Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Obama ประกาศนโยบายต่อเอเชีย

Obama ประกาศนโยบายต่อเอเชีย
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 54 ฉบับที่ 9 วันศุกร์ที่ 20 - พฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2552

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่อเอเชียอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดย Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปและวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

พันธมิตร

ในตอนต้น Obama ได้กล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียต่อสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญในเรื่องการค้า และเอเชียยังเป็นจุดอันตรายของการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ และยังเป็นแหล่งซ่องสุมสำคัญของขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรง Obama กล่าวว่า การแก้ปัญหาความมั่นคงทางด้านพลังงาน และปัญหาภาวะโลกร้อนจะไม่ประสบความสำเร็จหากปราศจากความร่วมมือจากประเทศในเอเชีย

Obama จึงตอกย้ำว่า ด้วยความสำคัญของเอเชียดังกล่าว และเพื่อจะเผชิญกับสิ่งท้าทายร่วมกัน สหรัฐฯ จึงต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและสร้างหุ้นส่วนใหม่ ๆ กับประเทศในภูมิภาค โดยสหรัฐฯ ยังคงตอกย้ำความสำคัญของพันธมิตรทั้ง 5 ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไทย และฟิลิปปินส์

จีน

แต่ประเทศที่ Obama ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ จีน ซึ่ง Obama มีกำหนดการจะไปเยือนหลังการประชุม APEC Obama ได้แสดงจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อจีน โดยเน้นว่า โลกที่มีการติดต่อเชื่อมโยงกัน อำนาจไม่จำเป็นต้องเป็นเกมที่มีผู้แพ้ผู้ชนะ ประเทศหนึ่งไม่จำเป็นต้องกลัวความสำเร็จของอีกประเทศหนึ่ง ดังนั้น สหรัฐฯ จึงจะร่วมมือกับจีนในประเด็นปัญหาที่มีความสนใจร่วมกัน ทั้งนี้ เพราะสิ่งท้าทายในศตวรรษที่ 21 ไม่สามารถแก้ได้ด้วยประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น สหรัฐฯ และจีน จะได้ประโยชน์ร่วมกัน หากร่วมมือกันเผชิญกับสิ่งท้าทาย และนี่ก็คือ เหตุผลที่สหรัฐฯ ยินดีต้อนรับความพยายามของจีนที่จะเล่นบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้นในเวทีโลก

Obama ย้ำว่า สหรัฐฯไม่มีนโยบายปิดล้อมจีน และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนจะไม่กระทบกระเทือนพันธมิตรของสหรัฐฯในภูมิภาค ในทางตรงกันข้าม จีนที่ผงาดขึ้นมาด้วยความเข้มแข็งและมั่งคั่ง จะนำไปสู่ความเข็มแข็งของประชาคมโลก

ดังนั้น สหรัฐฯ จะกระชับความสัมพันธ์กับจีนทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ กับจีน คงจะไม่เห็นด้วยกันทุกเรื่อง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง สิทธิมนุษยชน สหรัฐฯ จะยังคงส่งเสริมค่านิยมพื้นฐานของสหรัฐฯ

เวทีพหุภาคี

นอกจากความสัมพันธ์ทวิภาคีแล้ว สหรัฐฯเชื่อว่า พัฒนาการขององค์กรพหุภาคี จะนำไปสู่ความมั่นคงและความรุ่งเรืองในภูมิภาค Obama บอกว่าในอดีต สหรัฐฯ ได้ถอยห่างออกจากองค์กรพหุภาคีต่าง ๆ ในภูมิภาค แต่วันเวลาเหล่านั้นได้ผ่านไปแล้ว ในอนาคต สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จะเข้าร่วมในการหารือเกี่ยวกับอนาคตของภูมิภาค และจะเข้าร่วมอย่างเต็มที่ในองค์กรต่าง ๆ ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นและจะถูกวิวัฒนาการขึ้นในอนาคต

Obama ตอกย้ำว่า เวที APEC จะยังคงส่งเสริมการค้าและความรุ่งเรืองในภูมิภาค และอาเซียนจะเป็นเวทีหารือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Obama จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯที่จะพบปะกับผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะเข้าร่วมกับเวที East Asia Summit (EAS) หรือ อาเซียน +6 อย่างเป็นทางการในอนาคต

เกาหลีเหนือ

ในสุนทรพจน์ของ Obama ได้กล่าวถึงปัญหาของเกาหลีเหนือ โดยได้กล่าวโจมตีเกาหลีเหนือว่า ได้เลือกหนทางการเผชิญหน้า และการแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ แต่หนทางดังกล่าว ได้รับการตอบสนองด้วยมาตรการคว่ำบาตร และได้มีข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ที่จำกัดบทบาทของเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธร้ายแรง

Obama เสนอว่า ยังมีอีกหนทางหนึ่งที่เกาหลีเหนือควรจะเลือกเดิน สหรัฐฯ พร้อมที่จะเสนอทางเลือกใหม่ให้เกาหลีเหนือ โดยแทนที่จะถูกโดดเดี่ยว เกาหลีเหนือจะมีอนาคตใหม่ในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก แต่หนทางดังกล่าวของเกาหลีเหนือ คือ เกาหลีเหนือจะต้องกลับเข้าสู่การเจรจา 6 ฝ่าย ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในอดีต กลับเข้ามาเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) และทำให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

พม่า

เรื่องสุดท้ายที่ Obama ได้กล่าวในสุนทรพจน์คือ นโยบายต่อพม่า โดยได้กล่าวว่า สหรัฐฯได้มีนโยบายใหม่ต่อพม่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯไม่ประสบความสำเร็จ แต่มาตรการปฏิสัมพันธ์ของประเทศอื่นก็ไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันประชาธิปไตยในพม่าเช่นเดียวกัน สหรัฐฯ จึงได้ทบทวนนโยบายใหม่ โดยจะเป็นการผสมผสานระหว่างมาตรการปฏิสัมพันธ์และมาตรการคว่ำบาตร ขณะนี้ สหรัฐฯได้ติดต่อเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลทหารพม่า โดยเงื่อนไขเจรจาคือ มาตรการคว่ำบาตรจะยังคงมีอยู่จนกว่าพม่าจะมีมาตรการเป็นรูปธรรมสู่การปฏิรูปประชาธิปไตย และหากพม่าเดินทางไปในทิศทางดังกล่าว ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯก็จะดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่พม่าจะต้องทำคือ การปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมดรวมทั้ง นางอองซาน ซูจี ยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย และหารืออย่างจริงจังระหว่างรัฐบาล ฝ่ายค้าน และชนกลุ่มน้อย

บทวิเคราะห์

· ภาพรวม : โดยภาพรวมแล้ว สุนทรพจน์ของ Obama ในครั้งนี้ถือเป็นการประกาศนโยบาย
ต่อเอเชียอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ซึ่งน่าจะเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ แต่เมื่อผมได้อ่านและได้วิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าวแล้ว ก็รู้สึกผิดหวัง เพราะโดยภาพรวมแล้ว ไม่ได้มีอะไรใหม่ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการตอกย้ำจุดยืนที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯได้เคยกล่าวไปแล้ว

หากเปรียบเทียบสุนทรพจน์ของ Obama ตั้งแต่เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า สุนทรพจน์ในครั้งนี้ ไม่มีความโดดเด่น และผมไม่ถือว่าเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ เราคงจำกันได้ว่า สุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นสุนทรพจน์ที่มีความโดดเด่นมากและเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ หลังจากนั้น Obama ก็มีสุนทรพจน์ที่โดดเด่นและเป็นประวัติศาสตร์หลายครั้ง อาทิ สุนทรพจน์ที่กรุงไคโร เป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ประกาศท่าทีใหม่ต่อโลกมุสลิม และสุนทรพจน์ที่ Obama กล่าวที่ UN เมื่อตอนเดือนกันยายน ก็เป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯประกาศนโยบายใหม่ต่อโลก

· พันธมิตร : หากวิเคราะห์ในแง่เนื้อหาของสุนทรพจน์ ก็เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะแทบไม่มี
อะไรใหม่ อาทิ จุดยืนของสหรัฐฯ ต่อพันธมิตรทั้ง 5 ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และเหมือนกับจุดยืนของรัฐบาล Bush ผมเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯต่อพันธมิตร ในยุค Obama ก็จะไม่เปลี่ยนไปจากในสมัยรัฐบาล Bush นั่นคือ ยุทธศาสตร์ hub and spokes โดยมีสหรัฐฯ เป็น hub หรือ ดุมล้อ และมีพันธมิตรเป็น spokes หรือ เป็นซี่ล้อ

· จีน : สำหรับนโยบายที่ Obama ประกาศต่อจีนนั้น ก็ไม่มีอะไรใหม่ มีลักษณะเน้น
ความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า จีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯในอนาคต ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐฯต่อจีนนั้น จะมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ โดยเน้นปฏิสัมพันธ์ทางการทูตหรือเศรษฐกิจ แต่เน้นปิดล้อมทางทหาร

· เวทีพหุภาคี : นโยบายของ Obama ต่อเวทีพหุภาคีในภูมิภาคที่ประกาศในครั้งนี้ ก็ไม่มีอะไร
ใหม่ คือ เป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาล Obama จะให้ความสำคัญต่อเวทีพหุภาคีในเอเชียมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือ การที่ Obama ประกาศว่า สหรัฐฯ จะเข้าร่วมเวที EAS อย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะเป็นการประกาศท่าทีอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ ต่อเวที EAS เป็นครั้งแรก ซึ่งการประกาศเช่นนี้น่าจะนำไปสู่ การที่สหรัฐฯ คงจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก EAS ในอนาคต และเราคงต้องเปลี่ยนชื่อ EAS จากอาเซียน +6 ไปเป็น อาเซียน +7
ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือการที่ Obama พูดว่า สหรัฐฯ ในฐานะประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เพราะฉะนั้น สหรัฐฯจะเข้าร่วมอย่างเต็มที่ในองค์กรต่าง ๆ ที่เหมาะสมที่จะถูกจัดตั้งขึ้นและวิวัฒนาการขึ้นมาใหม่ ซึ่งตรงนี้ ผมตีความว่า สหรัฐฯกำลังบอกว่า สถาปัตยกรรมในภูมิภาคหรือประชาคมในภูมิภาคต้องมีสหรัฐฯอยู่ด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการพูดกันการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชีย อย่างเช่น อาเซียน +3 ซึ่งจะไม่มีสหรัฐฯ

· พม่าและเกาหลีเหนือ : สำหรับประเด็นสุดท้ายที่ผมจะขอวิเคราะห์คือ ท่าทีของ Obama
ต่อเกาหลีเหนือและพม่าในสุนทรพจน์ ซึ่งก็เหมือนเรื่องอื่น ๆ คือ ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเพียงการตอกย้ำนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ ได้เคยประกาศออกมาหมดแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: