สรุปสถานการณ์โลกในปี 2552 (ตอนที่ 1)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 14 วันศุกร์ที่ 25 - วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม 2552
คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า จะเป็นตอนส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ผมจึงอยากจะสรุปสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา โดยผมได้จัดลำดับเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด 10 อันดับ ดังนี้
อันดับที่ 1 : ปัญหาภาวะโลกร้อนและการประชุมที่โคเปนเฮเกน
อันดับที่ 2 : วิกฤตเศรษฐกิจโลก
อันดับที่ 3 : นโยบายต่างประเทศของ Obama
อันดับที่ 4 : วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
อันดับที่ 5 : สงครามอัฟกานิสถาน
อันดับที่ 6 : สถานการณ์ปากีสถาน
อันดับที่ 7 : วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน
อันดับที่ 8 : ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย
อันดับที่ 9 : ความสัมพันธ์สหรัฐ- จีน
อันดับที่ 10 : ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์
อันดับที่ 1 : ปัญหาภาวะโลกร้อนและการประชุมที่โคเปนเฮเกน
ปัญหาภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของโลก แต่พิธีสารเกียวโตกำลังจะหมดอายุลงในปี 2012 การประชุมที่โคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จึงได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นก้าวสำคัญของประชาคมโลกที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง
การประชุมครั้งนี้ มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมถึง 192 ประเทศ และประชุมระหว่างวันที่ 7 -18 ธันวาคม มีเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้อยู่ 4 เรื่อง คือ เรื่องรูปแบบของข้อตกลง การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจน
สำหรับเรื่องความขัดแย้งในเรื่องรูปแบบของข้อตกลงนั้น ความขัดแย้งหลักเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศรวยกับประเทศยากจน โดยประเทศยากจนต้องการคงพิธีสารเกียวโตต่อไป ในขณะที่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่แทนที่พิธีสารเกียวโต
เรื่องที่สองที่มีความขัดแย้งกันอย่างหนัก คือ การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ประเทศยากจนตั้งเป้าหมายให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา
อีกเรื่องที่ถกเถียงกันมากที่สุด คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก โดยท่าทีของประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยตัดลดก๊าซลง 40% ภายในปี 2020 แต่สำหรับท่าทีของประเทศร่ำรวยนั้น อย่างเช่นท่าทีของสหรัฐฯ คือ จะลดการปล่อยก๊าซลงเพียง 4 %
สำหรับเรื่องที่สี่ที่ตกลงกันไม่ได้ คือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยจะต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน โดยประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1 % ของ GDP ในขณะที่สหรัฐฯ ไม่เคยประกาศท่าทีในเรื่องนี้
ความขัดแย้งระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนมีลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้น้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่นมากที่สุด
สำหรับผลการประชุมที่ออกมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมปรากฏว่า เป็นที่น่าผิดหวังและล้มเหลวเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้อตกลงที่เรียกว่า Copenhagen Accord เป็นข้อตกลงที่เจรจากันระหว่างสหรัฐฯ จีน อินเดีย บราซิล และอัฟริกาใต้เท่านั้น โดยประเทศอื่น ๆ อีกกว่า 190 ประเทศเพียงแต่ “รับทราบ” (take note) แต่ไม่ได้ “ยอมรับ” (approve) ในข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าว จึงมีสถานะทางกฎหมายที่เป็นปัญหาเป็นอย่างมาก และข้อตกลงไม่ได้มีการกำหนดว่า จะมีการเจรจาในรูปแบบสนธิสัญญาเมื่อไร ในข้อตกลงมีแต่พูดถึงเรื่องการกำหนดปริมาณอุณหภูมิที่ 2 องศา และจะมีการตั้งวงเงินช่วยเหลือประเทศยากจนประมาณ 100,000 ล้านเหรียญต่อปี ภายในปี 2020 แต่ที่น่าผิดหวังคือไม่ได้มีการกำหนดปริมาณการตัดลดก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด
อันดับที่ 2 : วิกฤตเศรษฐกิจโลก
ในรอบปีที่ผ่านมา ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัญหาใหญ่ โดยวิกฤตเศรษฐกิจโลกเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ปี 2008 หลังจากนั้น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลก กระทบต่อสถาบันการเงินและธนาคาร รวมทั้งตลาดหุ้นทั่วโลก นอกจากนั้น ยังได้ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกเสื่อมถอย นำไปสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี
ในรอบปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ได้หาหนทางในการกอบกู้วิกฤต โดยเฉพาะมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 10 ล้านล้านเหรียญ
สำหรับมาตรการความร่วมมือในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่สำคัญที่สุด คือ G20 โดยได้มีการประชุมสุดยอดไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 ครั้งที่สองที่กรุงลอนดอนในเดือนเมษายน และครั้งที่สามที่เมืองพิตต์สเบิร์กในเดือนกันยายน โดยเรื่องหลัก ๆ เป็นความร่วมมือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเสริมสร้างกลไกควบคุมตรวจสอบระบบการเงิน การเพิ่มบทบาทให้กับ IMF รวมทั้งการปฏิรูประบบการเงินโลก
ในรอบปีที่ผ่านมา มาตรการกอบกู้วิกฤตดูจะได้ผล ซึ่งเห็นแนวโน้มว่า วิกฤตน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และเศรษฐกิจของประเทศสำคัญได้เริ่มเป็นบวก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเช่น จีน ได้ฟื้นตัวเร็วมากและได้กลับมามีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมากเกินความคาดหมาย
อันดับที่ 3 : นโยบายต่างประเทศของ Obama
เรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามของโลก คือ นโยบายต่างประเทศของ Obama ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นวิสัยทัศน์ใหม่และความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปนโยบายต่างประเทศและปฏิรูปโลกใหม่ โดยตัวอย่างของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯที่เปลี่ยนแปลงไป คือ
· Obama ประกาศพร้อมจะเจรจา แม้จะเป็นประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ โดยได้เสนอที่พร้อมจะเจรจากับอิหร่านในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และเดินหน้าเจรจาทวิภาคี และเริ่มปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ พม่า และคิวบา
· ได้เดินหน้าถอนทหารออกจากอิรัก
· ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยได้เริ่มเจรจากับรัสเซีย และบรรลุข้อตกลงหลายเรื่อง
· เปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิม
· จุดยืนของรัฐบาล Obama ต่อปัญหาโลกได้เปลี่ยนแปลงไป อาทิ ท่าทีที่
เปลี่ยนแปลงไปในปัญหาภาวะโลกร้อน ท่าทีต่อ UN ปฏิสัมพันธ์กับจีน ฯลฯ
Obama ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้ โดยคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวชื่นชม
Obama ว่า ได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้เกิดขึ้นในการเมืองโลก การทูตพหุภาคีได้กลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง การเจรจาหารือได้กลับมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้ง Obama จึงทำให้โลกและประชาชนในโลกมีความหวังสำหรับอนาคตที่จะดีขึ้น
อันดับที่ 4 : วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
เรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับสี่ คือ เรื่องวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือช๊อกโลกด้วยการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ได้ทำให้โลกตกตะลึงมาแล้วในปี 2006 เมื่อเกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังทำให้คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อประกาศยกเลิกสัญญาสงบศึกระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และในช่วงเดือนกรกฎาคม เกาหลีเหนือยังได้ขู่ว่า จะยิงขีปนาวุธถล่มเกาะฮาวายของสหรัฐฯ ด้วย
สำหรับสหรัฐฯก็รู้ดีว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นการทดสอบรัฐบาล Obama ประธานาธิบดี Obama จึงได้ออกมาประกาศว่า จะดำเนินมาตรการตอบโต้ต่อการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และมาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ ได้ออกมาในรูปของมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติที่เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาล Obama ได้เปลี่ยนท่าทีลดความแข็งกร้าวและหันมาเริ่มปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ จึงทำให้ความตึงเครียดได้ลดลงในช่วงปลายปีนี้
อันดับที่ 5 : สงครามอัฟกานิสถาน
เรื่องที่มีความสำคัญต่อโลกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบปีที่ผ่านมา คือ ปัญหาสงครามที่ยืดเยื้อในอัฟกานิสถาน โดยในรอบปีที่ผ่านมา สถานการณ์ได้เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ทั้งนักรบตาลีบันและ
Al Qaeda ได้ฟื้นคืนชีพ โดยมีแหล่งซ่องสุมใหม่อยู่ที่พรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถาน โดย
ตาลีบันพยายามที่จะล้มล้างรัฐบาล Karzai และได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯจึงได้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ต่ออัฟกานิสถาน โดย Obama ได้ประกาศเพิ่มทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานกว่า 30,000 คน แต่ก็ตั้งเป้าว่า 18 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน โดยจะมีการพัฒนากองกำลังของอัฟกานิสถาน เพื่อให้ต่อสู้กับฝ่ายของตาลีบันได้
ปัญหาอัฟกานิสถานนับเป็นปัญหาที่ปวดหัวที่สุดของ Obama ซึ่งดูจะสวนทางกับนโยบายต่างประเทศของ Obama ในด้านอื่น ๆ ที่จะเน้นปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือ แต่ดูเหมือนกับว่า Obama ไม่มีทางเลือก
(โปรดติดตามอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น