Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สรุปสถานการณ์โลกในปี 2552 ตอนจบ

สรุปสถานการณ์โลกในปี 2552 (ตอนจบ)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ที่ 1 - วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้วและตอนนี้ เป็นตอนส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ผมจึงอยากจะสรุปสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา โดยผมได้จัดลำดับเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด 10 อันดับ ดังนี้

อันดับที่ 1 : ปัญหาภาวะโลกร้อนและการประชุมที่โคเปนเฮเกน
อันดับที่ 2 : วิกฤตเศรษฐกิจโลก
อันดับที่ 3 : นโยบายต่างประเทศของ Obama
อันดับที่ 4 : วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
อันดับที่ 5 : สงครามอัฟกานิสถาน
อันดับที่ 6 : สงครามปากีสถาน
อันดับที่ 7 : วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน
อันดับที่ 8 : ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย
อันดับที่ 9 : ความสัมพันธ์สหรัฐ- จีน
อันดับที่ 10 : ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ในตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์อันดับ 1 ถึงอันดับ 5 ไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้จะมาวิเคราะห์ต่ออันดับที่ 6 ถึงอันดับที่ 10 ดังนี้

อันดับที่ 6 : สงครามปากีสถาน

เรื่องที่มีความสำคัญต่อโลกในอันดับ 6 ในความคิดของผม คือ สงครามปากีสถาน
สถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารปากีสถานกับนักรบตาลีบันกำลังเข้าสู่จุดวิกฤต ขณะนี้ปากีสถานกลายเป็นแหล่งซ่องสุมใหญ่ของนักรบตาลีบันและ Al Qaeda ซึ่งได้ย้ายฐานมาจากอัฟกานิสถาน โดยได้ใช้บริเวณพรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถานเป็นฐานที่มั่นใหญ่ และได้รุกคืบเข้าไปยึดหุบเขา Swat ซึ่งอยู่ห่างจากกรุง Islamabad เมืองหลวงของปากีสถานเพียง 100 กว่าเมตร นักรบตาลีบันจึงได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้น จึงทำให้มีความหวาดวิตกมากขึ้น ถึงความมั่นคงปลอดภัยของอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน Al Qaeda และ Bin Laden ได้เคยประกาศว่า จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาอาวุธร้ายแรง สำหรับอาวุธนิวเคลียร์นั้น ในกรณีของปากีสถานน่าเป็นห่วงมาก ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ และคนในรัฐบาลบางกลุ่มก็มีใจฝักใฝ่และนิยมตาลีบันและ Al Qaeda สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ หากตาลีบันสามารถเข้ายึดกรุง Islamabad ได้และสามารถเข้ายึดกุมอำนาจรัฐปากีสถานได้ ก็จะทำให้รัฐบาลตาลีบันในปากีสถานจะมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองกว่า 80 ลูก

อันดับที่ 7 : วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน

เรื่องที่มีความสำคัญต่อโลกเป็นอันดับ 7 ในรอบปี 2552 คือ ปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน
ตะวันตกและสหรัฐฯ ได้กล่าวหาอิหร่านว่า กำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ตะวันตกพยายามกดดันอิหร่านด้วยวิธีต่าง ๆ โดยการนำเรื่องเข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงของ UN เพื่อผลักดันมาตรการคว่ำบาตร และหลายครั้งที่อเมริกาออกมาขู่ว่า จะใช้กำลังทหารโจมตีโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในสมัยรัฐบาล Bush ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านตึงเครียดอย่างหนัก โดย Bush ประกาศว่า อิหร่านเป็นหนึ่งในอักษะแห่งความชั่วร้าย ส่วนผู้นำอิหร่านคือ Ahmadinejad ก็ออกมาตอบโต้และขู่ว่าจะลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก

อย่างไรก็ตาม Obama ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ได้กล่าวโจมตีนโยบายของ Bush ต่ออิหร่านและประกาศว่า หากได้เป็นประธานาธิบดีก็พร้อมที่จะเจรจากับผู้นำอิหร่าน ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงไคโรประกาศศักราชของความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับโลกมุสลิมและได้กล่าวว่า สหรัฐฯ กับอิหร่านไม่ควรจะติดอยู่กับความขัดแย้งในอดีต แต่ประเทศทั้งสองควรจะพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า ดังนั้น จึงมีหลายเรื่องที่จะต้องหารือกัน ต่อมา Susan Rice ทูตประจำ UN ได้ประกาศท่าทีว่า สหรัฐฯ จะพยายามใช้ทุกวิถีทาง รวมทั้งการใช้การทูตเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จึงเห็นได้ชัดว่า รัฐบาล Obama ได้เปลี่ยนท่าที โดยได้หันกลับมาเน้นปฏิสัมพันธ์กับอิหร่าน กระบวนการเจรจาทางการทูตจึงได้เริ่มขึ้น

อันดับที่ 8 : ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย

เรื่องที่มีความสำคัญต่อโลกเป็นอันดับ 8 คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย
ในสมัยรัฐบาล Bush ความสัมพันธ์สหรัฐฯ- รัสเซียเสื่อมโทรมลงอย่างมาก จนถึงขั้นมีบางคนมองว่า การเมืองโลกกำลังจะกลับไปสู่สงครามเย็นภาค 2

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาล Obama ได้ประกาศนโยบายชัดเจนว่า ต้องการปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียใหม่ และ Obama ได้เดินทางไปเยือนรัสเซีย ได้หารือกับประธานาธิบดี Medvedev และได้มีข้อตกลงกันหลายเรื่อง โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะลดหัวรบนิวเคลียร์ลงให้เหลือ 1 ใน 3 และจะร่วมมือกันในเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้กับวัตถุดิบนิวเคลียร์ ทั้งสองฝ่าย ยังได้หารือกันถึงกรณีของเกาหลีเหนือและอิหร่าน รวมทั้งความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย แต่เรื่องที่ยังขัดแย้งกันอยู่ คือ เรื่องที่เกี่ยวกับจอร์เจียและยูเครน โดยรัสเซียไม่พอใจอย่างมากที่สหรัฐฯจะดึงเอาจอร์เจียและยูเครนมาเป็นสมาชิกนาโต้

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว การเยือนรัสเซียของ Obama ถือว่าประสบความสำเร็จ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย เห็นได้ชัดว่า Obama พยายามอย่างเต็มที่ที่จะปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียโดยเน้นปฏิสัมพันธ์ และเปลี่ยนจากความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ

อันดับที่ 9 : ความสัมพันธ์สหรัฐ- จีน

เรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 9 คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนในรอบปีที่ผ่านมา
ในอดีตโดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล Bush กลุ่มอนุรักษ์นิยมสายเหยี่ยวมองว่า จีนเป็นภัยคุกคาม และยุทธศาสตร์ของ Bush คือ นโยบายกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ คือ ปิดล้อมทางทหารแต่ปฏิสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ ต่อมา ในสมัยรัฐบาล Obama ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อจีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ ยังมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ แต่ Obama มีนโยบายจะเพิ่มสัดส่วนปฏิสัมพันธ์เป็นพิเศษ และพยายามที่จะลดสัดส่วนของนโยบายปิดล้อมทางทหารลง

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Obama ได้เดินทางไปเยือนจีนเป็นครั้งแรก โดยได้พยายามตอกย้ำนโยบายต่างประเทศใหม่ของตน คือนโยบายปฏิสัมพันธ์ และได้พยายามขยายความร่วมมือกับจีนในทุก ๆ ด้าน การเยือนจีนของ Obama ในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะได้มีการขยายความร่วมมือออกไปมากมายหลายสาขาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีครั้งใดที่จีนกับสหรัฐฯ จะมีท่าทีตรงกันได้มากมายหลายเรื่องเหมือนในครั้งนี้ โดยมีทั้งความร่วมมือด้านความมั่นคงและทางทหาร ในหลาย ๆ เรื่องก็เป็นเรื่องที่สหรัฐฯยอมประนีประนอมและโอนอ่อนไปตามท่าทีของจีน อาทิ ปัญหาไต้หวัน และปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ความร่วมมือด้านภาวะโลกร้อนก็เป็นพัฒนาการที่สำคัญ เพราะในอดีต สหรัฐฯกับจีนมีท่าทีตรงกันข้าม แต่ท่าทีของทั้งสองก็เปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประเด็นขัดแย้งกัน โดยเฉพาะในประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ ก็ยังมีหลายเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้

อันดับที่ 10 : ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

และสุดท้ายก็เป็นอันดับ 10 เรื่องที่มีความสำคัญต่อโลกเป็นอันดับ 10 คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล- ปาเลสไตน์

พัฒนาการที่สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การดำเนินนโยบายในเชิงรุกของ Obama ในสุนทรพจน์ที่กรุงไคโร ซึ่งเป็นสุนทรพจน์ประกาศยุคใหม่ความสัมพันธ์สหรัฐฯกับโลกมุสลิม Obama ได้เน้นที่จะแก้ปัญหาอิสราเอล – ปาเลสไตน์ โดยเชื่อว่า ทางแก้ที่ดีที่สุด คือ two- state solution คือ การผลักดันให้รัฐอิสราเอล และรัฐปาเลสไตน์คงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่การจะบรรลุเป้าหมายได้ ปาเลสไตน์ โดยเฉพาะฮามาสจะต้องยุติความรุนแรง และยอมรับสิทธิของอิสราเอลในการคงอยู่ ขณะเดียวกัน อิสราเอลก็ต้องยอมรับสิทธิของปาเลสไตน์และการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ และยุติการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขต west bank
ต่อมา นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล คือ Netanyahu ได้ประกาศท่าทีของอิสราเอลต่อข้อเสนอของ Obama โดยกล่าวว่า อิสราเอลยอมรับรัฐปาเลสไตน์ แต่ก็มีเงื่อนไข โดยไม่สนใจที่จะยุติการตั้งถิ่นฐานในเขต west bank เรียกร้องให้ปาเลสไตน์ยอมรับอิสราเอลว่าเป็นรัฐของชาวยิว สำหรับสถานะของกรุงเยรูซาเล็ม ก็จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของอิสลาเอล (เป็นที่รู้กันดีว่า ปาเลสไตน์ต้องการให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์) นอกจากนี้ Netanyahu ยังได้ตั้งเงื่อนไขว่า รัฐปาเลสไตน์จะต้องไม่มีกองกำลังทหาร
สำหรับปาเลสไตน์ก็ได้แสดงความผิดหวังต่อ Netanyahu โดยกล่าวว่า ท่าทีของ Netanyahu เท่ากับเป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพและทำลายความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเจรจาครั้งใหม่
โดยสรุป ถึงแม้ Obama จะมีความหวังอย่างแรงกล้าที่จะแก้ปัญหาอิสราเอล – ปาเลสไตน์ แต่เส้นทางของสันติภาพในตะวันออกกลาง ก็ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคนานานัปการ
เพราะในอดีตสหรัฐฯกับจีนมีท่าทีตรงกันข้าม

ไม่มีความคิดเห็น: