Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิกฤต Eurozone 2012


ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2555

วิกฤตหนี้ของยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่ใช้เงินยูโร 17 ประเทศ ที่เรียกว่า Eurozone นั้น เป็นปัญหาเข้าขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ โดยในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบภาวะหนี้สินได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ต่อมา วิกฤตได้ลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่  
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด กำลังมีความตื่นกลัวกันว่าปัญหาหนี้ของกรีซกำลังเข้าขั้นวิกฤตหนักโดยกรีซอาจจะตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย และอาจจะต้องถูกขับออกจาก Eurozone ซึ่งจะส่งผละกระทบเป็นอย่างมาก ต่อเศรษฐกิจของยุโรป และเศรษฐกิจของโลกโดยรวม ขณะนี้หลายฝ่ายจึงจับตามองไปที่กรีซว่า วิกฤตจะพัฒนาไปในทางบวกหรือในทางลบอย่างไร
ภูมิหลังวิกฤตหนี้กรีซ
กรีซมีปัญหาทางการเงินมาตั้งแต่ก่อนเข้าร่วม Eurozone แต่หลังจากเข้าร่วม Eurozone และใช้เงินยูโรแล้ว รัฐบาลกรีซก็ใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาล โดยมีการขึ้นเงินเดือนบุคลากรภาครัฐกว่า 50 % ในช่วงปี 1999 -2007 รัฐบาลได้มีการใช้จ่ายเงินเกินตัวมาโดยตลอด และเกิดการขาดดุลงบประมาณมหาศาล จนเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลกรีซก็มีหนี้สินล้นพ้นตัว คือมีหนี้มากกว่า GDP ของประเทศเสียอีก
ต่อมาในช่วงปี 2008 เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ขึ้น ซึ่งก็ซ้ำเติมวิกฤตหนี้ของกรีซเข้าไปอีก จนในที่สุด จำนวนหนี้ก็มากขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดที่รัฐบาลไม่สามารถมีเงินพอที่จะชำระหนี้ได้ จนถึงขั้นที่จะผิดนัดชำระหนี้และถึงขั้นล้มละลาย
มาตรการกอบกู้วิกฤต
ที่ผ่านมา EU และ IMF ได้พยายามที่จะเข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซอย่างเต็มที่ ในปี 2010 EU และ IMF ได้ให้เงินกู้แก่กรีซกว่า 110,000 ล้านยูโร เพื่อให้รัฐบาลกรีซนำไปชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2011 ปรากฏว่า เงินจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอเสียแล้ว EU และ IMF จึงได้ตกลงที่จะจัดสรรเงินกู้ก้อนใหม่ให้แก่กรีซ ซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 130,000 ล้านยูโร
นอกจากนี้ได้มีการตกลงกันว่า เจ้าหนี้เอกชนจะยอมตัดหนี้หรือที่เรียกว่ามาตรการ hair cut โดยจะยกเลิกหนี้ให้ประมาณครึ่งหนึ่งของหนี้ทั้งหมด
จากมาตรการเหล่านี้ EU และ IMF ได้ตั้งเงื่อนไขให้รัฐบาลกรีซออกมาตรการรัดเข็มขัด โดยเฉพาะการตัดลดการใช้จ่ายของภาครัฐ การขึ้นภาษี และการปฏิรูประบบราชการและตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของกรีซเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ จากการประเมินขั้นต้นชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของกรีซหดตัวลงกว่า 6 % โดยเศรษฐกิจของกรีซได้ตกอยู่ในสภาวะถดถอยมากว่า 4 ปีแล้ว ดังนั้น ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ รัฐบาลกรีซจึงไม่สามารถที่จะเพิ่มรายได้ ที่จะเอามาชดใช้ชำระหนี้ได้

แนวโน้ม
สถานการณ์ล่าสุดของกรีซ แม้ว่าจะเพิ่งมีการเลือกตั้งไป แต่ก็ปรากฏว่าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ชาวกรีกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัด ดังนั้น จึงจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ คงเป็นการชี้ชะตาว่า กรีซจะเดินไปทางไหน
พรรค Syriza ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 2 ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ชูนโยบายต่อต้าน EU และ IMF และสัญญาว่า จะเจรจากับ EU และ IMF ใหม่ ซึ่งหากพรรคนี้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งใหม่และได้จัดตั้งรัฐบาล ก็มีแนวโน้มว่า กรีซคงจะพยายามเจรจาเงื่อนไขการกู้เงินจาก EU และ IMF ใหม่ แต่แนวโน้มก็คือ เยอรมันนีซึ่งมีท่าทีแข็งกราวในเรื่องนี้ คงจะไม่ยอมยืดหยุ่นในเรื่องเงื่อนไข นอกจากนี้รัฐบาลพรรค Syriza คงอาจจะหยุดการจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งก็ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และคงจะมีผลกระทบมากมายต่อความมั่นใจในระบบธนาคารของ Eurozone และอาจจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความมั่นใจของนักลงทุนที่อาจกลัวว่า ประเทศอื่นๆที่ประสบภาวะหนี้สิน อาจจะผิดนัดชำระหนี้เหมือนกรีซ ซึ่งในที่สุด หากเป็นไปใน scenario นี้   กรีซก็จะถูกขับออกจาก Eurozone
แต่หากเป็นอีก scenario หนึ่ง คือพรรคที่สนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดได้รับชัยชนะและได้จัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลดังกล่าวก็จะเดินหน้าในมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกรีซ โดยเศรษฐกิจจะถดถอยมากขึ้น รัฐบาลก็จะไม่มีเงินที่จะชำระหนี้ได้และกรีซก็คงจะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอีก แต่หากไม่มีเงินที่จะให้กู้อีกแล้ว กรีซก็คงจะต้องถอนตัวออกจาก Eurozone ในที่สุด
ผลกระทบ
การที่กรีซจะต้องออกจาก Eurozone และผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของยุโรปและเศรษฐกิจโลก กรีซจะกลายเป็นตัวอย่างที่เป็นอันตราย จะทำให้นักลงทุนมีความห่วงใยมากขึ้นว่า ประเทศที่มีภาระหนี้สินเหมือนกรีซ โดยเฉพาะอิตาลีและสเปน อาจผิดนัดชำระหนี้ตามไปด้วย ซึ่งถ้าหากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ก็อาจจะหยุดซื้อพันธบัตรของรัฐบาลเหล่านี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้รัฐบาลเหล่านี้ไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้ได้ ก็จะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ถึงแม้ว่า EU จะได้จัดตั้งกองทุน ประมาณ 700,000 ล้านยูโร เพื่อเป็น firewall ป้องกันไม่ให้วิกฤตกรีซลุกลามระบาดเข้าสู่ประเทศอื่นๆของ Eurozone ก็ตาม แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า กองทุนดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันการระบาดของวิกฤตหนี้กรีซได้หรือไม่
นอกจากนี้ สถานการณ์ของธนาคารในยุโรป ก็ง่อนแง่น โดยหากธนาคารที่ปล่อยกู้ไปจะต้องพบกับปัญหาหนี้เสียหรือ NPL ก็จะทำให้ธนาคารเหล่านี้ อ่อนแอลง และทำลายความเชื่อมั่นของระบบธนาคารทั้งในยุโรปและอาจจะขยายไปทั่วโลก สถานการณ์เช่นนี้ อาจจะทำให้ธนาคารต่างๆไม่กล้าที่จะปล่อยกู้ให้กันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตการเงินครั้งใหม่
ตัวอย่างเช่นธนาคารของฝรั่งเศสปล่อยกู้ให้กับกรีซกว่า 40,000 ล้านยูโร ธนาคารเยอรมันปล่อยกู้ให้กับกรีซประมาณ 16,000 ล้านยูโร และธนาคารอังกฤษปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลกรีซอีกเกือบ 10,000 ล้านยูโร
กล่าวโดยสรุป วิกฤตหนี้ของกรีซที่กำลังลุกลามบานปลาย กำลังจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า กำลังจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่หรือไม่ โดยยังไม่มีความแน่นอนว่า มาตรการกอบกู้วิกฤตของ EU และ IMF จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ดังนั้นโอกาสที่วิกฤตกรีซและวิกฤต Eurozone จะลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ ก็อาจจะเป็นไปได้


ไม่มีความคิดเห็น: