วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน 2012 (ตอนที่ 2)
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน 2012 (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 2 – วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2555
สถานการณ์ล่าสุด
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านยืดเยื้อมานานหลายปี แต่เมื่อปีที่แล้ว IAEA ประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านน่าจะแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับอิหร่านตึงเครียดขึ้นมาก
ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนนี้ อิหร่านได้เปลี่ยนท่าที ต้องการหันกลับมาเจรจาในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ยอมให้คณะตรวจสอบจาก IAEA เข้าตรวจสอบในที่น่าสงสัยว่า อิหร่านอาจแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ในขณะนี้ มีแนวโน้มพัฒนาการความขัดแย้งตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ มีความห่วงกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า อิหร่านกำลังจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ การเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แนวโน้มสงครามโจมตีอิหร่าน และการวางระเบิดหลายจุด ที่กรุง New Delhi และกรุง Tbilisi เมืองหลวงของจอร์เจีย รวมทั้งที่กรุงเทพฯด้วย โดยอิสราเอลกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน ที่มุ่งเป้าไปที่นักการทูตของอิสราเอล
สงคราม
ขณะนี้ จึงมีความวิตกกังวลว่า จะเกิดสงครามขึ้น โดยอาจจะเป็นการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน จากอิสราเอลและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การโจมตีดังกล่าว น่าจะเป็นเพียงแค่การถ่วงเวลา ในการที่อิหร่านจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้เท่านั้น แต่คงจะไม่สามารถหยุดยั้งได้ นอกจากนั้น โรงงานที่ถูกทำลาย อิหร่านก็จะสร้างขึ้นใหม่ได้ และโรงงานใหม่ก็จะยากขึ้นที่จะถูกโจมตี และการโจมตีอิหร่านอาจจะส่งผลกระทบหลายเรื่อง ทั้งการตอบโต้จากอิหร่าน ซึ่งจะทำให้สงครามบานปลาย และกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน
นิวเคลียร์อิหร่าน
ความเป็นไปได้อีกทางหนึ่ง คือ การที่จะยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่การที่อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยอาจจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอิหร่าน เช่น อียิปต์และซาอุดิอาระเบีย ก็คงจะต้องรีบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตน อิหร่านที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองจะมีนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวมากขึ้น และอิหร่านก็จะกลายเป็นเจ้าครอบงำภูมิภาค นอกจากนั้น ยังมีโอกาสที่อิหร่านจะส่งต่อวัตถุดิบนิวเคลียร์ให้กับกลุ่มก่อการร้ายได้อีกด้วย
การคว่ำบาตร
ดังนั้น มาตรการในขณะนี้ที่ตะวันตกผลักดัน คือ มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นต่ออิหร่าน โดยสหรัฐฯ ได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อธนาคารกลางอิหร่าน ทำให้อิหร่านจะส่งออกน้ำมันไม่ได้ โดยจะมีมาตรการลงโทษสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารกลางอิหร่าน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้ออกมาตรการคว่ำบาตร ไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน การส่งออกน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 50-70% ของรายได้ของอิหร่าน International Energy Agency หรือ IEA ได้ประเมินว่า การส่งออกน้ำมันของอิหร่านจะลดลงถึง 60% หากมาตรการคว่ำบาตรถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
มีการประเมินว่า มาตรการคว่ำบาตรในขณะนี้ ได้สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจของอิหร่านแล้ว จึงมีการวิเคราะห์กันว่า การที่อิหร่านเปลี่ยนท่าที ทั้งในแง่ของการจะยอมกลับมาเจรจา รวมทั้งท่าทีที่ก้าวร้าวมากขึ้น และอาจรวมถึงการสนับสนุนการก่อการร้ายที่มุ่งเป้าไปที่อิสราเอล ก็อาจจะเป็นผลมาจากการถูกบีบจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของอิสราเอล กลับมองว่า มาตรการคว่ำบาตรไม่ได้ผล และถึงจะได้ผลก็ช้าเกินไปที่จะหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน จึงทำให้อิสราเอลมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจใช้กำลังโจมตีอิหร่าน
การเจรจา
ดังนั้น ฝ่ายเสรีนิยม ที่มองโลกในแง่ จึงสนับสนุนแนวทางในการเจรจาเพื่อยุติปัญหากับอิหร่าน โดยได้ชี้ให้เห็นว่า อิหร่านได้เปลี่ยนท่าทียอมกลับมาเจรจา โดยเฉพาะกับกลุ่มสมาชิกถาวรของ UNSC ทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย และบวกอีก 1 คือ เยอรมนี มีการวิเคราะห์ว่า การที่อิหร่านได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้อิหร่านประสบความยากลำบากในการขายน้ำมัน รวมทั้งความกังวลใจที่อิหร่านอาจถูกโจมตีจากอิสราเอลและสหรัฐฯ ทำให้ผู้นำอิหร่านหันกลับมาเจรจากับตะวันตก
สูตรการเจรจา ที่อาจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน คือ อิหร่านจะต้องยอมให้คณะผู้ตรวจสอบของ IAEA เข้าไปตรวจสอบแหล่งที่สงสัยว่า อิหร่านอาจแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะเดียวกัน ข้อแลกเปลี่ยนของทางตะวันตก คือ ตะวันตกและ UN จะต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ยังมีความยากลำบากที่จะหาสูตรการเจรจาที่ลงตัว โดยในที่สุด อิหร่านอาจจะปฏิเสธเงื่อนไขการเจรจา ผู้นำอิหร่านอาจมองว่า อาวุธนิวเคลียร์เป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของอิหร่าน และจะเป็นหลักประกันป้องกันการโจมตีจากตะวันตก
สำหรับในฟากของทางตะวันตก ก็มีหลายฝ่ายมองว่า การเปลี่ยนท่าทีของอิหร่าน หันกลับมาเจรจานั้น เป็นเพียงยุทธศาสตร์การเตะถ่วง เพื่อให้อิหร่านมีเวลาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะใช้ไม้อ่อนหรือไม้แข็ง ก็ดูจะมีปัญหาแทบทั้งสิ้น ดูแล้ว ยังเลือนรางว่า วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านจะจบลงอย่างสันติได้อย่างไร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น