ระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2050
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 17 วันศุกร์ที่ 15 - วันพฤหัสที่ 21 มกราคม 2553
ภาพรวม
ในปี 2050 คือ ในอีก 40 ปีข้างหน้า ระบบเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯและยุโรป ซึ่งในปัจจุบันเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ในอนาคตจะสูญเสียสถานะดังกล่าว โดยการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จากเอเชียและลาตินอเมริกา ในปี 2050 60% ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G20 จะมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย รัสเซีย และเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม ในอีก 40 ข้างหน้า GDP ต่อหัว ของประเทศเหล่านี้จะยังคงต่ำกว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยเดิม คือ กลุ่มประเทศ G7 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะกระทบอย่างมากต่อระเบียบเศรษฐกิจโลก การปฏิรูปกลไกเศรษฐกิจโลกจาก G8 มาเป็น G20 ได้เริ่มชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของระเบียบเศรษฐกิจโลกในอนาคต
การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่
ใน 40 ข้างหน้า GDP ของ G20 จะโตโดยเฉลี่ย 3.6 % โดยในปี 2009 G20 มี GDP รวมกันมูลค่า 38 ล้านล้านเหรียญ แต่ในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 160 ล้านล้านเหรียญ แต่ 60% ของ GDP ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ 5 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และเม็กซิโก ซึ่งกลุ่มนี้อาจเรียกว่า กลุ่ม BRIC+M เศรษฐกิจของกลุ่มนี้จะโต 6% ต่อปี ซึ่งจะทำให้สัดส่วน GDP ของกลุ่มนี้ใน G20 เพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2009 เป็นเกือบ 50% ในปี 2050 ในทางตรงกันข้าม GDP ของมหาอำนาจเศรษฐกิจเก่า คือ กลุ่ม G7 จะโตเพียง 2% ต่อปี ซึ่งจะทำให้สัดส่วน GDP ใน G20 ลดลงจาก 72% ในปี 2009 เหลือเพียง 40% ในปี 2050
หากปรับตัวเลขโดยใช้หลัก Purchasing Power Parity หรือ PPP (เป็นการปรับมูลค่าเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงอำนาจในการซื้อที่ต่างกันของแต่ละประเทศ) จะยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นอีก โดยในปี 2050 เศรษฐกิจของ BRIC+M จะใหญ่เป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของ G7 และจะมีสัดส่วนถึง 60% ของ GDP ของ G20 ในขณะที่ G7 จะมีสัดส่วนแค่ 28%
3 ยักษ์ใหญ่
ในปี 2050 จีน อินเดีย และสหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะ จีนกับอินเดีย GDP จะเพิ่มขึ้นเกือบ 60 ล้านล้านเหรียญ แต่ความแตกต่างในเรื่อง GDP ต่อหัวระหว่าง 3 ประเทศยังมีอยู่ โดยถึงแม้ว่า GDP ของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จะเพิ่มขึ้น แต่ GDP ต่อหัวยังคงต่ำอยู่ โดยรายได้เฉลี่ยของประเทศเหล่านี้จะอยู่ที่ประมาณ 22,000 เหรียญต่อคนต่อปี ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐฯและกลุ่ม G7 เป็นอย่างมาก
การคาดการณ์ว่า ในปีอะไร เศรษฐกิจจีนจะใหญ่เท่ากับสหรัฐฯ และจะแซงสหรัฐฯ ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า จีนจะไล่ทันสหรัฐฯได้หรือไม่ แต่คำถาม คือ เมื่อไรเท่านั้นเอง จากการคำนวณของ Council on Foreign Relations ได้ฟันธงว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในการเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2032 อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักได้คำนวณว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ก่อนหน้านั้น สำนักหนึ่งฟันธงว่า ภายในปี 2025 GDP จีนจะเท่ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะถ้าใช้หลัก PPP มาคำนวณ และเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ไปแบบไม่เห็นฝุ่น โดยในปี 2050 เศรษฐกิจจีนจะใหญ่เท่ากับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และ EU รวมกัน
หากมองในแง่ประวัติศาสตร์ การผงาดขึ้นมาของจีนนั้น ดูเป็นเรื่องปกติ เพราะตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงศตวรรษที่ 19 จีนก็มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมาตลอด ตัวอย่างเช่นในปี 1600 เศรษฐกิจจีนก็ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็น 30% ของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า จีนจะแซงอเมริกาไปแบบไม่เห็นฝุ่นหรือไม่ บางสำนักบอกว่า จีนจะแซงไปแบบไม่เห็นฝุ่น แต่บางสำนัก ก็ประเมินว่า จีนจะแซงเมริกาไปไม่มาก โดยอ้างว่า ในปี 2009 GDP ของสหรัฐฯใหญ่กว่าจีนหลายเท่า และถ้าหากในอนาคต สหรัฐฯสามารถรักษาระดับอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2-3 % ก็จะทำให้สหรัฐฯ ไม่ถูกจีนทิ้งห่างมากเท่าใดนัก
สำหรับจีนนั้น มีการคาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5-6% ซึ่งจะทำให้ GDP ของจีนเพิ่มขึ้นจากในปี 2009 ที่มีมูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญ เป็น 45 ล้านล้านเหรียญในปี 2050 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ในปี 2050 เศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ 20% แต่ถ้าปรับเป็น PPP เศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯเกือบ 90%
สำหรับอินเดีย มีการคาดการณ์ว่า จะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุด แต่โดยที่ในปัจจุบันเศรษฐกิจของอินเดียมีขนาดเล็กกว่าเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯมาก ดังนั้น ในปี 2050 อินเดียยังจะไล่จีนและสหรัฐฯไม่ทัน แต่ GDP ของอินเดียจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2009 เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 18 ล้านล้านเหรียญในปี 2050 คือเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า
สำหรับสถานะทางเศรษฐกิจของ EU นั้น ปัจจุบัน เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน EU แต่ในปี 2050 อังกฤษ จะมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน EU และเป็นอันดับ 7 ของโลก อย่างไรก็ตาม GDP ของ 4 ประเทศนี้ จะเล็กกว่า GDP ของอินเดียเกือบครึ่ง และเมื่อเทียบกับจีนแล้ว จะมีขนาดไม่ถึง 1 ใน 4 ของ GDP จีน แนวโน้มในอนาคต หาก EU จะรักษาสถานะของตน คงจะต้องเดินหน้าบูรณาการทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2009 GDP ของ EU ทั้งกลุ่ม คิดเป็น 14 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งใหญ่กว่า GDP ของสหรัฐฯ เสียอีก ในปี 2050 คาดว่า EU จะมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 1.5% ซึ่งจะทำให้มี GDP ประมาณ 25 ล้านล้านเหรียญ
สำหรับรัสเซีย ซึ่งในอดีตและปัจจุบันเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ในปี 2050 บทบาทของรัสเซียคงจะลดลงเรื่อย ๆ และขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียก็คงจะถูกแซงโดยมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ดังนั้น ในระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ในอนาคต บทบาทของรัสเซียคงจะลดลงไปมาก
ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่
การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ และตัวแสดงใหม่ ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของประเทศในเอเชียและลาตินอเมริกา จะทำให้ การแบ่งประเทศเป็นประเทศพัฒนาแล้วกับกำลังพัฒนา คงจะล้าสมัย และคงจะมีคำถามตามมามากมายเกี่ยวกับระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ รวมทั้งบทบาทและโครงสร้างขององค์การระหว่างประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศในปี 2050 ยังไม่มีความชัดเจนว่า มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่จะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน และอำนาจในการจัดการเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในมือของกลุ่ม G7 ต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า ระเบียบเศรษฐกิจโลกและสถาบันระหว่างประเทศจะมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในอนาคต และการที่ G20 มาแทนที่ G8 ก็เป็นการเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น