Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การประชุมสุดยอด BRICS ที่อินเดีย (ตอนที่ 1)

การประชุมสุดยอด BRICS ที่อินเดีย (ตอนที่ 1)

 คอลัมน์โลกปริทรรศน์
 8 เมษายน 2555

               BRICS เป็นตัวย่อมาจากชื่อของ 5 ประเทศ ได้แก่ Brazil, Russia, India, China และ South Africa โดย 5 ประเทศนี้เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ และได้พยายามรวมกลุ่มกันในชื่อ BRICS เพื่อที่จะมาแข่งกับมหาอำนาจตะวันตก ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดครั้งที่ 3 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว และบทบาทของกลุ่ม BRICS ในระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก ดังนี้

              Delhi Declaration การประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้มีการจัดทำเอกสารผลการประชุม เรียกว่า Delhi Declaration หรือปฏิญญาเดลี โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
 • เศรษฐกิจโลก
               การกำหนดท่าทีร่วมในประเด็นปัญหาเศรษฐกิจโลก ถือเป็นเรื่องหลักของ BRICS ที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เป็นผลมาจากวิกฤต Eurozone และผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางของประเทศตะวันตกได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดสภาวะเงินทุนไหลทะลักเข้าสู่เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ และเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ที่ประชุมมองว่า ประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องกำหนดนโยบายการเงินที่มีความรับผิดชอบ ป้องกันการไหลทะลักของเงินทุนเข้าสู่เศรษฐกิจเกิดใหม่ ปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจังด้วย
                BRICS ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างเป็นธรรม โดยเพิ่มบทบาทให้กับประเทศกำลังพัฒนา และมองว่า กระบวนการในการปฏิรูป IMF นั้นช้ามาก ที่ประชุมสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนา เสนอชื่อตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนา เป็นประธานธนาคารโลกคนใหม่ และย้ำว่า การเลือกผู้อำนวยการ IMF และประธานธนาคารโลก ควรเปิดกว้างและตั้งอยู่บนหลักการของระบบคุณธรรม (merit system) BRICS มองว่า ขณะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเพิ่มเม็ดเงินการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนา ที่ประชุมได้พิจารณาความเป็นไปได้ ที่จะจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ของ BRICS ขึ้นมาใหม่ โดยได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคลังไปศึกษาความเป็นไปได้ จัดตั้งคณะทำงาน และรายงานผลการศึกษาให้ที่ประชุมสุดยอดครั้งหน้าพิจารณา
• ความมั่นคงโลก
              สำหรับในปัญหาด้านความมั่นคงโลกนั้น BRICS ได้แสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ในซีเรีย
โดยได้เรียกร้องให้มีการยุติปัญหาโดยสันติวิธี และให้ทุกฝ่ายในซีเรียหารือกัน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพอำนาจอธิปไตยของซีเรีย
              ส่วนในประเด็นปัญหาเรื่องอิหร่านนั้น BRICS แสดงจุดยืนว่า ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้ง โดยยืนยันถึงสิทธิอันชอบธรรมของอิหร่าน ที่จะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ และสนับสนุนแก้ปัญหาอิหร่านด้วยวิถีทางทางการทูต ด้วยการหารือระหว่างฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ประเด็นปัญหาความมั่นคงอีกเรื่องหนึ่ง คือ การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคง หรือ UNSC โดยจีนและรัสเซียได้ย้ำถึงความสำคัญและบทบาทที่เพิ่มขึ้นใน UN ของบราซิล อินเดีย และอัฟริกาใต้
 • ภาวะโลกร้อน
               สำหรับประเด็นปัญหาภาวะโลกร้อนนั้น ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของการประชุมภาวะโลกร้อนที่อัฟริกาใต้ ในช่วงเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว BRICS พร้อมที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยตั้งอยู่บนหลักการของความเท่าเทียมกัน และความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน BRICS มองว่า การแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องมีลักษณะยั่งยืนและครอบคลุม แต่จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา โดย BRICS ได้เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้ว ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือต่อประเทศกำลังพัฒนา ในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนดังกล่าว
 (โปรดอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์โลกปริทรรศน์ตอนหน้า ในวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2555)

ไม่มีความคิดเห็น: