Obama กับสงครามอัฟกานิสถาน
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ที่ 18 - วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2552
ปัญหาด้านนโยบายต่างประเทศที่เป็นเรื่องปวดหัวที่สุดของ Obama คือ ปัญหาสงครามที่ยืดเยื้อในอัฟกานิสถาน และเมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ Obama ได้ตัดสินใจประกาศนโยบายใหม่ต่ออัฟกานิสถาน คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ สุนทรพจน์ประกาศนโยบายใหม่ต่ออัฟกานิสถานของ Obama ดังนี้
สุนทรพจน์ของ Obama
Obama ได้ใช้โอกาสในการกล่าวสุนทรพจน์ให้แก่โรงเรียนทหารที่ West Point โดยเนื้อหาเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประกาศนโยบายใหม่ต่ออัฟกานิสถาน ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ในตอนแรก Obama ได้ย้อนกลับไปถึงต้นตอของสงครามในอัฟกานิสถานว่าเกิดจากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 โดยได้มีผู้ก่อการร้ายจากเครือข่าย Al Qaeda ก่อวินาศกรรมโจมตีสหรัฐฯ ทำให้มีคนตายเกือบ 3,000 คน ฐานใหญ่ของ Al Qaeda อยู่ในอัฟกานิสถาน และได้รับการสนับสนุนปกป้องจากรัฐบาลตาลีบัน ต่อมา สหรัฐฯจึงได้ส่งกำลังทหารบุกอัฟกานิสถานเพื่อล้มล้างรัฐบาลตาลีบัน และบดขยี้เครือข่าย Al Qaeda และอเมริกาสามารถบุกเข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้ ต่อมาได้มีการจัดประชุมของ UN และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น โดยมีประธานาธิบดี คือ Hamid Karzai
อย่างไรก็ตาม ต่อมา สถานการณ์ในอัฟกานิสถานได้เลวร้ายลงเรื่อย ๆ เพราะทั้งนักรบตาลีบันและ Al Qaeda ได้ฟื้นคืนชีพ โดยแหล่งซ่องสุมใหม่ของ Al Qaeda อยู่บริเวณพรมแดนระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน ตาลีบันได้พยายามที่จะล้มล้างรัฐบาล Karzai และได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานมากขึ้นเรื่อย ๆ
Obama ได้เล่าต่อว่า ในขณะที่ภัยคุกคามหนักขึ้น แต่กำลังทหารของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานกลับมีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับในอิรัก คือ มีอยู่ประมาณ 30,000 คน เมื่อเทียบกับสมัยสงครามอิรักซึ่งมีทหารอเมริกันอยู่ถึง 160,000 คน ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะสู้กับตาลีบันและ Al Qaeda และไม่สามารถที่จะฝึกกองกำลังของอัฟกานิสถานขึ้นมาได้
และด้วยเหตุนี้เองที่ Obama จึงได้ให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ต่ออัฟกานิสถาน และขณะนี้การทบทวนยุทธศาสตร์ได้เสร็จสิ้นแล้ว และสหรัฐฯได้มียุทธศาสตร์ใหม่ต่ออัฟกานิสถานแล้ว โดยจะมีการเพิ่มทหารสหรัฐฯเข้าในอัฟกานิสถานกว่า 30,000 คน และ 18 เดือนหลังจากนั้น จะเริ่มถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน โดยจะมีการพัฒนากองกำลังของอัฟกานิสถาน
Obama กล่าวว่าเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ยังไม่เปลี่ยน คือ การเอาชนะ Al Qaeda ทั้งในอัฟกานิสถานและในปากีสถาน และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จะมีการดำเนินการ โดยการปฏิเสธแหล่งซ่องสุมของ Al Qaeda และการตีกลับการลุกคืบของตาลีบัน และปฏิเสธการล้มล้างรัฐบาล Karzai รวมทั้งการพัฒนากองกำลังของอัฟกานิสถาน
Obama บอกว่า จะมี 3 ยุทธศาสตร์หลัก
ยุทธศาสตร์แรกจะเป็นยุทธศาสตร์ทางทหาร ที่จะตีกลับการลุกคืบของตาลีบัน และพัฒนาความสามารถของกองกำลังอัฟกานิสถานในช่วง 18 เดือนข้างหน้า กองกำลังของสหรัฐฯที่จะเพิ่มขึ้น 30,000 คนนั้น จะถูกส่งเข้าไปในช่วงต้นปี 2010 เพื่อเข้าไปรักษาเมืองที่สำคัญ ๆ
ส่วนยุทธศาสตร์ที่สอง สหรัฐฯ จะร่วมมือกับพันธมิตรและสหประชาชาติ เพื่อทำให้ยุทธศาสตร์ด้านพลเรือนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเน้นส่งเสริมให้รัฐบาล Karzai มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนยุทธศาสตร์ที่สาม จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ความสำเร็จในอัฟกานิสถานขึ้นอยู่กับความร่วมมือของปากีสถาน โดยขณะนี้เชื้อโรคร้ายได้แพร่เข้าสู่ปากีสถานแล้ว โดยเฉพาะในเขตพรมแดนระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถาน การก่อวินาศกรรมในปากีสถานได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก กองทัพปากีสถานได้สู้รบอย่างหนักกับนักรบตาลีบันในเขตทางตะวันตกของปากีสถาน ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯกับปากีสถานมีศัตรูร่วมกัน สหรัฐฯ จะช่วยพัฒนาสมรรถนะภาพของปากีสถานในการสู้กับตาลีบัน
บทวิเคราะห์
ผมมองว่าสุนทรพจน์ของ Obama ในครั้งนี้ เป็นความพยายามของ Obama ที่จะแก้ไขปัญหาที่ปวดหัวที่สุดของ Obama คือ สงครามในอัฟกานิสถาน การตัดสินใจเพิ่มกองกำลังทหารเข้าไป ดูจะสวนทางกับนโยบายต่างประเทศของ Obama ในด้านอื่น ๆ ที่จะเน้นปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือ แต่ดูเหมือนกับว่า Obama ไม่มีทางเลือก
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ใหม่ของ Obama ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้าง ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้
· การเพิ่มกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถานถือเป็นเกมที่ค่อนข้างเสี่ยงมากสำหรับ
Obama ในประวัติศาสตร์มีทั้งกรณีที่สำเร็จและล้มเหลว ในกรณีที่ประสบความสำเร็จอาจจะเป็นกรณีอิรัก แต่ในกรณีที่ล้มเหลวคือ ในสมัยสงครามเวียดนาม ซึ่งหากมองว่า อาจจะซ้ำรอยสงครามเวียดนามนั้น เหตุผลคือ การเพิ่มกองกำลังเข้าไปจะยิ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านสหรัฐมากขึ้นจากชาวอัฟกานิสถาน และสาเหตุหลักที่ตาลีบันได้ยึดครองพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะชาวอัฟกานิสถานสนับสนุนตาลีบันและต่อต้านกองกำลังต่างชาติ
· หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ exit strategy ของ Obama คือ การพัฒนากองกำลัง
อัฟกานิสถานเพื่อสามารถสู้กับตาลีบันได้ และสหรัฐฯก็จะได้ถอนกำลังทหารออก แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะแม้ว่า สหรัฐฯจะได้พยายามฝึกทหารอัฟกานิสถานจำนวน 90,000 คน แต่ก็ดูจะไม่สามารถจะสู้กับนักรบตาลีบันได้ ที่ยุ่งไปกว่านั้น คือ กองทัพอัฟกานิสถานถูกครอบงำโดยชนเผ่า Tajiks แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่า Pashtuns ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถาน ชาว Pashtuns สนับสนุนตาลีบัน และนักรบตาลีบันเกือบทั้งหมดก็เป็นชาว Pashtuns
· ปัญหาใหญ่ประการที่สามคือ รัฐบาลของ Hamid Karzai มีปัญหาในเรื่อง
ความชอบธรรม โดยถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นเพียงรัฐบาลหุ่นของสหรัฐฯ
· ปัญหาอีกประการคือ การที่ Obama ได้ประกาศที่จะถอนทหารออกจาก
อัฟกานิสถานในอีก 18 เดือนคือ ในเดือนกรกฎาคมปี 2011 การประกาศเช่นนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะเป็นโอกาสที่นักรับตาลีบันจะไม่เคลื่อนไหวและรอให้ทหารอเมริกันถอนออกไป หลังจากนั้น จึงจะเปิดฉากการโจมตีครั้งใหม่
สำหรับ Obama แล้ว ก็อาจจะมองว่า การประกาศกำหนดเวลาการถอนทหาร จะเป็นการบอกชาวอเมริกันว่า สงครามในอัฟกานิสถานไม่ใช่เป็นสงครามที่ยืดเยื้อไม่มีที่สิ้นสุด และจะเป็นการบีบในรัฐบาล Karzai รีบปฏิรูปโดยเร็ว นอกจากนั้น ยังเป็นการประกาศให้ชาวอัฟกานิสถานเห็นว่า สหรัฐไม่ได้ต้องการยึดครองอัฟกานิสถาน แต่ในขณะเดียวกัน การประกาศเช่นนั้น จะเปิดโอกาสให้ตาลีบันรอไปอีก 18 เดือน และรอให้อเมริกาถอนทหารออกไป และค่อยเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่
· อีกปัญหาหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหม่ของ Obama คือ ความร่วมมือของปากีสถาน
ในสุนทรพจน์ของ Obamaได้เน้นย้ำว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ในอัฟกานิสถานจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อปากีสถานให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะการทำลายแหล่งซ่องสุมของตาลีบันและ Al Qaeda ในปากีสถาน แต่ผู้นำทหารของปากีสถาน ก็มองสงครามในอัฟกานิสถานต่างจากสหรัฐฯ โดยเชื่อว่า การก่อการร้ายของตาลีบันจะยุติก็ต่อเมื่ออเมริกาถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และต้องการให้มีข้อตกลงทางการเมือง โดยจะต้องดึงเอาตาลีบันมาเจรจาด้วย โดยจะต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จากรัฐบาล Karzai มาเป็นรัฐบาลที่ Pashtuns ซึ่งปากีสถานสนับสนุนและเป็นพวกเดียวกับปากีสถาน จะต้องมีบทบาททางการเมืองเพิ่มมากขึ้น
· เพราะฉะนั้น ในที่สุดแล้วการที่สหรัฐฯหวังจะเอาชนะในสงครามอัฟกานิสถานจึง
ไม่ใช่เรื่องง่าย การกำจัดตาลีบันอาจจะเป็นไปไม่ได้ อเมริกาอาจจะทำให้เพียงแค่ลดบทบาท และป้องกันไม่ให้ตาลีบันกลับคืนสู่อำนาจเท่านั้น
ดังนั้น เราจึงต้องจับตาดูกันต่อว่า การบ้านชิ้นที่ยากที่สุดของ Obama คือ สงครามอัฟกานิสถานนั้น ในที่สุดแล้ว Obama จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น