Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การประชุมสุดยอด BRICS ที่อินเดีย (ตอนจบ)



                คอลัมน์โลกปริทรรศน์
29 เมษายน 2555

BRICS เป็นตัวย่อมาจากชื่อของ 5 ประเทศ ได้แก่ Brazil, Russia, India, China และ South Africa โดย 5 ประเทศนี้เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ และได้พยายามรวมกลุ่มกันในชื่อ BRICS เพื่อที่จะมาแข่งกับมหาอำนาจตะวันตก เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 3 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย คอลัมน์โลกปริทรรศน์ตอนที่แล้ว ได้สรุปผลการประชุมดังกล่าวไปแล้ว สำหรับคอลัมน์โลกปริทรรศน์ตอนนี้ จะมาวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าวต่อ โดยเฉพาะการวิเคราะห์บทบาทของกลุ่ม BRICS ในระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก ดังนี้
บทวิเคราะห์
·      จากการสรุปผลการประชุม BRICS ในคอลัมน์โลกปริทรรศน์ตอนที่แล้ว จะเห็นได้ว่า ท่าทีต่างๆ ส่วนใหญ่มีลักษณะของการต่อต้านตะวันตก BRICS ถือเป็นกลุ่มมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ที่พยายามจะมาคานอำนาจตะวันตก โดยจุดยืนในเรื่องของเศรษฐกิจโลก เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่พอใจการครอบงำระเบียบเศรษฐกิจโลกของตะวันตก และมองว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน มีต้นตอมาจากปัญหาเศรษฐกิจของตะวันตก นอกจากนี้ การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงินโลก และระบบการเงินโลก ก็เป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการลดการครอบงำของตะวันตก โดยเฉพาะใน IMF และธนาคารโลก ไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ การจัดตั้ง Development Bank ของ BRICS ขึ้นมาใหม่ ซึ่งหากจัดตั้งขึ้นมาได้จริงๆ จะเป็นสถาบันที่จะมาแข่งกับธนาคารโลก ซึ่งสหรัฐฯครอบงำอยู่
เช่นเดียวกัน ท่าทีของ BRICS ต่อประเด็นปัญหาความมั่นคงโลก ก็สวนทางกับท่าทีของตะวันตก โดยเฉพาะวิกฤตซีเรีย และวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน รวมทั้งประเด็นปัญหาภาวะโลกร้อน ท่าทีของ BRICS คือ การโจมตีประเทศร่ำรวยและประเทศตะวันตกว่า เป็นต้นตอของปัญหา และต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหานี้
·      อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญ คือ BRICS จะเป็นขั้วอำนาจใหม่ของการเมืองโลกได้หรือไม่ ถ้าดูจากตัวเลขสถิติต่างๆแล้ว BRICS ดูจะเป็นกลุ่มที่มีพลังอำนาจมาก คือ มีประชากรรวมกันกว่า 40% ของประชากรโลก และ 5 ประเทศสมาชิก BRICS ก็เป็นตัวแทนจาก 4 ทวีป GDP ของ BRICS รวมกันแล้ว ประมาณ 13 ล้านล้านเหรียญ และในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งหมายความว่า ในอนาคต  BRICS จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเศรษฐกิจของตะวันตก ดังนั้น จึงมีหลายฝ่ายจับตามองและคาดการณ์ว่า BRICS กำลังกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ของการเมืองโลก
แต่การที่ BRICS จะเป็นขั้วอำนาจใหม่ได้ จะต้องมีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีจุดยืนต่อประเด็นปัญหาโลกร่วมกัน แต่ในความเป็นจริง ประเทศสมาชิก BRICS ทั้ง 5 ยังคงมีความแตกต่าง และความขัดแย้งกันอย่างมาก อาจจะกล่าวได้ว่า มีแค่ 2 สิ่งเท่านั้น ที่ประเทศทั้ง 5 มีตรงกัน นั่นก็คือ การเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ กับการต่อต้านการครอบงำโลกของตะวันตก แต่นอกจากนี้แล้ว ก็มีความแตกแยกและมีความแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างประเทศทั้ง 5 โดยความขัดแย้งหลัก คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งทั้งจีนและอินเดีย ก็มองอีกฝ่ายว่าเป็นคู่แข่ง และมีความหวาดระแวงต่อกันและกันเป็นอย่างมาก อินเดียมองว่า จีนมียุทธศาสตร์ปิดล้อมอินเดีย ในขณะเดียวกัน จีนก็มองว่า อินเดียกำลังไปเข้าพวกกับสหรัฐฯในการปิดล้อมจีน นอกจากนี้ รัสเซียกับจีน ลึกๆแล้ว ก็มีความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และพยายามที่จะแข่งกันมีอิทธิพลในหลายๆภูมิภาค โดยเฉพาะในเอเชียกลางและในตะวันออกกลาง
                ทั้ง 5 ประเทศ มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งทางด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และนโยบายในหลายๆเรื่องที่เป็นปัญหาของโลก BRICS ก็ไม่สามารถบรรลุถึงท่าทีร่วมได้ อย่างเช่นในกรณีวิกฤตซีเรีย รัสเซียกับจีนวีโต้ร่างข้อมติ UNSC ของตะวันตก ในขณะที่อินเดีย บราซิล และอัฟริกาใต้ สนับสนุน
นอกจากนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ชี้ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้ง 5 คือ เรื่องการปฏิรูป UNSC บราซิล อินเดีย และอัฟริกาใต้ ต้องการเป็นสมาชิกถาวรของ UNSC ในขณะที่จีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกถาวรอยู่แล้ว ไม่อยากให้ประเทศเหล่านี้มีสถานะเท่าตน จึงไม่ได้แสดงท่าทีสนับสนุนอย่างเป็นทางการที่จะให้ประเทศเหล่านี้มีที่นั่งถาวรใน UNSC ในปฏิญญาผลการประชุมที่อินเดีย เห็นได้ชัดว่า ข้อความในปฏิญญาเพียงแต่บอกว่า จีนและรัสเซียเห็นความสำคัญของประเทศเหล่านี้ ในการเล่นบทบาทที่โดดเด่นใน UN แต่ก็ไม่ได้มีข้อความในปฏิญญาที่จะบอกว่า จีนและรัสเซียสนับสนุนให้บราซิล อินเดีย และอัฟริกาใต้ มีที่นั่งถาวรใน UNSC
ความแตกแยกของ BRICS อีกเรื่อง คือ BRICS ไม่สามารถตกลงกันได้ ในการเสนอชื่อตัวแทนของ BRICS เพื่อเข้าชิงตำแหน่งผู้อำนวยการ IMF คนใหม่ แทนนาย Strauss Kahn นอกจากนี้ ในกรณีล่าสุดที่ Robert Zoellick ลาออกจากตำแหน่งประธานธนาคารโลก และสหรัฐฯก็พยายามผูกขาดการเสนอชื่อคนอเมริกันเป็นประธานคนใหม่นั้น BRICS ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ที่จะเสนอชื่อตัวแทนกลุ่มเพื่อชิงตำแหน่งนี้ 
ความแตกแยกของ BRICS ยังร้าวลึกลงไปถึงความแตกต่างของระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเดียวกันได้ยาก อินเดีย บราซิล และอัฟริกาใต้ มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ในขณะที่รัสเซียกำลังถอยหลังลงคลองลงไปเรื่อยๆ ในเรื่องของพัฒนาการประชาธิปไตย โดยระบบการเมืองในขณะนี้ ถูกครอบงำโดย Vladimir Putin ส่วนจีนก็ยิ่งหนัก เพราะยังคงเป็นประเทศเผด็จการที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้จีนถูกมองเป็นแกะดำในสังคมประชาธิปไตยโลก
                อาจกล่าวได้ว่า นอกจากปฏิญญาผลการประชุม Summit ที่สวยหรูแล้ว BRICS ก็ไม่สามารถจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการเมืองโลกที่เป็นรูปธรรมได้เลย ในการประชุมสุดยอดครั้งแรกในปี 2009 BRICS เน้นเรื่องการปฏิรูประบบการเงินโลก และได้เสนอเงินสกุลสำรองของโลกใหม่ แทนที่เงินดอลลาร์ โดยเฉพาะจีน ได้ผลักดันเงินหยวนขึ้นมาแทน แต่ 3 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมในเรื่องของข้อเสนอดังกล่าวเลย
                กล่าวโดยสรุป การรวมกลุ่มของ 5 ประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้ชื่อว่า BRICS นั้น มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ในระดับหนึ่ง โดยกลุ่มได้พยายามแสดงให้เห็นว่า นอกจากการชี้นำของตะวันตกแล้ว ยังมีแนวคิดที่ไม่ใช่ตะวันตกในการแก้ปัญหาของโลกอยู่ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน และในอนาคต BRICS คงยังไม่สามารถกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ของการเมืองโลกได้ ทั้งนี้เพราะ ความแตกแยกและความขัดแย้งภายในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม BRICS ยังคงจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศทั้ง 5 ในการที่จะมาเป็นพันธมิตรกันอย่างหลวมๆ เพื่อคานอำนาจตะวันตก และใช้ BRICS ในการเพิ่มอำนาจการต่อรอง ในการผลักดันประเด็นปัญหา เพื่อถ่วงดุลอำนาจตะวันตก และเพื่อต่อต้านการครอบงำทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกของตะวันตก

ไม่มีความคิดเห็น: