วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555
แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน
แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
19 กุมภาพันธ์ 2555
ท่าทีของอิสราเอล
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล Ehud Barak ได้ประกาศว่า เวลาที่จะหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน กำลังเหลือน้อยลงทุกที ทั้งนี้ เพราะอิหร่านกำลังเคลื่อนย้ายโรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมไปสถานที่ใหม่ ชื่อ Fordow ซึ่งอยู่ในภูเขาใกล้เมือง Qom ทำให้ไม่สามารถทิ้งระเบิดทำลายได้
ต่อมา ผู้นำหน่วยงานข่าวกรองทางทหารของอิสราเอล คือ นายพล Aviv Kochavi ได้กล่าวว่า ขณะนี้ อิหร่านมีวัตถุดิบที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ 4 ลูกแล้ว และสามารถทำได้ภายในปีนี้ หากผู้นำอิหร่านสั่งการ
ต่อมา หนังสือพิมพ์ Washington Post ได้รายงานว่า รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ Leon Panetta ได้คาดการณ์ว่า อิสราเอลจะโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในช่วงประมาณเมษายน-มิถุนายนนี้
อย่างไรก็ตาม วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านเกิดขึ้นมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว และมีหลายครั้งที่อิสราเอลและสหรัฐฯขู่ว่าจะโจมตีอิหร่าน แต่ก็ไม่ได้มีการโจมตีจริง ในครั้งนี้ จึงมีคำถามสำคัญว่า การออกมาพูดเช่นนี้ของอิสราเอลและสหรัฐฯ จะเป็นแค่เพียงการขู่ให้อิหร่านกลัว และบีบให้อิหร่านหันกลับมาเจรจา หรือครั้งนี้อาจจะมีสงครามเกิดขึ้นจริงๆ
แรงกดดันเรื่องเวลา
มีหลายปัจจัยและเหตุผลที่ทำให้น่าวิตกว่า คราวนี้อาจจะเกิดสงครามขึ้นจริงๆ
ปัจจัยแรก คือ แรงกดดันเรื่องเวลา มีคำถามว่า ทำไมอิสราเอลถึงจะต้องรีบร้อนโจมตีอิหร่านในช่วงเมษายน-มิถุนายนนี้ เหตุผลมาจากรายงานของ Bipartisan Policy Center วิเคราะห์ว่า อิหร่านกำลังเดินหน้าเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมอย่างเต็มที่ แต่ที่สำคัญต่ออิสราเอล คือ อิหร่านกำลังจะย้ายโรงงานเสริมสร้างแร่ยูเรเนียมเข้าไปในภูเขา Fordow ใกล้เมือง Qom ซึ่งโรงงานจะอยู่ลึกเข้าไปในภูเขา ลึกเกินกว่าที่อิสราเอลจะโจมตีด้วยระเบิดได้ ดังนั้น อิสราเอลจึงต้องรีบโจมตีก่อน
ทางเลือกอื่นๆ
อีกเหตุผลหนึ่งที่อิสราเอลตัดสินใจโจมตีอิหร่าน คือ ความล้มเหลวของทางเลือกอื่นๆที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน แม้ว่า ในขณะนี้ ประชาคมโลกกำลังดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ก็ไม่สามารถชะลอการเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ และตราบใดที่รัสเซีย จีน และอินเดีย ยังคงสนับสนุนอิหร่าน ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง มาตรการคว่ำบาตรก็จะไม่ได้ผล
ในขณะนี้ ชาติตะวันตกพยายามหว่านล้อมให้อิสราเอลอดทน และพยายามบอกอิสราเอลว่า มาตรการคว่ำบาตรกำลังจะได้ผล แต่ทางฝ่ายอิสราเอลได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า หากไม่มีความคืบหน้าในมาตรการคว่ำบาตรในช่วง 1-2 เดือนนี้ อิสราเอลอาจจะตัดสินใจโจมตีอิหร่าน
อิสราเอลจะได้ประโยชน์ หากความขัดแย้งลุกลามบานปลาย
มีคำถามว่า หากอิสราเอลโจมตีอิหร่าน จะทำให้สงครามบานปลาย ซึ่งก็มีการวิเคราะห์กันว่า อิสราเอลคงอยากจะเห็นความขัดแย้งลุกลามบานปลายอยู่แล้ว ซึ่งตามทฤษฎีนี้ มองว่า เมื่ออิสราเอลโจมตีอิหร่าน อิหร่านคงจะตอบโต้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้อิสราเอลในการขยายวงการโจมตีอิหร่าน และหากอิหร่านตัดสินใจปิดช่องแคบ Hormuz และโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ ก็จะดึงให้สหรัฐฯเข้าสู่สงคราม ซึ่งจะเข้าทางอิสราเอล
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านจะจบลงอย่างไร
อิสราเอลมียุทธศาสตร์ที่มองว่า การโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน คงจะไม่สามารถยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างถาวร อิหร่านคงจะกลับมาสร้างโรงงานนิวเคลียร์ใหม่ต่อ แต่อิสราเอลก็คงจะมีแผนที่จะทำสงครามยืดเยื้อกับอิหร่าน โดยน่าจะเป็นการบุกโจมตีอิหร่านไปเรื่อยๆ เพื่อชะลอการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน และเพื่อรอการเปลี่ยนระบอบของอิหร่าน อิสราเอลหวังว่า การทำสงครามยืดเยื้อกับอิหร่านโดยการโจมตีทางอากาศไปเรื่อยๆ จะชะลอการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจะทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านอ่อนแอลง ซึ่งจะทำให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลอิหร่านน้อยลง นำไปสู่การเปลี่ยนระบอบ
อิสราเอลคงจะคาดว่า อิหร่านคงจะเสริมสร้างกำลังทางทหารมากขึ้น และคงจะล็อบบี้ให้ประชาคมโลกสนับสนุนอิหร่าน และต่อต้านความก้าวร้าวของอิสราเอล และแม้ว่า การโจมตีอิหร่านจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน และอิสราเอลคงจะได้รับการตำหนิและประณามจากประชาคมโลก แต่สิ่งเหล่านี้ก็คงจะไม่สามารถหยุดยั้งการตัดสินใจโจมตีอิหร่านของอิสราเอลได้
กล่าวโดยสรุป เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า วิกฤตคราวนี้จะเป็นเพียงแค่การขู่ หรือจะกลายเป็นสงครามจริงกันแน่
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น