Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การประชุมภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน

การประชุมภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน
ปีที่ 57 ฉบับที่ 12 วันศุกร์ที่ 11 - วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2552

ในช่วงระหว่างวันที่ 7 – 18 ธันวาคมนี้ กำลังมีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของการประชุมดังกล่าวดังนี้

ภูมิหลัง

การประชุมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนมีขึ้นครั้งแรกในปี 1992 ที่นคร รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งเราเรียกกันย่อ ๆ ว่า Earth Summit หรือ Rio Summit และมีการจัดทำข้อตกลงของ UN ที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC)
หลังจากนั้น ในปี 1997 ได้มีการจัดทำพิธีสารเกียวโต โดยให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ต่อมา ในปลายปี 2007 ได้มีการจัดประชุมที่บาหลี และได้มีการจัดทำ Bali Roadmap ที่เป็นกรอบกว้าง ๆ สำหรับการเจรจาสนธิสัญญาแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนฉบับใหม่ หลังจากพิธีสารเกียวโตหมดอายุลงในปี 2012 โดยตั้งเป้าว่าจะใช้เวลาในการเจรจา 2 ปี และจะให้การเจรจาสิ้นสุดลงในปี 2009
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาหลายครั้ง และการประชุมที่โคเปนเฮเกนก็ได้รับการคาดหวังว่า จะสามารถบรรลุสนธิสัญญาฉบับใหม่ได้ โดยได้มีการมองว่า ข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้ ทั้งนี้ เพราะกำหนดให้เฉพาะประเทศอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจก และสหรัฐซึ่งเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดก็ถอนตัวออกจากพิธีสารเกียวโต ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่จะมีประสิทธิภาพดีกว่าพิธีสารเกียวโต

โคเปนเฮเกน

สำหรับการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนนั้น มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมถึง 192 ประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 15,000 คน และมีผู้นำประเทศเข้าร่วมกว่า 100 คน ผู้นำโลกที่สำคัญที่จะเข้าร่วมการประชุม อาทิ ประธานาธิบดี Barack Obama นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Gordon Brown ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicholas Sarkozy และ นายกรัฐมนตรีอินเดีย Manmohan Singh

ในช่วง 2 -3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนท่าทีของประเทศสำคัญ โดยเฉพาะจากสหรัฐ จีนและอินเดีย จึงจะทำให้มีการคาดหวังค่อนข้างสูงในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ที่มีผู้เข้าร่วมการประชุมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ กลุ่มภาคประชาสังคมก็ได้มีการเดินขบวนประท้วง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ในยุโรป

ประเด็นการเจรจา

สำหรับเรื่องสำคัญของการเจรจาในครั้งนี้ จะเป็นการสานต่อจาก Bali Roadmap ซึ่งเน้นเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก การถ่ายโอน clean technology ให้กับประเทศกำลังพัฒนา และการช่วยเหลือประเทศยากจน Bali Roadmap ได้กำหนด 4 เสาหลัก สำหรับการประชุม คือ 1) การเจรจาลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศอุตสาหกรรมจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงภายใน 2020 2) ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน 3) ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศร่ำรวยเพื่อช่วยในการปรับตัว และ 4) จะมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้แก่ประเทศยากจน

ท่าทีของประเทศต่าง ๆ

· สหรัฐ

สหรัฐเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในอดีตเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนี้เป็นอันดับ
สองรองจากจีน สัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ 15 .5 % สำหรับท่าทีล่าสุดของสหรัฐ คือ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 17% จาก ระดับของปี 2005 ให้ได้ภายในปี 2020 ซึ่งถ้าปรับเป็นตัวเลข โดยใช้ฐานของระดับการปล่อยก๊าซในปี 1990 แล้ว สหรัฐจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 4 % เท่านั้น สหรัฐไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงแบบเดียวกับพิธีสารเกียวโตที่จะบีบบังคับประเทศภาคีให้ต้องปฏิบัติตามแทนที่จะทำด้วยความสมัครใจ สหรัฐยืนกรานที่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะ จีน อินเดีย บราซิล จะต้องมีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

· สหภาพยุโรป หรือ EU

EU ปล่อยก๊าซกระจกคิดเป็น 18% เป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐ EU ประกาศข้อเสนอที่ดูไปไกลกว่าเพื่อนในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมด้วยกัน โดยประกาศจะตัดลดลง 20 -30 % จากระดับปี 1990 ภายในปี 2020 ซึ่งเปรียบเทียบกับสหรัฐที่จะลดลง 4 % เท่านั้น นอกจากนั้น EU ยังประกาศที่จะตั้งวงเงินช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาถึง 150,000 ล้านเหรียญต่อปีภายในปี 2020

· ญี่ปุ่น

สำหรับญี่ปุ่น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 3.3 % ท่าทีของญี่ปุ่นใกล้เคียงกับท่าทีของ EU คือ ประกาศจะตัดลดก๊าซลง 25% ภายในปี 2020 นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น คือ Hatoyama ได้ประกาศความคิดริเริ่ม Hatoyama หรือ Hatoyama Initiative ซึ่งจะเพิ่มวงเงินให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา

· จีน

ขณะนี้ จีนกลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับหนึ่งของโลกถึง 20.7 % ในพิธีสารเกียวโต จีนถูกจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนาจึงไม่ต้องมีความรับผิดชอบในการตัดลดก๊าซเรือนกระจก แต่ขณะนี้ จีนกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากประเทศต่าง ๆ ที่จะให้ตัดลดก๊าซเรือนกระจกลง ท่าทีของจีนคือ ประกาศว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลง แต่จะคิดในสัดส่วนการปล่อยก๊าซต่อหัว ซึ่งถ้าคิดเป็นการปล่อยก๊าซต่อหัวแล้ว จีนจะจัดอยู่ในอันดับ 30 ของโลก โดยจีนประกาศว่า ต้องการให้ประเทศร่ำรวยตัดลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2020 ซึ่งจะสูงกว่าที่ประเทศร่ำรวยได้ประกาศไว้ นอกจากนี้ จีนยังเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินคิดเป็น 1% ของ GDP เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน

· อินเดีย

อินเดียปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 5% แต่
ถ้าคิดเป็นต่อหัว อินเดียจะอยู่ที่อันดับ 66 ของโลก ดังนั้น ท่าทีของจีนและอินเดียจึงเหมือนกัน คือ การจัดสรรความรับผิดชอบจะต้องใช้เกณฑ์ต่อหัวเป็นหลัก ท่าทีของอินเดียจึงเหมือนจีน โดยประกาศว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โดยใช้หลักเกณฑ์ต่อหัว และเช่นเดียวกับจีน อินเดียได้เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2020

· ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน

ประเทศกำลังพัฒนาจะมีท่าทีแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้ว จะมีท่าทีคล้าย ๆ จีนและอินเดีย คือเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยตัดลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% และเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 0.5 – 1 % ของ GDP เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนเงินก็คงจะหลายแสนล้านเหรียญต่อปี

การคาดการณ์ผลการประชุม

กระบวนการเจรจาในเรื่องนี้จริงๆ ได้ผ่านมา 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่การประชุมที่บาหลี ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า ได้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน ต่างฝ่ายต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตน พยายามปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่น จุดยืนของประเทศต่าง ๆ จึงกลายเป็นว่า พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้น้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่นมากที่สุด ดังนั้น เป้าหมายของเจรจาที่ตั้งไว้ใน Bali Roadmap ที่จะให้บรรลุถึงสนธิสัญญาฉบับใหม่ก็คงจะเป็นไปไม่ได้
มีความเป็นไปได้ 4 แนวทาง ในแง่ของผลการประชุมครั้งนี้

1) ข้อตกลงในลักษณะสนธิสัญญา ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้
2) ข้อตกลงในหลักการกว้าง ๆ ส่วนรายละเอียดก็คงจะต้องเจรจากันภายหลัง
3) เลื่อนการประชุมออกไปเป็นกลางปี 2010
4) การประชุมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งผมดูแล้วว่า ประเทศต่าง ๆ ก็ต้องการที่ให้การประชุมที่โคเปนเฮเกนประสบความสำเร็จและต้องการให้ตกลงกันให้ได้ ก่อนที่พิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลงในปี 2012 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ผลการประชุมน่าจะออกมาในแนวทางที่ 2 ซึ่งจะเป็นข้อตกลงทางการเมืองและหลักการอย่างกว้าง ๆ ส่วนรายละเอียดและการเจรจาสนธิสัญญา ก็คงจะเป็นขั้นตอนต่อไปของการเจรจาซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปี 2010

ไม่มีความคิดเห็น: