Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ปี 2009

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ปี 2009
ไทยโพสต์ วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2552

ปัจจุบัน กำลังมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระเบียบหรือระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ดังนี้

ระเบียบเศรษฐกิจโลกเก่า

ระเบียบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน มีชื่อว่า Bretton Woods System ได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีสหรัฐเป็นตัวแสดงหลัก ระบบ Bretton Woods มีลักษณะสำคัญคือ ตั้งอยู่บนหลักการที่เรียกว่า ฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ของระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน กลไกตลาด การเปิดเสรี การค้าเสรี นอกจากนี้ ระบบ Bretton Woods ยังมีสถาบันสำคัญ 3 สถาบัน ได้แก่ GATT ซึ่งค้ำจุนระบบการค้าเสรี และ IMF กับ ธนาคารโลก ซึ่งค้ำจุนระบบการเงินเสรี ระบบ Bretton Woods ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน โดยถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนจาก GATT มาเป็น WTO แต่โดยหลักๆแล้ว ก็ยังเป็นระบบเดิม

ผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน วิกฤตได้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและข้อบกพร่องของระบบ Bretton Woods ซึ่งสามารถแยกแยะเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้

· การขาดกลไกควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงิน ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ จริงๆแล้ว ต้นเหตุหลักของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ คือการขาดกลไกควบคุมสถาบันการเงินในระดับโลก แต่การประชุมสุดยอด G20 3 ครั้งที่ผ่านมา ก็ล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือไม่สามารถตกลงกันได้ ที่จะให้มีการจัดตั้งกลไกควบคุมสถาบันการเงินอย่างแท้จริง ตัวการสำคัญคือ สหรัฐที่ต้องการเตะถ่วงเรื่องนี้ สหรัฐไม่ต้องการกลไกควบคุมสถาบันการเงินโลก เพราะกลัวว่าอาจจะขัดกับผลประโยชน์ของสหรัฐ จุดมุ่งหมายใหญ่ของสหรัฐคือ การครองความเป็นเจ้าในระบบการเงินโลกต่อไป

· ความล้มเหลวของ WTO ในการเป็นกลไกเปิดเสรีการค้าโลก การเจรจารอบ Doha ทำท่าว่าจะล่ม ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างนำไปสู่การเกิดขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต สาเหตุหลักของความล้มเหลวในการเจรจารอบ Doha คือ การที่ประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนตกลงกันไม่ได้ โดยเฉพาะในการเปิดเสรีสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมและบริการ การงัดข้อกันและการชะงักงันของการเจรจา เป็นเพราะระบบการค้าโลกได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจ (ซึ่งมีสหรัฐผูกขาดอำนาจ) ไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ จึงมีการถ่วงดุลกันและกัน ไม่มีใครสามารถจะครอบงำ ผูกขาดกำหนดหลักเกณฑ์ทางการค้าแต่เพียงผู้เดียวได้อีกต่อไป

· ปัญหาขั้นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันคือ ปัญหาในด้านโครงสร้าง โดยจะเห็นได้จากความล้มเหลวของ IMF ในการเล่นบทบาทควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงิน การประชุม G20 ที่ผ่านมา ก็พยายามจะเพิ่มบทบาทให้กับ IMF และปฏิรูป IMF แต่ปัญหาใหญ่ของการปฏิรูป IMF คือ การเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศเศรษฐกิจใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา แต่ที่ผ่านมา IMF ไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เพราะมีการจัดสรรอำนาจในการลงคะแนนเสียงอย่างลำเอียงให้กับสหรัฐและยุโรป โดยสหรัฐเป็นประเทศเดียวที่มี veto power และมีอำนาจในการลงคะแนนเสียงถึง 20% ในขณะที่ยุโรปมีอำนาจในการลงคะแนนเสียงถึง 30 % ผู้อำนวยการ IMF ก็ถูกผูกขาดโดยคนยุโรปมาตลอด ในขณะที่ธนาคารโลก ปัญหาก็เหมือนกับ IMF คือตะวันตกครอบงำ และประธานธนาคารโลกก็ถูกผูกขาดโดยคนอเมริกันมาตลอด

· กลไก G7 G8 ก็ไม่สามารถเล่นบทผู้นำในระบบเศรษฐกิจโลกได้อีกต่อไป G8 ขาดความชอบธรรมในการเป็นเวทีแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก เพราะ G8 ไม่ได้สะท้อนโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน G8 จึงประสบกับวิกฤตศรัทธาอย่างหนัก ประเทศที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่ได้อยู่ในกลุ่ม G8 โดยเฉพาะจีนและอินเดีย

· วิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ ทำให้อำนาจของสหรัฐและตะวันตกตกต่ำลง ได้ทำลายชื่อเสียงของอเมริกาในฐานะผู้นำโลก ถือเป็นความล้มเหลวทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ของตะวันตก ความอ่อนแอของตะวันตกในครั้งนี้ได้ชี้ชัดว่า ระเบียบเศรษฐกิจโลกกำลังจะแปรเปลี่ยนจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจที่สหรัฐเป็นศูนย์กลาง ไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจที่มีมหาอำนาจอื่นๆมีบทบาทมากขึ้น

สหรัฐกำลังจะสูญเสียสถานะความเป็นมหาอำนาจในระบบการเงินโลกหรือไม่ นิวยอร์กจะสูญเสียสถานะการเป็นศูนย์กลางของระบบการเงินโลกหรือไม่ และสถานะของเงินดอลลาร์จะเสื่อมลงหรือไม่
วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อฉันทามติวอชิงตัน ทำให้ฉันทามติวอชิงตันสั่นคลอนลงไปมาก และเริ่มเสื่อมความนิยมลง การที่รัฐบาลสหรัฐและยุโรปได้เข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ก็เท่ากับเป็นการทำลายหลักการฉันทามติวอชิงตันของตนเอง

· สาเหตุใหญ่ของปัญหาข้างต้น ก็เป็นผลมาจากการสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองของระบบ Bretton Woods ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อ 60 ปีที่แล้ว บนพื้นฐานของการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจของตะวันตก แต่ในขณะนี้ โครงสร้างของอำนาจเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก


ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

ด้วยปัจจัยดังกล่าวต่างๆข้างต้น จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบเศรษฐกิจโลก ปัจจัยสำคัญคือ การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ขณะนี้ ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจใหม่ มีสัดส่วนคิดเป็น 40% ของเศรษฐกิจโลก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เศรษฐกิจของกลุ่มนี้ มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยประมาณ 6% ต่อปี ในขณะที่กลุ่มประเทศร่ำรวยอัตราเฉลี่ยประมาณ 2-3% และหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยและติดลบ

เอเชียถือเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลก จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐ และอินเดียก็ตามมาติดๆ และในอนาคต จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

ในขณะที่สัดส่วนเศรษฐกิจของสหรัฐต่อเศรษฐกิจโลกลดลงเรื่อยๆ คือลดลงจาก 50% เหลือเพียง 20% ในปัจจุบัน แต่การผงาดขึ้นมาของจีน ทำให้สัดส่วนเศรษฐกิจของจีนต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอีกไม่นานเศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าเศรษฐกิจของสหรัฐ และจีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระเบียบเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์คือ การที่กลไก G20 ได้กลายเป็นกลไกหลักแทนที่ G7 G8 ในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจโลก สมาชิกครึ่งหนึ่งของกลุ่ม G20 มาจากประเทศกำลังพัฒนา ในจำนวนนี้มีประเทศเอเชีย 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี

แต่จริงๆแล้ว ผมก็ยังมองว่า G20 ยังไม่มีความชอบธรรมในการเป็นกลไกบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจโลก เพราะ G20 เป็นกลุ่มที่อเมริกาตั้งขึ้นมา ประเทศที่เป็นสมาชิก G20 ก็เป็นประเทศที่อเมริกาเลือกเข้ามาทั้งหมด ดังนั้น ในที่สุดแล้ว อเมริกาจะยังคงครอบงำ G20 อยู่ คำถามใหญ่คือว่า จะมีความชอบธรรมอย่างไรที่ 20 ประเทศนี้ จะมาเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของประเทศอื่นๆอีกเกือบ 180 ประเทศ ผมคิดว่า เวทีและกลไกที่มีความชอบธรรมที่สุด น่าจะเป็นสหประชาชาติ

อีกเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันต่อคือ เรื่องการปฏิรูป IMF และธนาคารโลก โดยได้มีข้อเสนอให้มีการเพิ่มโควตาและอำนาจการลงคะแนนเสียง ให้กับประเทศในเอเชีย เพิ่มขึ้น 10% แต่ในการประชุม G20 ที่พิตส์เบิร์ก ตกลงที่จะเพิ่มให้เพียง 2.5 % นอกจากนี้ ควรจะต้องมีการยกเลิกสิทธิ veto ของสหรัฐ และผู้อำนวยการ IMF คนใหม่น่าจะมาจากคนที่ไม่ใช่ยุโรป รวมทั้งประธานธนาคารโลกคนใหม่ ก็ควรจะมาจากประเทศที่ไม่ใช่สหรัฐด้วย

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ได้รับความรู้เพิ่มเติมขอบคุณมากครับ กำลังหาข้อมูลเรื่องนี้พอดีเพื่อทำรายงานครับ