Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ปี 2020



ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 
ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม 2555

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์อาเซียนกับสหรัฐในปี 2030 โดยในตอนแรก จะวิเคราะห์ว่า อาเซียนปี 2030 จะมีลักษณะอย่างไร และสหรัฐจะมียุทธศาสตร์รองรับอย่างไร และอาเซียนจะมียุทธศาสตร์อย่างไรต่อสหรัฐ
อาเซียนในปี 2030
                ปัจจุบัน อาเซียนเป็นตลาดใหญ่ของสหรัฐ โดยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ4 มูลค่าการลงทุนของสหรัฐในอาเซียนมีมูลค่าเกือบ 3 เท่าของการลงทุนในจีน และกว่า 9 เท่าของการลงทุนในอินเดีย อย่างไรก็ตาม สหรัฐได้สูญเสีย market share ในอาเซียน จาก 20 % ในปี 1998 เหลือเพียง 9% ในปี 2010
                ในปี 2030 อาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 6.5 ล้านล้านเหรียญ ADB ได้คาดการณ์ว่าในปี 2030 ประชากรในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านคน และอาเซียนจะกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก
                นอกจากนั้นในปี 2030 อาเซียนก็คงจะวิวัฒนาการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่า อาเซียนอาจจะก้าวข้ามการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปเป็นสหภาพเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว
                ปี 2030 คาดว่า อาเซียนจะกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยมีอาเซียนเป็นแกนและมีกรอบความร่วมมือต่างๆล้อมรอบอาเซียน ทั้งอาเซียน+1 อาเซียน +3  และ East Asia Summit
                โดยที่อาเซียนไม่ได้เป็นมหาอำนาจซึ่งต่างจากบทบาทของ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐ มหาอำนาจต่างๆจึงยอมให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรม ที่ผ่านมา อาเซียนมี FTA กับมหาอำนาจต่างๆ (ยกเว้น สหรัฐ) อาเซียนได้กลายเป็นศูนย์กลางของบูรนาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยง ( connectivity) และโครงสร้างพื้นฐาน โดยในปี 2030 การเชื่อมต่อทางด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมขนส่ง คงจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น  โดยมีความเป็นไปได้ว่า เราจะสามารถขับรถจากกรุงจาการ์ตาไปกรุงปักกิ่งได้ และเป็นไปได้ว่า East-West Corridor and North-South Corridor คงจะคืบหน้าไปมาก ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้าน logistics และการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค
                สำหรับสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค ในปี 2030 ก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาทางทหารของจีนและอินเดีย ซึ่งอาจจะมีงบประมาณทางทหารสูงถึงกว่าล้านล้านเหรียญ นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางทหารของจีนและอินเดียก็คงจะก้าวหน้าไปมาก อาเซียนเองก็คงจะพยายามเพิ่มบทบาทในด้านความมั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และขยายความร่วมมือทางทหารของอาเซียน เพื่อพยายามถ่วงดุลอำนาจทางทหารกับมหาอำนาจอื่นๆ
                ยุทธศาสตร์ของสหรัฐ
                จากแนวโน้มดังกล่าว Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS ซึ่งเป็น think tank สำคัญของสหรัฐ ได้เขียนบทวิเคราะห์แนวโน้มดังกล่าวและได้เสนอว่า สหรัฐควรมียุทธศาสตร์ใหม่เพื่อรองรับ อาเซียน 2030 โดยมองว่า ขณะนี้สหรัฐไม่มีกรอบความร่วมมือทางการค้ากับอาเซียนชัดเจน สหรัฐกำลังผลักดัน FTA ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP อย่างไรก็ตาม TPP มีประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมเพียง 4 ประเทศ คือ เวียนนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน โดย TPP กำหนดไว้ว่า สมาชิกจะต้องเป็นสมาชิก APEC แต่โดยที่ลาว พม่า และกัมพูชาไม่ได้เป็นสมาชิก APEC จึงไม่สามารถเข้าร่วม TPP ได้ นอกจากนี้ สหรัฐก็ไม่ได้เป็นผู้เล่นสำคัญในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ผิดกับในอดีต โดยเฉพาะในสมัยสงครามเย็น ที่บริษัทก่อสร้างสหรัฐมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ปัจจุบัน บริษัทสหรัฐจะมีบทบาทโดดเด่นในด้าน soft infrastructure เท่านั้น คือด้านสารสนเทศ ธนาคาร และระบบการเงิน  CSIS จึงเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐจะต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ต่อภูมิภาคโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านการค้า
                อย่างไรก็ตาม สหรัฐยังมีจุดแข็งทางด้านการทหารและความมั่นคง โดยในช่วงที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียได้ให้ความสำคัญต่อบทบาททางทหารของสหรัฐมากขึ้น ปัจจัยสำคัญคือ การผงาดขึ้นมาของจีนทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้จีนเริ่มมีนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวและก้าวร้าวมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย อาทิ กรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้หลายประเทศเริ่มไม่ไว้ใจจีน จึงพยายามดึงสหรัฐเข้ามาในภูมิภาคเพื่อถ่วงดุลจีน อย่างไรก็ตาม ในปี 2030 อำนาจทางทหารของจีนจะเพิ่มขึ้นมาก CSIS จึงได้เสนอว่าสหรัฐจะต้องรีบลงทุนในการสร้างกรอบความมั่นคงในภูมิภาคใหม่ โดยการขยายและกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วภูมิภาค
CSIS ย้ำว่า สหรัฐจะต้องรีบลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน โดยจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์และแนวคิดใหม่ๆสำหรับยุทธศาสตร์ต่ออาเซียนในอนาคต
ข้อเสนอยุทธศาสตร์อาเซียนต่อสหรัฐ
                จากการวิเคราะห์แนวโน้มอาเซียนในปี 2030 ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาเซียนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นตัวแสดงสำคัญในเวทีภูมิภาค และในเวทีโลก ผมมองว่า อาเซียนจะผงาดขึ้นมาเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค อำนาจการต่อรองของอาเซียนจะมีมากขึ้น โดยสถาปัตยกรรมในภูมิภาคน่าจะมีลักษณะเป็นระบบลูกผสม ที่เป็นการเหลื่อมทับกันระหว่างระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ที่มีสหรัฐเป็นแกนกลางของระบบ กับระบบหลายขั้วอำนาจ ที่จะมีจีนกับอินเดียผงาดขึ้นมา และระบบพหุภาคี ที่จะมีอาเซียนเป็นแกนกลางของระบบ ดังนั้นยุทธศาสตร์อาเซียนต่อสหรัฐจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบในอนาคตที่จะมีลักษณะเป็นลูกผสม โดยยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนต่อสหรัฐคือ จะต้องดึงสหรัฐให้ปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน เพื่อให้ระบบที่มีสหรัฐเป็นแกน กับระบบที่มีอาเซียนเป็นแกน อยู่คู่กันได้ ขณะเดียวกัน อาเซียนก็ควรดึงสหรัฐมาถ่วงดุลการผงาดขึ้นมาของจีน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบบหลายขั้วอำนาจ ซึ่งในระบบหลายขั้วอำนาจ มหาอำนาจจะเป็นตัวแสดงหลัก ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน แต่อาเซียนก็ต้องระมัดระวังในการปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐ โดยจะต้องไม่เผลอที่จะให้สหรัฐฉวยโอกาสครอบงำสถาปัตยกรรมในภูมิภาคแต่เพียงผู้เดียว
                ผมขอสรุปยุทธศาสตร์ของอาเซียนต่อสหรัฐ (ซึ่งก็จะเป็นยุทธศาสตร์อาเซียนต่อมหาอำนาจอื่นๆด้วย) ดังนี้
·       ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนคือ ยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์บวกกับยุทธศาสตร์การถ่วงดุลอำนาจในลักษณะ soft balancing
·       อาเซียนต้องสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆในลักษณะที่มีดุลยภาพโดยไม่ใกล้ชิดกับมหาอำนาจหนึ่งมหาอำนาจใดมากเกินไป
·       อาเซียนจะต้องมีเอกภาพในการกำหนดท่าทีต่อสหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆ ในอดีต อาเซียนมักจะถูกแบ่งแยกและปกครองมาโดยตลอด และอาเซียนมักจะมีท่าทีที่แตกแยกและขัดแย้งกัน
·       ต้องผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยดึงสหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆเข้ามาในเวทีอาเซียนอย่างสมดุล ทั้งในกรอบ อาเซียน+1 อาเซียน+3 และ EAS
·       สำหรับยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์หลักคือ การทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเน้นทำ FTA กับสหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะในกรอบ อาเซียน +1 อาเซียน +3 และ EAS โดยอาเซียนจะต้องพยายามป้องกันไม่ให้สหรัฐขยายบทบาทของ TPP ซึ่งจะมาแข่งกับ FTA ของอาเซียน
·       สำหรับบทบาทของไทยในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐนั้น ไทยจะต้องผลักดันให้สหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆใช้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน และเป็น hub หรือศูนย์กลางของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้สหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของ ASEAN Connectivity โดยไทยจะเป็นศูนย์กลางทางด้าน logistics การคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน

ไม่มีความคิดเห็น: