วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555
วิกฤต Eurozone ปี 2012
วิกฤต Eurozone ปี 2012
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
26 กุมภาพันธ์ 2555
ภูมิหลัง
วิกฤตหนี้ของยุโรป ที่เรียกว่า วิกฤต Eurozone นั้น ปีที่แล้ว เข้าขั้นวิกฤต โดยในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบภาวะหนี้สิน ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส แต่ต่อมา วิกฤตได้ลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน วิกฤต Eurozone ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า กำลังจะเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่
สถานการณ์ปี 2012
ในปีนี้ สถานการณ์ดูมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลังของ EU และได้มีสัญญาณในทางที่ดี โดยได้มีแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจเกิดขึ้นในหลายประเทศสมาชิก Eurozone
ที่เป็นศูนย์กลางของวิกฤต ยังคงเป็นกรีซ รัฐมนตรีคลังของ EU ได้กดดันให้รัฐบาลกรีซปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเร็ว แม้ว่า จะมีการจราจลเกิดขึ้นในกรุงเอเธนส์ เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด แต่รัฐสภาของกรีซ ก็ได้ผ่านกฎหมายปฏิรูป รวมถึงมาตรการรัดเข็มขัด หลังจากนั้น ที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง EU จึงได้ตัดสินใจปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ให้กับกรีซ เป็นเงิน 170,000 ล้านเหรียญ โดยมีการตั้งเป้าหมายว่า จะพยายามลดหนี้ภาครัฐของกรีซลงให้เหลือ 120% ของ GDP ภายในปี 2020 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับประมาณเกือบ 200% ของ GDP
สำหรับประเทศอื่นๆใน Eurozone ก็ได้มีการส่งสัญญาณการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง อาทิ ความสามารถในการแข่งขันของไอร์แลนด์ได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลใหม่ของสเปนมีแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนในช่วงปลายปีที่แล้ว สำหรับอิตาลี นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ Mario Monti ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนสูงที่สุดในรอบหลายปี โดย Monti ได้ผ่านกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายด้าน และกำลังเสนอกฎหมายปฏิรูปทางด้านแรงงานเข้าสู่สภาของอิตาลี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า จะมีแนวโน้มในทางบวกข้างต้น แต่สัญญาณในเชิงลบก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลข GDP ซึ่งปรากฏว่า GDP ของกรีซ ติดลบถึง 7% ส่วนอิตาลี สเปน และโปรตุเกส GDP ในปีนี้ มีแนวโน้มจะลดลงมาก ในภาพรวม เศรษฐกิจของ Eurozone ยังคงติดลบอยู่ สำหรับตลาดพันธบัตร ก็มีแนวโน้มในเชิงลบเช่นเดียวกัน หลังจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ Eurozone ลง นอกจากนี้ นักลงทุน แม้ว่าจะมองว่าสเปนและอิตาลีดีขึ้น แต่ยังคงเป็นห่วงสถานการณ์ในโปรตุเกส
นอกจากนี้ แม้ว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจ จะส่งผลในระยะยาว แต่คงจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะเห็นผล ดังนั้น ในระยะสั้น มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ กลับจะส่งผลกระทบในเชิงลบ คือ จะเพิ่มอัตราการว่างงาน และลดรายได้ของประชาชนลง
แนวโน้ม
ดังนั้น แม้ว่า ในปีนี้ สถานการณ์วิกฤต Eurozone จะดูดีขึ้น แต่ยังไม่พ้นวิกฤต และยังคงน่าเป็นห่วง โดยยังมีหลายปัจจัยที่จะทำให้วิกฤตลุกลามบานปลาย จนอาจเกิดเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ได้
ปัจจัยประการแรก คือ ยังมีความไม่แน่นอนว่า กรีซจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลายได้หรือไม่ และหากกรีซล้มละลาย ก็อาจเกิดภาวะ domino effect ทำให้วิกฤตลามเข้าสู่อิตาลีและสเปนได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กองทุน EFSF ซึ่งขณะนี้ มีเงินอยู่เพียง 500,000 ล้านยูโร ก็คงจะไม่สามารถกอบกู้วิกฤตหนี้ของอิตาลีและสเปนได้
อีกปัจจัย คือ ปัญหาของธนาคารในยุโรป แม้ว่า จะมีการเพิ่มทุนอีก 100,000 ล้านยูโร แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะธนาคารยุโรป ได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่มีปัญหาหนี้ เป็นเงินกว่า 4 ล้านล้านยูโร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น