ประเมินนโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์ในรอบ 1 ปี
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม 2552
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ ซึ่งเป็นตอนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมจึงขอถือโอกาสประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในรอบ 1 ปี ดังนี้
ในภาพรวม ก็โอเค สำหรับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ว่า ก็ไม่ถึงกับมีอะไรโดดเด่น ไม่มีอะไรที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงให้เห็น แต่ก็ไม่ถึงกับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ก็จะมีปน ๆ กันไป มีทั้งเรื่องที่สำเร็จและบางเรื่องที่ดูล้มเหลว
ความสำเร็จ
เริ่มจากที่ประสบความสำเร็จก่อน เรื่องที่ประสบความสำเร็จ น่าจะเป็นเรื่องของการจัดประชุมที่ไทยเป็นประธานอาเซียน จัดประชุมสุดยอดไป 2 ครั้ง ประชุมครั้งที่ 14 ที่ชะอำ-หัวหิน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ อันนี้เป็นผลงานที่ออกมาดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบ ผลการประชุม เนื้อหาของการประชุม ทุกอย่างออกมาดีหมด ผมให้ A สำหรับการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
อีกครั้งหนึ่งที่จัดต่อมา คือ ในเดือนตุลาคมที่เป็นการประชุมสุดยอดครั้งที่ 15 ครั้งนี้ดูเหมือนจะแผ่วลงไป ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องโดดเด่น อันนี้ให้เกรด B แต่อันที่ล้มเหลวที่ประชุมที่พัทยานั้น ผมจะเก็บเอาไว้ก่อน แต่ตรงนี้ เอาเรื่องในแง่ของความสำเร็จก่อนละกันนะครับ
อีกจุดหนึ่งที่ผมมองว่า ค่อนข้างโดดเด่น แต่ไม่ใช่ที่ตัวรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่เป็นที่ตัวนายกรัฐมนตรี ในการเล่นบทบาทด้านต่างประเทศ ที่ผมเห็นรัฐบาลพยายาม โดยเฉพาะนายกอภิสิทธิ์ ที่พยายามเดินทางเข้าร่วมในการประชุมต่าง ๆ ในระดับโลกหลายการประชุม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสหประชาชาติในเดือนกันยายน ก็ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ เป็นตัวแทนในฐานะประธานอาเซียน เข้าร่วมการประชุม G20 ที่ลอนดอน และที่พิตต์สเบิร์ก และยังเข้าร่วมการประชุมในอีกหลายเวที ถ้าผมจำไม่ผิด คือ การประชุม World Economic Forum และในฐานะประธานอาเซียน เป็นประธานการในการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯครั้งแรก ที่สิงคโปร์ เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งการเข้าร่วมประชุมภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนด้วย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ตรงนี้ก็ประสบความสำเร็จพอควร ที่ทำให้ไทยชูบทบาทในระดับโลกได้เหมือนกัน ในการที่คุณอภิสิทธิ์ได้ไปเข้าร่วมในหลาย ๆ การประชุม แต่ว่า ก็ได้ระดับหนึ่ง คือว่าเราไปเข้าร่วมประชุม แต่ก็ไม่มีบทบาทอะไรที่ถือว่าโดดเด่น ซึ่งผมดูแล้ว ยังไม่ถึงจุดนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่สอง
เรื่องที่สามคือ ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศต่างๆ อย่างประเทศเพื่อนบ้าน อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ไทยกับมาเลเซีย กับลาว กับเวียดนาม ก็ดูโอเค ไม่มีปัญหาอะไร ถือว่าไปได้ ผมว่ากับลาวและเวียดนาม ดูเหมือนจะเสมอตัว ไม่มีอะไรที่ดูเด่นขึ้นมา แต่กับมาเลเซีย ก็ดูจะดีขึ้นนิดหนึ่ง ตอนที่ผู้นำมาเลเซียเดินทางมาเยือนไทย มีการตกลงกันได้หลายเรื่อง ซึ่งผมรู้สึกว่า ความสัมพันธ์ก็กระชับดีขึ้น ในแง่ของไทยกับมาเลเซีย
ส่วนกับประเทศมหาอำนาจ ธรรมดา เราก็ไม่ค่อยมีปัญหากับประเทศมหาอำนาจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกับสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เพราะฉะนั้น ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เดินหน้าต่อในการกระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเหล่านี้ มีที่เป็น highlight หน่อย ก็ตอนที่ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางมาเยือนไทย และพบกับนายกอภิสิทธิ์ และไปประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่ไทยเป็นประธานที่ภูเก็ต ก็ทำให้ไทยดูดีขึ้น แต่ก็น่าเสียดาย ที่ความพยายามของเราไม่ประสบความสำเร็จที่จะให้ Obama มาเยือนไทย คือเขามาได้แค่สิงคโปร์ ส่วนกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความสำเร็จ
ความล้มเหลว
ตอนนี้ เราจะมาดูในเรื่องของความล้มเหลวบ้าง ผมมองว่า ในภาพรวมแล้ว นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งผมคาดหวังว่า น่าจะมีนโยบายที่เป็นเชิงรุกมากกว่านี้ น่าจะมีการนำเสนอความคิดใหม่ ๆ ความคิดริเริ่มเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่เป็นเชิงรุกมากกว่านี้ แต่ที่ผ่านมา เป็นในเชิงรับมากกว่า คือว่า เขามีประชุม เราก็ไปประชุมกับเขา ตามกระแสไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง รัฐบาลอภิสิทธิ์น่าจะมีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกมากกว่านี้
มาถึงในเรื่องที่ล้มเหลว ที่ล้มเหลวที่สุด คือ ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาทุกอย่าง แย่ลงหมด ทั้งเรื่องเขาพระวิหาร เรื่องฮุนเซน ทักษิณ อะไรต่ออะไร วุ่นวายไปหมด จนมาถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ก็ยังแย่อยู่ ซึ่งเป็นความล้มเหลวของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โจทย์ใหญ่ของไทย คือ เราจะทำอย่างไรที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตรงนี้เป็นการบ้านที่ทำยากมาโดยตลอด ในตอนหลังก็แย่ลงกว่าเดิมอีก
ในการประเมินมาตรการตอบโต้ที่ค่อนข้างรุนแรงต่อฮุนเซน อันนี้ก็พูดยากเหมือนกัน ในเรื่องของการตัดสินใจที่ล่อแหลม เหมือนกับว่า ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าเราใช้ไม้แข็ง ใช้ไม้เรียวตี และก็หวังว่าเขาจะยอม แต่มีอีกวิธีหนึ่ง ถ้าใช้วิธีให้รางวัล เอาขนมล่อ ก็อาจจะได้ผลดีกว่า ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้ carrot หรือ stick แต่ว่าเราก็เลือกใช้ stick ใช้มาตรการลงโทษ คือ การเรียกทูตกลับ ยุติการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ยกเลิก MOU และหวังว่า เขาจะยอม เขาจะถอย ซึ่งเขาก็ไม่ถอย และในที่สุด ก็ไม่ได้ผล ซึ่งก็กลายเป็นดาบสองคม มาตรการพวกนี้ มันอันตราย
แต่ผมก็เห็นใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือวิเคราะห์ลำบากว่า ตกลง ฮุนเซนเขาทำทั้งหมดไปเพื่ออะไร เราไม่รู้ว่า สาเหตุที่แท้จริงของเขา คืออะไร เขาไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลก่อน ๆ deal ด้วยง่ายกว่า แต่ในที่สุด ก็ต้องกลับมาดูในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติของเรา ถ้าเป็นผลประโยชน์ของเรา เราก็ไม่จำเป็นต้องไปยอมเขา ถ้ารัฐบาลชุดนี้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศเรา และทำให้เขาไม่พอใจ ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ และผมก็คิดว่า รัฐบาลชุดนี้มีความโปร่งใสพอ ในเรื่องของนโยบายต่างประเทศและผลประโยชน์แห่งชาติ แต่ว่า มันก็เป็นดาบสองคม ที่เราไปแข็งกับเขา ซึ่งก็ทำให้เขาไม่พอใจ และก็เลยตีรวน
อีกเรื่องหนึ่ง คือ ความสัมพันธ์ไทยกับพม่า ผมว่า ความสัมพันธ์ไทยกับพม่าในปัจจุบัน ดูเงียบ ๆ ไป ดูไม่มีความกระชับแน่นแฟ้น ซึ่งอาจจะโยงไปถึงเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน นางอองซาน ซูจี ซึ่งนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ก็ค่อนข้างจะแข็งในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และอาจจะทำให้รัฐบาลทหารพม่า ไม่ค่อยชอบรัฐบาลชุดนี้
เรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ถ้าเราจะเลือกที่จะเป็นพลเมืองโลกที่ดี บางทีก็อาจทำให้เรากลายเป็นเพื่อนบ้านที่ไม่ดี โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็เลยกลายเป็นแบบนี้
และนอกจากเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านแล้ว คือ เรื่องการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ล่ม ที่พัทยา ผมคิดว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทำให้โอกาสของไทยในการที่เป็นประธานอาเซียนสูญเสียไป ทำให้ไทยเสียชื่อมาก ทำให้ credit ของประเทศเสียหายมาก เราจึงเปลี่ยน “โอกาส” ให้กลายเป็น “วิกฤต” ไปซะ
เรื่องที่หนึ่งคือ ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องที่สองคือ การประชุมล่มที่พัทยา ที่ผมมองว่าเป็นความล้มเหลว เรื่องที่สาม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบทบาทไทยในเวทีโลก และในเวทีต่าง ๆ ถึงแม้ว่า นายกอภิสิทธิ์จะไปประชุมที่โน่นที่นี่ แต่บทบาทของไทยก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร เหมือนกับเราไปเป็นตัวประกอบ เล่นเดินตามเกมเขา เราควรจะมียุทธศาสตร์เตรียมไป ที่จะทำให้บทบาทไทยโดดเด่นขึ้นมา
ส่วนความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ก็ไม่มีอะไรที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ เช่น อัฟริกา ยุโรป ตะวันออกลาง ลาตินอเมริกา ที่อยู่ไกลออกไป ภูมิภาคเหล่านี้ เราควรจะต้องมีนโยบายในเชิงรุกด้วย แต่เราก็บุกไม่พอ
นี่เป็นทั้งหมดที่ผมได้ประเมิน สรุปนะครับ ถ้าผมจะให้เกรดก็คือ ประมาณ B หรืออาจจะต่ำกว่า B นิดหน่อย เป็น C+B- อะไรทำนองนี้
ข้อเสนอแนะ
สำหรับข้อเสนอของผม ต่อนโยบายต่างประเทศของไทยในปี 2553 คือ “นโยบายในเชิงรุก” คือ ต้องเป็นนโยบายในเชิงรุกในเรื่องของบทบาทไทยในอาเซียน บทบาทไทยในเวทีต่าง ๆ นโยบายในเชิงรุกในเรื่องที่ต้องปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่นโยบายต่างประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ คือ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และก็กับมหาอำนาจ ก็ต้องมีนโยบายในเชิงรุกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น