Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประเมินนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในปี 2009 และแนวโน้มในปี 2010

ประเมินนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในปี 2009 และแนวโน้มในปี 2010
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ที่ 8 - วันพฤหัสที่ 14 มกราคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สรุปนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาล Obama ในรอบปี 2009 ที่ผ่านมา และจะประเมินและคาดการณ์แนวโน้มนโยบายในปี 2010 ด้วย

นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล Obama

ในรอบปีที่ผ่านมา หลังจาก Obama ได้มาเป็นประธานาธิบดีในเดือนมกราคมปี 2009 Obama ได้ประกาศและปฏิรูปนโยบายต่างประเทศใหม่ โดยตัวอย่างของนโยบายที่เปลี่ยนไป คือ

· Obama ประกาศว่าพร้อมที่จะเจรจา แม้จะเป็นประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ โดย
ได้เสนอพร้อมที่จะเจรจากับอิหร่านในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และเดินหน้าเจรจาทวิภาคี และเริ่มปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ และพม่า

· เปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิม โดยได้กล่าวสุนทร
พจน์ที่ไคโร เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เรียกร้องให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิม เดินหน้าถอนทหารออกจากอิรัก และประกาศจะสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

· ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียและจีน โดยได้เดินทางไปเยือนทั้งสองประเทศ และ
บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกันหลายเรื่อง

· จุดยืนของรัฐบาล Obama ต่อปัญหาโลกได้เปลี่ยนแปลงไปหลายเรื่อง อาทิ ท่าทีที่
เปลี่ยนแปลงไปต่อปัญหาภาวะโลกร้อน และท่าทีต่อ UN

การประเมิน

สำหรับการประเมิลผลนโยบายต่างประเทศของ Obama นั้น ก็มีทั้งมุมมองที่เป็นบวกและ
เป็นลบ คือ มีทั้งที่มองว่า นโยบายประสบความสำเร็จ และที่มองว่านโยบายประสบความล้มเหลว

สำหรับที่มองว่า Obama ประสบความสำเร็จนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ คณะกรรมการ โนเบลที่ให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่ Obama โดยคณะกรรมการได้กล่าวชื่นชม Obama ว่า ได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้เกิดขึ้นในการเมืองโลก การทูตพหุภาคีได้กลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง การเจรจาหารือได้กลับมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้ง Obama จึงทำให้ชาวโลกมีความหวังสำหรับอนาคตที่จะดีขึ้น

แต่สำหรับมุมมองว่า นโยบายของ Obama ประสบความล้มเหลว (ซึ่งจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม พรรครีพับริกัน) จะวิพากษ์วิจารณ์ว่า Obama ก็ได้แต่พูด แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรที่เป็นรูปธรรม ปัญหาต่าง ๆ ในโลกก็ยังคงอยู่ ไม่มีปัญหาใดที่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอิสราเอล – ปาเลสไตน์ เกาหลีเหนือ และอิหร่าน

สำหรับผม ผมมองว่า นโยบายของ Obama มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ประสบความสำเร็จ ในแง่ที่ได้ริเริ่มแนวนโยบายต่างๆ ที่นับว่าเป็นก้าวแรกที่ดี แต่ว่าที่ล้มเหลวคือ ยังไม่ได้มีผลอะไรออกมาเป็นรูปธรรม

ผมประเมินว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา Obama ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยได้ริเริ่มปฏิรูปนโยบายต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด ดูจะเป็นการเริ่มที่ดี นับเป็นก้าวแรกที่ดี ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อประชาคมโลก แต่คงจะเป็นการเร็วเกินไป ที่จะด่วนสรุปถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลว คงจะต้องรอดูกันยาว ๆ อีกหลายปี ถึงจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

แนวโน้ม

สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯในปี 2010 นี้ ก่อนอื่น ต้องมองว่า นโยบายต่างประเทศของ Obama นั้น มีลักษณะเป็นอุดมคตินิยมและเสรีนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการมองโลกในแง่ดี เป็นการขายฝันให้แก่ชาวโลก ผมก็อยากให้ความฝันของ Obama เป็นจริง แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่า จะมีอุปสรรคอีกมากมายเหลือเกินกว่าที่ Obama จะสานฝันให้เป็นจริงได้

ในปี 2010 นี้ คงต้องจับตาดูกันว่า Obama จะสามารถสานฝันให้เป็นจริง จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกอย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน แต่ประวัติศาสตร์ได้บอกเราว่า ในที่สุด แนวนโยบายอุดมคตินิยมและเสรีนิยมจะเจอกับอุปสรรค ทั้งนี้เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เป็นโลกของอุดมคตินิยม และกลับเป็นโลกของสัจจนิยม ที่เน้นในเรื่องการแข่งขันต่อสู้เพื่ออำนาจระหว่างประเทศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แนวโน้มนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯในปี 2010 ที่จะต้องจับตามองเป็นพิเศษ จะมีเรื่องสำคัญ ดังนี้

· นโยบายต่อปัญหาภาวะโลกร้อน

ในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว การประชุมภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน ผลการประชุม
เป็นที่น่าผิดหวังและถือว่าล้มเหลว เพราะข้อตกลงที่เรียกว่า Copenhagen Accord เป็นข้อตกลงที่เจรจากันระหว่างสหรัฐฯ จีน อินเดีย บราซิล และอัฟริกาใต้เท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีสถานะทางกฎหมายที่เป็นปัญหาเป็นอย่างมาก และข้อตกลงไม่ได้มีการกำหนดว่า จะมีการเจรจาในรูปแบบสนธิสัญญาเมื่อใด และไม่ได้มีการกำหนดปริมาณการตัดลดก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด
ท่าทีของสหรัฐฯ และ Obama ถือว่าน่าผิดหวังและประสบความล้มเหลวในการประชุมที่โคเปนเฮเกน ในปีนี้ การเจรจาภาวะโลกร้อนจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ท่าทีของสหรัฐฯที่ควรจะเล่นบทบาทเป็นผู้นำก็ถูกจำกัด เพราะกระแสต่อต้านจากสภาคองเกรส ทำให้ในที่สุด สหรัฐฯ คงไม่สามารถที่จะเล่นบทบาทนำในการผลักดันสนธิสัญญาฉบับใหม่ภายในปี 2010 ได้

· นโยบายต่อสงครามอัฟกานิสถาน

ในปี 2010 ปัญหาที่ปวดหัวที่สุดของ Obama น่าจะเป็นสงครามในอัฟกานิสถาน การ
ตัดสินใจเพิ่มกำลังทหารเข้าไป 30,000 คน ดูจะสวนทางกับนโยบายต่างประเทศของ Obama ในด้านอื่น ๆ ที่เน้นปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือ แต่การเพิ่มกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถานถือเป็นเกมที่ค่อนข้างเสี่ยงมากของ Obama เพราะอาจจะซ้ำรอยสงครามเวียดนาม เหตุผล คือ การเพิ่มกองกำลังเข้าไปจะยิ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านสหรัฐฯมากขึ้นจากชาวอัฟกานิสถาน สาเหตุหลักที่ตาลีบันได้ยึดครองพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะชาวอัฟกานิสถานสนับสนุนตาลีบัน และต่อต้านกองกำลังต่างชาติ
เพราะฉะนั้น ในที่สุดแล้ว การที่สหรัฐฯ หวังว่าจะเอาชนะในสงครามอัฟกานิสถานคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย ในปีนี้ เราจึงต้องจับตาดูกันต่อว่า การบ้านชิ้นที่ยากที่สุดของ Obama คือ สงครามอัฟกานิสถานนั้น จะประสบความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวอย่างไร

· นโยบายปฏิสัมพันธ์

หัวใจของนโยบายต่างประเทศของ Obama คือ นโยบายปฏิสัมพันธ์ โดย Obama ได้
ประกาศและเริ่มปฏิสัมพันธ์ต่ออิหร่าน เกาหลีเหนือ และพม่า โดยได้เริ่มมีการเจรจาในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่าน เช่นเดียวกับในกรณีเกาหลีเหนือ สหรัฐฯ ได้เริ่มเจรจาทวิภาคีกับเกาหลีเหนือในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และในกรณีของพม่าก็เช่นเดียวกัน สหรัฐฯได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ต่อพม่า จากนโยบายคว่ำบาตรมาเป็นนโยบายปฏิสัมพันธ์ โดยสหรัฐฯเรียกนโยบายปฏิสัมพันธ์กับพม่าว่า “practical engagement” ซึ่งถ้าแปลตรงตัว คือ “ปฏิสัมพันธ์ที่ปฏิบัติได้จริง” แต่ผมคิดว่า จริง ๆ แล้ว ยุทธศาสตร์นี้น่าจะเรียกว่า ยุทธศาสตร์กึ่งปฏิสัมพันธ์กึ่งคว่ำบาตร น่าจะตรงกว่า

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ผลของนโยบายปฏิสัมพันธ์ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เพราะท่าทีของอิหร่านยังไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับในกรณีเกาหลีเหนือ ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงท่าที ที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด สำหรับในกรณีพม่า ก็เช่นเดียวกัน ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่รัฐบาลทหารพม่าจะเปลี่ยนแปลงท่าทีในเรื่องของนโยบายปฏิรูปทางการเมือง

ดังนั้น ในปีนี้ เราคงจะต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดว่า นโยบายปฏิสัมพันธ์ของ Obama จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร

· นโยบายต่อโลกมุสลิม
เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงไคโร ประกาศยุคใหม่ของ
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิม โดยมองว่า ไม่จำเป็นที่โลกตะวันตกกับโลกมุสลิมจะต้องขัดแย้งกัน Obama เชื่อว่ากุญแจสำคัญของการลดความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลาม คือ ต้องพยายามเข้าใจกันและลดความมีอคติต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า แนวนโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากลจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงได้อย่างไร และแนวคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ได้อย่างไร ในทางกลับกัน ในปี 2010 นี้ เราอาจจะเห็น การรื้อฟื้นของกระแสการก่อการร้ายสากล สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถาน โดยนักรบตาลีบัน ก็ไม่มีท่าทีว่าจะยุติ

อีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาอิสราเอล- ปาเลสไตน์ Obama พยายามใช้วิธีที่ Obama เชื่อว่า จะใช้แก้ปัญหาได้ คือ ความพยายามที่จะเข้าใจกันและเห็นใจกัน และผลักดันแนวทางในการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์และรัฐอิสราเอลคู่กันนั้น แต่ในความเป็นจริง เส้นทางของสันติภาพในตะวันออกกลางเต็มไปด้วยอุปสรรค หลายเรื่องที่ยากที่จะหาข้อยุติ ไม่ว่าจะเป็นเขตแดนของรัฐปาเลสไตน์ สถานะของกรุงเยรูซาเล็ม สถานะของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์กว่า 5 ล้านคน รวมทั้งปัญหาการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขต west bank ดังนั้น ในปี 2010 จึงต้องดูกันว่า สหรัฐฯจะสามารถผลักดันสันติภาพในตะวันออกกลางให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่ายาก

ไม่มีความคิดเห็น: