Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นโยบายสหรัฐฯต่อพม่า ปี 2012




ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม 2555
                ภูมิหลัง
                ในอดีต ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯต่อพม่า คือ นโยบายคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวพม่า สหรัฐฯได้ดำเนินนโยบายคว่ำบาตรต่อพม่ามาหลายปี โดยเน้นมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
                ในสมัยรัฐบาล Bush สหรัฐฯได้เดินหน้าคว่ำบาตรพม่าอย่างเข้มข้น โดยมีมาตรการอายัตทรัพย์สินและบัญชีของผู้นำทหารพม่า ห้ามทำธุรกิจกับบุคคลต้องห้าม รัฐบาล Bush ได้ตัดขาดการเจรจาและปฏิสัมพันธ์กับผู้นำทหารพม่าอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวพม่าก็ไม่ได้ผล ทั้งนี้เพราะ พม่าได้หันไปติดต่อกับประเทศอื่นแทน โดยเฉพาะกับ จีน อินเดีย รัสเซีย และประเทศอาเซียน
                ต่อมา ในสมัยรัฐบาล Obama ได้ยอมรับถึงความล้มเหลวของมาตรการคว่ำบาตรในอดีต จึงได้มีการทบทวนนโยบายต่อพม่าใหม่ โดยมีการพิจารณานโยบายปฏิสัมพันธ์แทนการคว่ำบาตร และมาตรการการให้รางวัลแทนการลงโทษ
                และในช่วงปลายปี 2009 ได้มีการประกาศนโยบายใหม่ของสหรัฐต่อพม่า ซึ่งในตอนแรก เรียกนโยบายใหม่ว่า practical engagement แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น principled engagement โดยเป้าหมายของนโยบายใหม่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ สนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า แต่นโยบายใหม่เน้นว่า สหรัฐฯควรมีเครื่องมือใหม่ หรือยุทธศาสตร์ใหม่ โดยหัวใจของยุทธศาสตร์ใหม่ คือ การเจรจาโดยตรงกับผู้นำระดับสูงของพม่า  โดยหวังว่า การเจรจาจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพม่าได้ แต่การเจรจากับพม่านั้น จะเป็นมาตรการเสริม แต่จะไม่มาแทนที่นโยบายคว่ำบาตร คือ หากการเจรจาไม่คืบหน้า สหรัฐฯก็จะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯต่อพม่า คือ ยุทธศาสตร์กึ่งปฏิสัมพันธ์ กึ่งคว่ำบาตร
                นโยบายสหรัฐฯต่อพม่า ปี 2012
                ต่อมา เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา Kurt Campbell อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงต่อสภาคองเกรสถึงนโยบายสหรัฐฯต่อพม่าล่าสุด ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
·       การปฏิรูปทางการเมือง
นับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2011 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าในเชิงบวกเกิดขึ้นหลายเรื่อง อาทิ การปล่อยนักโทษทางการเมือง การออกกฎหมายใหม่ ให้สิทธิ เสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น การเจรจายุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย
                        การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุด โดยพรรค NLD นำโดยออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า ชัยชนะของ NLD จะทำให้ออง ซาน ซูจี มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
                        โดยก่อนหน้าการเลือกตั้ง รัฐบาลพม่า ก็ได้แก้กฎหมายเลือกตั้ง ทำให้พรรค NLD ซึ่งได้ถูกยุบพรรคไปเมื่อปี 2010 สามารถส่งผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา รัฐบาลพม่า ได้เชิญผู้แทนและสื่อ ทั้งจากอาเซียน ประเทศตะวันตก และ UN เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วย
        รัฐบาลพม่าได้ปล่อยนักโทษทางการเมืองกว่า 500 คน ซึ่งถูกคุมขังอยู่นานกว่า 20 ปี และยังมีการออกกฎหมายแรงงานให้เสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และมีการทำข้อตกลงกับ ILO เพื่อขจัดการกดขี่ ขูดรีดแรงงานทุกรูปแบบ ภายในปี 2015
        ส่วนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจนั้น เกิดขึ้นควบคู่กับการปฏิรูปทางการเมือง โดยในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา พม่ามีนโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ทำให้พม่ากลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประชากรที่ยากจนถึง 1 ใน 3
·       นโยบายสหรัฐฯล่าสุด
ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ตอบสนองในเชิงบวกมากขึ้นเรื่อยๆต่อการเปลี่ยนแปลงในพม่า โดย Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยือนพม่าในช่วงปลายปีที่แล้ว ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของนโยบายปฏิสัมพันธ์ โดยในระหว่างการเยือนพม่า Clinton ได้ประกาศที่จะร่วมมือกับพม่าในการต่อต้านการค้ายาเสพติด และประกาศจะทบทวนการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ
ต่อมา ในเดือนมกราคมปีนี้ เมื่อรัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง จำนวน  250 คน สหรัฐฯได้ตอบสนองด้วยการประกาศที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูต โดยจะมีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างกัน
ในวันที่ 4 เมษายน หลังการเลือกตั้งซ่อมในพม่า Clinton ได้ประกาศจะส่งคณะ USAID กลับไปประจำการที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงย่างกุ้ง
นอกจากนี้ สหรัฐฯกำลังพิจารณาในเรื่องมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยจะมีการผ่อนปรนในเรื่องการห้ามการส่งออก และการเข้าไปลงทุนในพม่า แต่สหรัฐฯก็เน้นว่า จะดำเนินมาตรการเหล่านี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูความคืบหน้าของการปฏิรูปพม่า ซึ่งยังคงมีปัญหาอยู่อีกหลายเรื่อง โดยสหรัฐฯจะยังคงดำเนินนโยบายกึ่งปฏิสัมพันธ์กึ่งคว่ำบาตรต่อไป
·       ปัญหา
สำหรับปัญหาที่สหรัฐฯยังคงห่วงใย ยังคงมีอยู่อีกหลายเรื่อง และสหรัฐฯจะยังคงใช้ปัญหาเหล่านี้มาเป็นเงื่อนไขในการเจรจาเรื่องการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
ปัญหาแรก คือ เรื่องนักโทษทางการเมือง ซึ่งแม้จะมีการปล่อยออกมาเป็นบางส่วน แต่ก็ยังมีนักโทษทางการเมืองที่ยังถูกคุมขังอยู่อีกหลายร้อยคน สหรัฐฯจึงเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองเหล่านี้โดยทันที
ปัญหาที่ 2 คือ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกับชนกลุ่มน้อย ที่มีปัญหาหนัก คือ รัฐคะฉิ่น ซึ่งการต่อสู้และการใช้ความรุนแรงยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ ก็ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ต่อชาวโรฮิงยา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า
ปัญหาที่ 3 คือ กระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งยังคงเปราะบาง และอาจจะถอยหลังลงคลองได้
ปัญหาที่ 4 คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่า พม่าได้แอบซื้ออาวุธจากเกาหลีเหนือ
ปัญหาที่ 5 คือ เรื่องข้อกล่าวหาว่า พม่ากำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยสหรัฐฯจะกระตุ้นให้รัฐบาลพม่า มีความโปร่งใสมากขึ้นในเรื่องนี้ โดยสหรัฐฯรู้สึกยินดี ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่าได้ออกมายืนยันเมื่อเร็วๆนี้ว่า พม่าไม่มีแผนที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
กล่าวโดยสรุป การปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจในพม่าในขณะนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้สหรัฐฯและประชาคมโลกปรับเปลี่ยนท่าทีต่อพม่าไปมาก โดยนโยบายสหรัฐฯได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากนโยบายโดดเดี่ยวและคว่ำบาตรในอดีต มาเป็นนโยบายปฏิสัมพันธ์ในปัจจุบัน แต่สหรัฐฯก็ยังคงระมัดระวังที่จะไม่รีบยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า ทั้งนี้เพราะ สหรัฐฯต้องการใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือต่อรองให้รัฐบาลพม่าปฏิรูปประเทศและปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยเฉพาะใน 5 ปัญหาดังกล่าวข้างต้น
ทั้งนี้ วาระซ่อนเร้นที่ทำให้สหรัฐฯพยายามตีสนิทกับพม่า คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน ทั้งนี้เพราะ การผงาดขึ้นมาของจีนในภูมิภาค และอิทธิพลของจีนที่มีต่อพม่าในอดีต ทำให้พม่ากลายเป็นบริวารของจีน ดังนั้น วาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯต่อพม่า คือ การดึงพม่าให้หลุดออกมาจากการเป็นบริวารของจีน โดยพยายามเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับพม่ามากขึ้น เพื่อถ่วงดุลจีนและแข่งกับอิทธิพลของจีนในพม่านั่นเอง





ไม่มีความคิดเห็น: