Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2012 : ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่ 3)



ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ฉบับวันที่ 19 เมษายน 2555
 
                ขณะนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯลงตัวแล้ว โดยหลังจากที่ Rick Santorum ได้ประกาศถอนตัว จึงทำให้ Mitt Romney จะได้เป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ที่จะชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯกับ Barack Obama ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ประเด็นสำคัญที่จะกระทบต่อโลก คือ ทั้ง 2 คนมีแนวนโยบายต่างประเทศต่างกันอย่างไร คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าว และใครจะเป็นต่อ เป็นรอง อย่างไร ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ ในการหาเสียงในครั้งนี้ ดังนี้
                การก่อการร้าย
                แม้ว่าประเด็นเรื่องการก่อการร้ายสากล จะไม่ได้กลายเป็นประเด็นหลักเหมือนกับการเลือกตั้งในปี 2004 แล้วก็ตาม แต่ภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ยังเป็นเรื่องสำคัญต่อชาวอเมริกัน รองลงมาจากเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะเป็นประเด็นหลักในการเลือกตั้งครั้งนี้
                Obama ดูจะเป็นต่อ Romney ในเรื่องนี้ ทั้งนี้ เพราะเมื่อปีที่แล้ว Osama Bin Laden ได้ถูกสังหาร และที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาล Obama ก็ไม่มีการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ แม้ว่า จริงๆแล้ว Obama ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมายนัก แต่กลับจะล้มเหลวเสียด้วยซ้ำ ในเรื่องการแก้ปัญหาการก่อการร้าย แต่ไม่ว่า ความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร การเลือกตั้งจะถูกชี้ขาดด้วยความรู้สึกของชาวอเมริกัน โดย 63% ของชาวอเมริกัน เห็นด้วยกับนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของ Obama ดังนั้น ในสายตาของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ มีความเชื่อว่า Obama ประสบความสำเร็จ และได้แสดงความเป็นผู้นำ และทำให้อเมริกาปลอดภัยจากการก่อการร้าย
                ดังนั้น Romney จึงคงจะมีความยากลำบากที่จะโจมตี Obama ในเรื่องนี้
                สงคราม
                ตามปกติแล้ว ประธานาธิบดีที่มาจากพรรคเดโมแครต มักจะถูกผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันโจมตีว่า มีนโยบายต่างประเทศที่ทำให้สหรัฐฯอ่อนแอ โดยเฉพาะในสมัย Obama ได้ถอนทหารออกจากอิรัก และกำลังจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน แต่สถานการณ์การเลือกตั้งในปีนี้ กลับไม่เหมือนในอดีต โดยชาวอเมริกันส่วนใหญ่ สนับสนุน Obama ในการถอนทหารออกจากอิรักและอัฟกานิสถาน
ในกรณีของอัฟกานิสถาน ซึ่ง Obama ประกาศจะถอนทหารออกมาภายในปี 2014 ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็ต้องการให้ถอนทหารออกมาทันที โดยกว่า 60% ของชาวอเมริกันเชื่อว่า สงครามอัฟกานิสถานไม่คุ้มค่า นับเป็นความสามารถของ Obama ที่สามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ โดยจริงๆแล้ว Obama ล้มเหลวในสงครามอัฟกานิสถาน แต่กลับไม่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายนักจากชาวอเมริกัน
แต่กลับกลายเป็นว่า การถอนทหารออกจากทั้งอิรักและอัฟกานิสถาน กลายเป็นความสำเร็จของ Obama มิหนำซ้ำ Obama ได้เริ่มรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โดยโจมตี Romney ที่ได้เคยประกาศว่า การถอนทหารออกจากอิรักเป็นนโยบายที่ผิดพลาด กลายเป็น Romney ตกเป็นฝ่ายรับ และ Obama เป็นฝ่ายรุก โดยหาก Romney วิจารณ์ Obama ว่า ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานเร็วเกินไป ก็จะมีคำถามตามมาว่า Romney ต้องการที่จะคงกองกำลังทหารในอัฟกานิสถานต่อไปใช่หรือไม่ ซึ่งหากตอบว่าใช่ ก็จะเป็นการสวนกระแสความเห็นส่วนใหญ่ของชาวอเมริกัน
                ดังนั้น ประเด็นเรื่องสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน Obama ก็เป็นต่อ Romney
                ผู้นำนโยบายต่างประเทศ
                ในอดีต รีพับลิกันจะพยายามชูประเด็นว่า ประธานาธิบดีจากพรรคใดจะสามารถสร้างความเป็นผู้นำในด้านการต่างประเทศให้กับสหรัฐฯ ที่ผ่านมา คำตอบจากชาวอเมริกัน คือ พรรครีพับลิกัน
                แต่สำหรับในปีนี้ สถานการณ์ได้แตกต่างจากในอดีต โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน ของ ABC News และ Washington Post พบว่า ชาวอเมริกันมองว่า Obama เป็นต่อ Romney อยู่ถึง 27% ในประเด็นเรื่องการจัดการปัญหาระหว่างประเทศ ชาวอเมริกันยังมองว่า Obama เป็นผู้นำที่แข็งแกร่งกว่า Romney แม้ว่า รีพับลิกันจะพยายามโจมตี Obama ว่าล้มเหลวในด้านการต่างประเทศ เหมือนกับ Jimmy Carter ในอดีต แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
                อย่างไรก็ตาม Romney ก็ยังคงเดินหน้าโจมตี Obama ต่อไปว่า ทำให้อเมริกาอ่อนแอ โดยพยายามตอกย้ำว่า หากเขาเป็นประธานาธิบดี เขาจะไม่เดินสายและประกาศขอโทษต่อชาวโลก เหมือนกับที่ Obama เคยทำ ในช่วง 7 เดือนข้างหน้า เราคงจะเห็น Romney เดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์ของรีพับลิกันที่ใช้มาโดยตลอด คือ การตอกย้ำว่า พรรครีพับลิกันจะทำให้อเมริกาแข็งแกร่ง และพรรคเดโมแครตจะทำให้อเมริกาอ่อนแอ Romney หวังว่า จะรื้อฟื้นความเชื่อเก่าๆ ที่มองว่า เดโมแครตทำให้อเมริกาอ่อนแอ
แต่ความยากลำบากของ Romney คือ เขากำลังเผชิญกับคู่แข่งที่ไม่เหมือนประธานาธิบดีที่มาจากพรรคเดโมแครตในอดีต ที่มักจะถูกโจมตีว่า ทำให้อเมริกาอ่อนแอ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่า Obama เป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ จุดอ่อนอีกประการของ Romney คือ ตัวเขาเองก็ขาดพื้นความรู้และประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ
                อิหร่าน
                อย่างไรก็ตาม มีอยู่ 2 เรื่องที่ Romney ดูจะได้เปรียบ Obama คือ เรื่องอิหร่านและนโยบายต่อจีน
                การป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์นั้น เป็นเรื่องยาก  Romney จึงได้ฉวยโอกาสโจมตี Obama มาโดยตลอดว่า ล้มเหลว Romney ถึงกับประกาศกร้าวว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี อิหร่านจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่หาก Obama ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีก อิหร่านก็จะมีอาวุธนิวเคลียร์ Romney อยู่ในสถานะได้เปรียบ เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาล จึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ Obama ได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ Obama ก็ได้แต่เพียงประกาศนโยบายต่ออิหร่าน ซึ่งมีลักษณะกว้างๆและกำกวม จึงเปิดโอกาสให้กับ Romneyในการฉวยโอกาสโจมตี Obama ในเรื่องนี้อย่างเต็มที่
                จีน
                อีกเรื่องหนึ่งที่ Romney เป็นต่อ Obama คือ นโยบายสหรัฐฯต่อจีน โดยขณะนี้ สังคมอเมริกันกำลังมีแนวโน้มในการต่อต้านจีน และมีนโยบายในการเล่นงานจีน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า China Bashing จีนกำลังกลายเป็นแพะรับบาป และถูกกล่าวหาว่า เป็นต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ Romney จึงได้ฉวยโอกาสหาเสียงเลือกตั้งโจมตีจีนมาโดยตลอด โดยกล่าวหาว่า จีนกำลังทำลายระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และทำลายอนาคตของสหรัฐฯ และว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะยุติความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ที่ให้รางวัลจีนที่โกงสหรัฐฯ แต่กลับลงโทษบริษัทและคนงานอเมริกัน
                และนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ Romney ได้เปรียบ ที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล จึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ได้ ในขณะที่ Obama ไม่สามารถเล่นตามกระแสต่อต้านจีนได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯที่อาจได้รับผลกระทบได้
                ดังนั้น Obama จึงเสียเปรียบ Romney ในเรื่องนโยบายต่อจีน โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังอยู่ในภาวะถดถอย กระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจก็เพิ่มสูงขึ้นมากในหมู่ชาวอเมริกัน Romney จึงได้ฉวยโอกาสจากกระแสดังกล่าวในการหาเสียง ที่จะใช้ไม้แข็งต่อจีน ซึ่งเขาก็พยายามโยงไปด้วยว่า นโยบายไม้แข็งต่อจีน จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯดีขึ้นได้ ซึ่งก็เข้าทางชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ที่ขณะนี้มองว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้



ไม่มีความคิดเห็น: