Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ยุทธศาสตร์ทหารต่อเอเชีย ปี 2012

ยุทธศาสตร์ทหารต่อเอเชีย ปี 2012 ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกขึ้นมาก เมื่อเร็วๆนี้ ประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯต่อเอเชีย โดยยุทธศาสตร์ใหม่ที่สำคัญ คือ จะส่งทหารมาประจำการทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ที่เมือง Darwin จำนวน 2,500 นาย กองทัพเรือ และกองทัพอากาศของสหรัฐฯ จะเพิ่มการปฏิบัติการ และซ้อมรบมากขึ้น โดยเมือง Darwin จะทำให้สหรัฐฯเข้าถึงเส้นทางการเดินเรือในทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรอินเดียได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯมีแผนจะส่งเครื่องบิน B52 มาประจำการที่ฐานทัพอากาศเมือง Tindal ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Darwin 300 กิโลเมตร ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลียทางตอนเหนือของออสเตรเลีย จะทำให้เขตดังกล่าว กลายเป็นจุดสำคัญของความเคลื่อนไหวทางทหารในภูมิภาค เมือง Darwin ตั้งอยู่ห่างจากอินโดนีเซีย เพียง 800 กิโลเมตร ดังนั้น จึงมีการวิเคราะห์และจับตามองความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด จีนได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยมองว่า การส่งทหารมาที่ Darwin แสดงถึง “Cold War mentality” ของสหรัฐฯ และจะเป็นการเพิ่มกำลังทหารเข้ามาในภูมิภาค โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้จีนกับอาเซียนขัดแย้งกัน สำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย คือ Marty Natalegawa ได้ออกมากล่าวเตือนว่า นโยบายของสหรัฐฯจะทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็พยายามสงวนท่าที ในขณะที่ญี่ปุ่นกลับแสดงความยินดีต่อข่าวดังกล่าว สำหรับในออสเตรเลีย ก็มีการถกเถียงกันในเรื่องนี้ โดยนักวิชาการออสเตรเลียมองว่า การประจำการของทหารสหรัฐฯในออสเตรเลีย จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีน และจีนคงจะมองว่า ออสเตรเลียกำลังเป็นแนวร่วมกับสหรัฐฯในการดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ น่าจะเป็นการตอบสนองต่อความห่วงใยของสหรัฐฯต่อการเพิ่มอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาค การส่งกองกำลังทหารไปประจำการที่เมือง Darwin นั้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ต้องการที่จะจัดวางกองกำลังของสหรัฐฯไกลกว่าพิสัยของขีปนาวุธจีน แต่ก็ใกล้ต่อประเทศพันธมิตรที่เป็นเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสหรัฐฯมีแผนที่จะประจำการเรือรบของสหรัฐฯที่สิงคโปร์ รวมทั้งกำลังมีความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือและกองทัพอากาศของสหรัฐฯกับอินโดนีเซียด้วย ยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่จะสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค มีชื่อยุทธศาสตร์ว่า “Offshore Asia” โดยแบ่งเอเชียตะวันออกเป็น 2 เขต คือ เขตตะวันออกเฉียงเหนือ และเขตตะวันออกเฉียงใต้ เขตตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ค่อนข้างจะลงตัวแล้ว ด้วยการคงฐานทัพไว้ที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเกาะกวม ซึ่งมีทหารประจำการอยู่กว่า 80,000 คน สำหรับในเขตตะวันออกเฉียงใต้นั้น สหรัฐฯกำลังดำเนินการจัดวางกองกำลังอยู่ โดยเน้นยุทธศาสตร์ “Offshore Asia” หรือยุทธศาสตร์นอกชายฝั่งเอเชีย ซึ่งรวมถึง ประเทศอาเซียนที่เป็นเกาะ โดยเฉพาะ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ด้วย ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นกุญแจสำคัญในการคงดุลยภาพแห่งอำนาจ และป้องกันการผงาดขึ้นมาของเจ้าในภูมิภาค หรือ regional hegemon ซึ่งในสายตาของสหรัฐฯก็คือ การผงาดขึ้นมาของจีนนั่นเอง คำถามสำคัญ คือ ทำไมสหรัฐฯถึงเน้นยุทธศาสตร์ “Offshore Asia” ทำไมถึงเน้นยุทธศาสตร์นอกชายฝั่ง คำตอบก็คือ เส้นทางการเดินเรือ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่มีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ แต่คำตอบที่น่าจะสำคัญที่สุด คือ สหรัฐฯเลือกยุทธศาสตร์นี้ เพราะสหรัฐฯและพันธมิตรมีความได้เปรียบจีนเป็นอย่างมากในแง่พลังอำนาจของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรือสหรัฐฯในภูมิภาค ประกอบด้วย เรือรบถึง 180 ลำ เครื่องบินรบเกือบ 2,000 ลำ และทหารกว่า 125,000 คน ประเด็นสำคัญที่ต้องวิเคราะห์ต่อ คือ สถานการณ์ในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อาจกล่าวได้ว่า อาเซียนนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเกาะ กับส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ สำหรับส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่นั้น จีนมีอิทธิพลอย่างมาก และได้ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินนโยบายในเชิงรุก กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้อย่างเต็มที่ โดยได้เน้นการเชื่อมโยง ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน นอกจากนี้ ยังมีกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) ซึ่งเชื่อมจีนกับแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยแผนการสร้างเครือข่ายการคมนาคม ทั้งทางถนนและทางรถไฟ เชื่อมแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะกับยูนนาน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้พยายามริเริ่มกรอบความร่วมมือ Lower Mekong Initiative เพื่อมาแข่งกับจีน แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะลดอิทธิพลของจีนลงไปได้ กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ทหารใหม่ของสหรัฐฯต่อภูมิภาค คือ ยุทธศาสตร์ “Offshore Asia” โดยจะมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง Darwin จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคเป็นอย่างมากในอนาคต และน่าจะทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับจีนในอนาคตด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: