Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งแรกที่สิงคโปร์

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งแรกที่สิงคโปร์
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2552

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งแรกขึ้นที่สิงคโปร์ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ เพราะในอดีตไม่เคยมีการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯเลย คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะได้สรุปและวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ภาพรวม

การประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งแรกมีขึ้นที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน โดยนายกรัฐมนตรีของไทย คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานอาเซียนได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมร่วมกับ Barack Obama ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และมีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมผลการประชุมออกมา ซึ่งสาระสำคัญของผลการประชุมในภาพรวมมีประเด็นเหล่านี้

· ทั้ง 2 ฝ่าย พอใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ- อาเซียน ที่ได้มีมายาวนานกว่า 32 ปี โดย
เอกสารสำคัญ คือ Joint Vision Statement on ASEAN- US Enhanced Partnership ซึ่งได้จัดทำขึ้นในปี 2005 และต่อมาในปี 2006 ได้มีการจัดทำ Plan of Action หรือ แผนปฏิบัติการ

· ที่ประชุมได้ตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน ด้วยการจัดตั้งกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง
ภาษาอังกฤษ เรียกว่า ASEAN –US Eminent Persons Group

· ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มปฏิสัมพันธ์ใหม่กับ
อาเซียน ฝ่ายผู้นำอาเซียนก็ยินดีที่สหรัฐฯ ได้ภาคยานุวัติกับสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperation : TAC) การแต่งตั้งทูตสหรัฐฯ ประจำอาเซียน (ซึ่งถือเป็นคู่เจรจาประเทศแรกที่แต่งตั้งทูตประจำอาเซียน) และสหรัฐฯกำลังจะเปิดสำนักงานของสหรัฐฯ ประจำอาเซียนที่จาการ์ตา

· ทั้งสองฝ่าย มีวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่จะต้องครอบคลุม
(inclusive) ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันในการสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยได้ตอกย้ำความสำคัญของอาเซียนในการเป็นแกนกลางของกระบวนการดังกล่าว

ความมั่นคง

สำหรับความร่วมมือในด้านความมั่นคงนั้น ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน –สหรัฐฯ ได้ตกลงกันในประเด็นเหล่านี้

· สหรัฐฯให้ความสนใจต่อการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน + ( ASEAN Defense
Ministers Meeting – Plus : ADMM+) และทางรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ต้องการจะหารือกับฝ่ายอาเซียนเกี่ยวกับกระบวนการ ADMM+ ( ADMM+ คือการที่รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนจะหารือกับประเทศคู่เจรจานั่นเอง)

· ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันมากขึ้นในการต่อต้านการก่อการร้ายสากลภายใต้กรอบ
ปฏิญญาร่วมที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ASEAN – US Joint Declaration for Cooperation to Combat International Terrorism

· ทั้งสองฝ่ายเชื่อว่า การจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South
East Asia Nuclear Weapons Free Zone : SEANWFZ ) จะช่วยนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์และป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น จึงจะกระตุ้นให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ภาคยานุวัติกับสนธิสัญญา SEANWFZ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯด้วย

พม่า

ผู้นำอาเซียนยินดีที่สหรัฐฯได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า
และหวังว่า นโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองในพม่า สำหรับการเลือกตั้งในปี 2010 นั้น จะต้องเป็นการเลือกตั้งที่มีเสรี บริสุทธิ์ ยุติธรรมและโปร่งใส เพื่อที่จะทำให้การเลือกตั้งได้รับความเชื่อมั่นจากประชาคมระหว่างประเทศ ที่ประชุมจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าดำเนินการดังกล่าว และยังได้ให้การสนับสนุนบทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติในกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า

เศรษฐกิจ

สำหรับความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจนั้น ที่ประชุมยินดีที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ กระชับแน่นแฟ้นกันมากขึ้น การค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยตัวเลขการค้าในปี 2008 มีมูลค่าถึง 178,000 ล้านเหรียญ และการลงทุนของสหรัฐฯในอาเซียนมีมูลค่า 153,000 ล้านเหรียญ

ทั้งสองฝ่ายต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยผ่านทางกรอบความตกลงที่เรียกว่า ASEAN –US Trade and Investment Framework Arrangement (ASEAN- US TIFA)

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ได้มีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีคลังอาเซียนกับรัฐมนตรี
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่สิงคโปร์

และทางฝ่ายสหรัฐฯได้เสนอที่จะให้มีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีพลังงานของสหรัฐฯ กับ
รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ในปี 2010 เพื่อร่วมมือกันในเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก

นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะสนับสนุนอาเซียนในการบรรลุเป้าหมาย Millennium Development Goals (MDG) และมีความร่วมมือในกรอบใหม่ที่เรียกว่า US-Lower Mekong Initiative โดยได้ตกลงที่จะประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างสหรัฐ ฯกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง 5 ประเทศ (ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) เป็นประจำทุกปี

บทวิเคราะห์

· ภาพรวม : การประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งแรกนี้ ถือเป็นการประชุมครั้ง
ประวัติศาสตร์ และเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์อาเซียน –สหรัฐฯ

· ผมมองว่า ทั้งอาเซียนและสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของตน ในแง่ของ
อาเซียนก็ต้องการที่จะให้สหรัฐฯ เข้ามีบทบาทในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลกับจีน ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับมหาอำนาจ ยังไม่สมดุล โดยเฉพาะความสัมพันธ์อาเซียน – จีน ได้คืบหน้าไปมาก แต่ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร อาเซียนได้หาโอกาสจากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ จากรัฐบาล Obama ที่ได้ประกาศท่าที ต้องการสนิทกับอาเซียนมากขึ้น โดยได้ผลักดันการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งแรกขึ้นเป็นผลสำเร็จ

· สำหรับในแง่ของสหรัฐฯ การประชุมสุดยอดครั้งนี้ก็บรรลุเป้าหมายของสหรัฐฯ กล่าวคือ
ยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค คือ การครองความเป็นเจ้า ซึ่งการจะบรรลุยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ สหรัฐฯ จะต้องป้องกันมิให้มีคู่แข่งขึ้นมาแย่งความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ และต้องป้องกันมิให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ลดลง ดังนั้น ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุด โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิทธิพลของจีนในอาเซียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อิทธิพลของสหรัฐฯ ดูจะลดลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงได้เห็นสหรัฐฯ เริ่มปรับนโยบายใหม่ต่ออาเซียน โดยได้กลับมาให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อถ่วงดุลกับจีน และนี่ก็เป็นสาเหตุหลักที่สหรัฐฯ ยอมประชุมสุดยอดกับอาเซียน ในสมัยรัฐบาล Bush สหรัฐฯทำท่าว่าอยากจะประชุมกับอาเซียน แต่ก็ติดอยู่ที่พม่า แต่พอมาถึงรัฐบาล Obama ได้เปลี่ยนนโยบายต่อพม่าใหม่ โดยยอมปฏิสัมพันธ์กับพม่า จึงทำให้การประชุมสุดยอดเกิดขึ้นได้

· การประชุมครั้งนี้มีความคิดริเริ่มหลายเรื่องที่ได้เกิดขึ้น ซึ่งผมมองว่า เป็นการพลิก
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐฯ อาทิ การจัดตั้ง Eminent Persons Group การแต่งตั้งทูตประจำอาเซียน ข้อเสนอ ADMM+ การประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน – สหรัฐฯ ความช่วยเหลือ ในการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมาย MDG ความคิดริเริ่ม US-Lower Mekong Initiative ท่าทีที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯ ต่อเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ของอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีพลังงานระหว่างรัฐมนตรีอาเซียน – สหรัฐฯ ฯลฯ จึงเห็นได้ว่าการประชุมครั้งนี้มีข้อเสนอต่าง ๆ มากมาย ทำให้สรุปได้ว่า การประชุมประสบความสำเร็จอย่างมากและเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐฯ

ไม่มีความคิดเห็น: