถสนับสนุนผู้ก่อการร้ายหนักขึ้น รวมทั้งอาจส่งต่ออาวุธนิวเคลียร์ให้กับเครือข่ายการก่อการร้ายด้วย ดังนั้น ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามนี้ โดยต้องเริ่มด้วยมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้น และหาก UN ไม่สามารถดำเนินมาตรการได้ สหรัฐฯก็ต้องเป็นผู้นำกลุ่มประเทศที่มีความเห็นตรงกัน ในการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน และแน่นอนว่า มาตรการทางทหารก็คงจะต้องเป็นทางเลือกที่อเมริกาจะต้องคงไว้
รัสเซีย
สำหรับ McCain ซึ่งมีแนวนโยบายสายเหยี่ยว ดังนั้น มองไปที่ไหนก็มีแต่ศัตรู ดังนั้นสำหรับรัสเซีย McCain ก็มองว่า กำลังเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ โดยมองว่า รัสเซียกำลังเป็นประเทศเผด็จการ เป็นอันธพาลคุกคามประเทศเพื่อนบ้าน และใช้ไพ่ คือ การส่งออกน้ำมันและก๊าซ ในการ black mail ประเทศในยุโรป
ดังนั้น McCain จึงเสนอว่า สหรัฐฯและตะวันตก ควรมียุทธศาสตร์ใหม่ต่อรัสเซีย โดย McCain ถึงกับเสนอว่า ให้ไล่รัสเซียออกจาก G 8 โดย G 8 ควรเป็นกลุ่มของประเทศประชาธิปไตยเท่านั้น ดังนั้น จึงควรดึงเอา บราซิล และอินเดียเข้ามาในกลุ่มนี้ และขับรัสเซียออก และตะวันตกควรดำเนินนโยบายปิดล้อมรัสเซีย ด้วยการใช้ NATO และขยายจำนวนสมาชิก NATO ให้ครอบคลุมตั้งแต่ทะเลบอลติค จนถึงทะเลดำ
เอเชีย
สำหรับเอเชีย ในสายตาของ McCain ก็มุ่งเป้าไปที่ประเทศเผด็จการ คือ เกาหลีเหนือ จีน และพม่า โดยเสนอว่า สหรัฐฯจะต้องร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาค โดยสนับสนุนบทบาทของญี่ปุ่น และสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และกระชับพันธมิตรกับออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และอินเดีย
สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ McCain บอกว่า จะยกระดับความเป็นหุ้นส่วนกับอินโดนีเซีย และขยายความร่วมมือทางทหารกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และเวียดนาม และร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการส่งเสริมประชาธิปไตย กำจัดภัยคุกคามจากการก่อการร้าย และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า
McCain ยังเสนอด้วยว่า เขาจะจัดตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมา ที่จะมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคง 4 ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในภูมิภาค ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
สำหรับจีนซึ่งเป็นประเทศเผด็จการ McCain ก็มองในแง่ลบ และมีแนวโน้มมองจีนเป็นศัตรู โดยมองว่า ขณะนี้ จีนกำลังสร้างเสริมกำลังทางทหาร และมีการเพิ่มขึ้นของงบทางทหารมากที่สุดในโลก จึงทำให้สหรัฐฯตั้งคำถามต่อเจตนาของจีนในการกระทำต่างๆ ที่มองว่าเป็นการยั่วยุ ไม่ว่าจะเป็นการขู่ว่าจะใช้กำลังต่อไต้หวัน การมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศเผด็จการเช่น พม่า ซูดาน และซิมบับเว และการที่จีนพยายามจัดตั้งเวทีในภูมิภาคที่จะกีดกันสหรัฐฯออกไปจากเอเชีย
การค้าเสรี
McCain มีนโยบายต่างประเทศด้านการเมืองความมั่นคงแบบสายเหยี่ยวสุดๆ แต่สำหรับนโยบายด้านการค้านั้น McCain มีจุดยืนเหมือนพวกอนุรักษ์นิยมคนอื่นๆ คือ เน้นการค้าเสรี เราต้องอย่าลืมว่า พรรครีพับลิกันนั้น เป็นพรรคของคนรวย เป็นพรรคของบริษัทยักษ์ใหญ่ ดังนั้น แนวนโยบายเศรษฐกิจของพรรคนี้ ก็เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้คนรวยและบริษัทยักษ์ใหญ่ ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่จะเห็นพรรครีพับลิกันสนับสนุนการค้าเสรีอย่างเต็มที่ เพราะหากมีการค้าเสรี คนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือ คนรวยและบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ
McCain จึงประกาศว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะทำให้อเมริกาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ เขาโต้แย้งความเชื่อของคนอเมริกันบางคนที่มองว่า โลกาภิวัฒน์เป็นภัยคุกคาม โดย McCain สนับสนุนการค้าเสรีอย่างเต็มที่ และจะส่งเสริมการค้าเสรีในระดับโลก ใน WTO และจะขยายข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก
สำหรับในเอเชีย McCain มองว่า สหรัฐฯควรจะเป็นผู้นำในการเปิดเสรีทางการค้าในเอเชีย ด้วยการเดินหน้าเจรจา FTA กับมาเลเซียและไทยต่อ ใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA ที่ทำไปแล้วกับเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงค์โปร์ และยกระดับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับอินเดียและอินโดนีเซีย
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ
แสดงความคิดเห็น