การประชุมแก้ปัญหาโลกร้อนที่ Copenhagen
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2552
ขณะนี้กำลังมีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ประเด็นสำคัญของการเจรจา และแนวโน้มผลการประชุม ดังนี้
การประชุมที่โคเปนเฮเกน
พิธีสารเกียวโต ตั้งแต่ปี 1997 ได้กำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง แต่พิธีสารเกียวโตกำลังจะหมดอายุลงในปี 2012 การประชุมที่โคเปนเฮเกน จึงจะเป็นก้าวสำคัญของประชาคมโลก ว่าจะกำหนดกฎเกณฑ์ในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างไรภายหลังปี 2012
การประชุมครั้งนี้ มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมถึง 192 ประเทศ และมีผู้นำประเทศเข้าร่วมกว่า 120 คน การประชุมเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม และกำหนดจะสิ้นสุดในวันที่ 18 ธันวาคม ในช่วงสัปดาห์แรก เป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ แต่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม ผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ได้เริ่มเดินทางมาประชุมในระดับสุดยอด ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 16-18 ธันวาคม จะมีผู้นำโลก อย่างเช่น Barack Obama นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ Gordon Brown เลขาธิการ UN Ban Ki-moon ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicholas Sarkozy และนายกรัฐมนตรีอินเดีย Manmohan Singh เป็นต้น
รูปแบบข้อตกลง
ในการประชุมครั้งนี้ มีเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้อยู่ 4 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ เรื่องรูปแบบของข้อตกลง เรื่องที่สอง คือ การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก เรื่องที่สาม คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก และเรื่องที่สี่ คือ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจน
สำหรับเรื่องแรกเป็นความขัดแย้งในเรื่องรูปแบบของข้อตกลง โดยความขัดแย้งหลัก อยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน โดยประเทศยากจนต้องการคงพิธีสารเกียวโตต่อไป ในขณะที่ประเทศร่ำรวยต้องมีการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่แทนที่พิธีสารเกียวโต
โดยท่าทีของประเทศกำลังพัฒนาต้องการให้มีการต่ออายุพิธีสารเกียวโตออกไป ทั้งนี้ เพราะข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตได้ให้ประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพราะกำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมต้องตัดลดก๊าซเรือนกระจกลง ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับการยกเว้น นอกจากนี้ ในพิธีเกียวโตกำหนดให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือประเทศยากจนด้วย กลุ่มของประเทศยากจนที่สำคัญที่สุดในการเจรจาครั้งนี้คือ กลุ่ม 77 หรือ G 77 ซึ่งประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนาถึง 130 ประเทศ ท่าทีของ G77 คือ การต่ออายุพิธีสารเกียวโตออกไป และยืนยันให้ประเทศภาคีพิธีสารเกียวโตจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีใหม่ภายหลังปี 2012
อย่างไรก็ตาม การจะต่ออายุพิธีสารเกียวโตออกไปได้รับการคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯต่อต้านพิธีสารเกียวโตมาโดยตลอด โดยในสมัยรัฐบาล Bush ไม่ได้ให้สัตยาบันและถอนตัวออกจากพิธีสารเกียวโต สหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีข้อผูกมัดในการตัดลดก๊าซเรือนกระจก แทนที่จะทำด้วยความสมัครใจ และสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยที่พิธีสารเกียวโตยกเว้นความรับผิดชอบของประเทศกำลังพัฒนาในการตัดลดก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น สหรัฐฯ และประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จึงต้องการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่แทนที่พิธีสารเกียวโต
การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก
เรื่องที่สองที่มีความขัดแย้งกันอย่างหนัก คือการกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งความขัดแย้งก็เป็นเหมือนเรื่องอื่น คือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน โดยท่าทีของประเทศยากจนคือ การตั้งเป้าหมายที่จะให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1- 1.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมมีท่าทีว่าที่ประชุมควรจะตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา ซึ่งเป็นท่าทีที่กลุ่ม G8 ได้ตกลงกันเมื่อตอนประชุมสุดยอดในเดือนกรกฎาคม
มีการประเมินว่า หากต้องการไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศา ประเทศอุตสาหกรรมจะต้องตัดลงก๊าซเรือนกระจกลงถึง 20-45 % ภายในปี 2020 และถ้าหากต้องการให้อุณหภูมิเพิ่มไม่เกิน 1-1.5 องศา ก็หมายความว่าประเทศอุตสาหกรรมจะต้องตัดลดก๊าซเรือนกระจกลงกว่า 45% ภายในปี 2020 ซึ่งคงเป็นสิ่งประเทศอุตสาหกรรมคงจะยอมรับได้ยาก
การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก
อีกเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากที่สุด คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก โดย pattern ก็เหมือนความขัดแย้งในเรื่องอื่น ๆ คือ เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน
โดยท่าทีของประเทศกำลังพัฒนาคือ เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยตัดลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2020 โดยจีนกับอินเดียมีท่าทีร่วมกับประเทศยากจนอื่น ๆ แต่สำหรับจีนซึ่งขณะนี้กลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 1 ของโลก ถึง 20 % แต่ในพิธีสารเกียวโต จีนถูกจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนาจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับผิดชอบในการตัดลดก๊าซเรือนกระจก จีนจึงถูกกดดันอย่างหนักจากประเทศต่าง ๆ ล่าสุด ท่าทีของจีนคือ จีนจะลดก๊าซเรือนกระจกลง แต่จะคิดในสัดส่วนการปล่อยก๊าซต่อหัว ซึ่งถ้าคิดในสัดส่วนการปล่อยก๊าซต่อหัวแล้ว จีนจะอยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก ส่วนอินเดีย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 5 % แต่ถ้าคิดเป็นต่อหัว อินเดียจะอยู่ในอันดับที่ 66 ของโลก ดังนั้นท่าทีของอินเดียจึงเหมือนจีน คือ การจัดสรรความรับผิดชอบจะต้องใช้เกณฑ์ต่อหัวเป็นหลัก
สำหรับท่าทีของประเทศอุตสาหกรรมนั้น สหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 รองจากจีน (15.5%) ท่าทีของสหรัฐฯ คือ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 4% ภายในปี 2020 (ซึ่งแตกต่างจากข้อเรียกร้องของประเทศยากจนเป็นอย่างมากที่เรียกร้องให้ลดลง 40%) สหรัฐฯ ยังยืนกรานที่จะให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจีนและอินเดียจะต้องมีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับ EU ปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็น 18% เป็นอันดับสามรองจากจีนและสหรัฐฯ แต่ EU ประกาศจะตัดลดก๊าซลง 20-30% และสำหรับญี่ปุ่น ซึ่งปล่อยก๊าซเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 3.3% ประกาศจะตัดลดก๊าซลง 25%
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ยังมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างท่าทีของประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนในเรื่องนี้
การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจน
สำหรับเรื่องที่สุดท้ายที่ยังตกลงกันไม่ได้และยังหาข้อสรุปไม่ได้ คือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยจะต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนในการปรับตัวจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน และเพื่อใช้ในการปรับลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศยากจน ในพิธีสารเกียวโตมีการระบุแต่เพียงหลักการว่าประเทศร่ำรวยจะต้องช่วยเหลือยากจนในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้มีการกำหนดเป็นตัวเลขจำนวนเงิน
ได้มีการศึกษาถึงจำนวนเงินที่จะต้องใช้ โดยนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษ ได้ประเมินว่าจะต้องมีเม็ดเงินประมาณ 100,000 ล้านเหรียญต่อปี ส่วนทาง UN ได้ประเมินว่าจะต้องใช้เม็ดเงินกว่า 500,000 ล้านเหรียญต่อปี ในขณะที่ EU ประเมินว่าต้องใช้เงินประมาณ 150,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่สหรัฐฯไม่เคยพูดถึงเรื่องจำนวนเงิน
สำหรับท่าทีของประเทศยากจนนั้น เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินประมาณ 1% ของ GDP ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนเงินก็หลายแสนล้านเหรียญต่อปี ท่าทีของจีนก็เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนา คือ เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1% ของ GDP
ในขณะที่ประเทศร่ำรวยที่ออกมาประกาศชัดเจนกว่าเพื่อนคือ EU ที่ประกาศตั้งวงเงิน 150,000 ล้านเหรียญต่อปีภายในปี 2020 ในขณะที่ญี่ปุ่น นาย Hatoyama ได้ประกาศ Hatoyama Initiative โดยจะเพิ่มวงเงินให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน แต่ยังไม่ได้กำหนดตัวเลข สำหรับสหรัฐฯ ไม่เคยประกาศท่าทีในเรื่องนี้
แนวโน้มผลการประชุม
จะเห็นได้จากการวิเคราะห์ข้างต้นว่า ยังมีหลายเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ ซึ่งความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน ต่างฝ่ายต่างก็พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้น้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้กับประเทศอื่นให้มากที่สุด ในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคมนี้จะเป็นวันสุดท้ายของประชุม คาดว่า จะมีความพยายามประนีประนอมในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะใน 4 เรื่องใหญ่ ๆ ข้างต้น ผมคาดเดาว่า ผลการประชุมในลักษณะสนธิสัญญาคงเป็นไปไม่ได้ แต่การประชุมคงน่าจะไม่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในที่สุด น่าจะมีการประนีประนอมกันและผลการประชุมน่าจะออกมาในลักษณะที่เป็นข้อตกลงในหลักการกว้าง ๆ ส่วนรายละเอียดคงจะต้องเจรจากันต่อ อีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ ในที่สุด อาจจะตกลงกันแม้กระทั่งในหลักการกว้าง ๆ ก็ไม่ได้ และอาจจะต้องเลื่อนการประชุมออกไปเป็นกลางปี 2010
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น