Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน (ตอนที่ 2)

แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน (ตอนที่ 2) คอลัมน์โลกปริทรรศน์ 4 มีนาคม 2555 ในคอลัมน์โลกปริทรรศน์ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มสงครามอิสราเอลกับอิหร่านไปบ้างแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ดังนี้ ภัยคุกคามจากอิหร่าน อิสราเอลมองว่า อิหร่านเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 และกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งหากอิหร่านทำสำเร็จ จะเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลเป็นอย่างมาก แม้ว่าอิสราเอลจะมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง แต่ก็ไม่สามารถเป็นหลักประกันความอยู่รอดของอิสราเอล จากการถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านในอนาคตได้ ความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์มีมากขึ้นทุกที อิหร่านได้สร้างโรงงานอาวุธนิวเคลียร์หลายแห่ง และเพิ่มสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียม เกือบจะถึงจุดที่สามารถพัฒนาเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้แล้ว Aviv Kochavi ผู้อำนวยการหน่วยงานข่าวกรองทางทหารของอิสราเอลบอกว่า อีกไม่นาน อิหร่านจะสามารถเพิ่มศักยภาพแร่ยูเรเนียมเพียงพอที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ 4 ลูก โดยน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ และหลังจากนั้น จะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ปี ที่จะสามารถพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ ต่อมา Ehud Barak รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ได้กล่าวว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกำลังจะเข้าสู่จุดที่ปลอดภัยจากการโจมตี ขณะนี้ อิหร่านกำลังรีบเคลื่อนย้ายโรงงานนิวเคลียร์ไปอยู่ในภูเขา Fordow ใกล้เมือง Qom ซึ่งจะอยู่ลึกเข้าไปในภูเขา จะทำให้ปลอดภัยจากการโจมตีทางอากาศ Leon Panetta รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า การโจมตีของอิสราเอลอาจจะถ่วงเวลาการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านออกไปได้ประมาณ 1-2 ปี ในขณะที่ Obama เรียกร้องให้อิสราเอลให้เวลากับมาตรการทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯพยายามส่งสัญญาณให้อิสราเอลรู้ว่า หากอิสราเอลตัดสินใจโจมตีอิหร่านในขณะนี้ สหรัฐฯจะไม่สนับสนุนและช่วยเหลืออิสราเอล อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Panetta ได้ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่อิสราเอลจะตัดสินใจโจมตีอิหร่าน โดยการโจมตีน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ปีนี้ แผนการโจมตี สำหรับรายละเอียดแผนการโจมตีอิหร่านของอิสราเอลนั้น คงจะเป็นปฏิบัติการทางทหารที่สลับซับซ้อนกว่าตอนที่อิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิรัก ที่เมือง Osirak ในปี 1981 และโรงงานนิวเคลียร์ของซีเรีย ที่เมือง al-Kibar ในปี 2007 โดยการโจมตีอิหร่านจะเป็นปฏิบัติการที่ยุ่งยากมาก เพราะอิหร่านเตรียมรับมือกับการโจมตีทางอากาศมานานแล้ว โดยได้กระจายโครงงานนิวเคลียร์ไปอยู่ตามเมืองต่างๆทั่วประเทศกว่า 10 แห่ง scenario การโจมตีทางอากาศของอิสราเอล น่าจะมุ่งเป้าไปที่โรงงานนิวเคลียร์ ที่เมือง Natanz และเมือง Fordow และเป้าหมายถัดมา น่าจะเป็นโรงงานนิวเคลียร์ ที่เมือง Isfahan และเมือง Arak อิสราเอลมีระเบิดที่มีความสามารถทะลุทะลวงชั้นคอนกรีต อยู่อย่างน้อย 100 ลูก แต่ละลูกมีน้ำหนักประมาณ 5,000 ปอนด์ ซึ่งน่าจะทำลายโรงงานนิวเคลียร์ที่เมือง Natanz ได้ แต่คำถามสำคัญที่สุด ก็คือ การโจมตีด้วยระเบิดดังกล่าว จะสามารถทำลายโรงงานนิวเคลียร์ ที่เมือง Fordow ที่ฝังอยู่ลึกลงไปในภูเขากว่า 80 เมตร ได้หรือไม่ ผลกระทบ ดังนั้น คำถามสำคัญ คือ ปฏิบัติการโจมตีอิหร่านของอิสราเอล จะสามารถทำลายโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านได้หรือไม่ และถึงแม้หากจะสามารถทำลายโรงงานได้ ผลที่ตามมา ก็คือ อิหร่านก็มีศักยภาพพอที่จะซ่อมแซมและสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่ ดังนั้น แม้ว่าปฏิบัติการทางทหารจะประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นเพียงการถ่วงเวลา การที่อิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์ออกไปได้เพียง 3-4 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามจะเกิดขึ้นมากมายหลายด้าน • ที่ชัดเจน คงหนีไม่พ้นเรื่องราคาน้ำมัน ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก • อิหร่านได้ประกาศขู่เอาไว้แล้วว่า หากเกิดสงคราม จะปิดช่องแคบ Hormuz • สงครามอาจลุกลามบานปลาย โดยอิหร่านได้ขู่ว่า จะโจมตีประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ที่มีฐานทัพของสหรัฐฯตั้งอยู่ ได้แก่ คูเวต บาห์เรน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE • หากอิหร่านปิดช่องแคบ Hormuz และโจมตีประเทศในอ่าวเปอร์เซีย จะดึงสหรัฐฯเข้าสู่สงคราม จะทำให้สงครามลุกลามบานปลาย • ประเทศอิสราเอลเอง ก็คงจะถูกโจมตีจากอิหร่าน โดยเฉพาะการยิงขีปนาวุธจากอิหร่านเพื่อโจมตีอิสราเอล รวมทั้ง กลุ่มก่อการร้ายที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน คือกลุ่ม Hizbollah และ Hamas ก็คงจะผสมโรงร่วมกันโจมตีอิสราเอลอย่างแน่นอน • และสำหรับอิหร่านเอง แน่นอนว่า หากถูกอิสราเอลโจมตี อิหร่านก็คงจะโกรธแค้นอิสราเอลเป็นอย่างมาก และคงจะยิ่งมีความมุ่งมั่นมากขึ้น ในการที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้สำเร็จ โอกาสที่อิหร่านจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้สำเร็จ ก็มีมากขึ้นไปอีก

ไม่มีความคิดเห็น: