Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

แนวโน้มสถานการณ์การก่อการร้ายสากล ปี 2012

แนวโน้มสถานการณ์การก่อการร้ายสากล ปี 2012 ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 – วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์2555 ภาพรวม สถานการณ์การก่อการร้ายสากลยืดเยื้อมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 สำหรับในปีนี้ การก่อการร้ายสากลจะยังคงเป็นภัยคุกคามต่อประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง โดยในบางมิติ สถานการณ์อาจจะดูดีขึ้น โดยเฉพาะองค์กร al-Qaeda ซึ่งหลังจาก Osama Bin Laden ถูกสังหาร ทำให้องค์กรอ่อนแอลง แต่ในบางมิติ สถานการณ์มีแนวโน้มจะเลวร้ายลง โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯถอนทหารออกจากอิรักในช่วงปีที่แล้ว และประกาศจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014 ซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและปากีสถานเลวร้ายลง นอกจากนี้ กลุ่มก่อการร้าย ได้พยายามสร้างภาพว่า การถอนทหารของสหรัฐฯออกจากอิรักและอัฟกานิสถานนั้น ถือเป็นความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯทั้ง 2 สมรภูมิ และแม้ว่า องค์กร al-Qaeda จะอ่อนแอลง แต่อุดมการณ์และเครือข่ายองค์กรร่วมอุดมการณ์ทั่วโลก ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อประชาคมโลกอยู่ ในปีนี้ โลกจะยังคงประสบกับปัญหาการก่อการร้ายใน 4 มิติด้วยกัน มิติแรก คือ จะเป็นการก่อการร้ายโดยกลุ่มก่อการร้ายที่อาศัยอยู่ในตะวันตกซึ่งเรียกว่า home-grown terrorist มิติที่ 2 การก่อการร้ายและการก่อวินาศกรรม มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอิรักและในอัฟกานิสถาน มิติที่ 3 คือ การลุกลามขยายตัวของการก่อการร้ายเข้าสู่เยเมนและโซมาเลีย และมิติที่ 4 คือ การลุกลามขยายวงของขบวนการก่อการร้าย จากทางตอนเหนือของอัฟริกาเข้าสู่ทางตะวันตกของอัฟริกา อิรัก แม้ว่า สหรัฐฯจะถอนทหารออกจากอิรักไปในปีที่แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความถึงการสิ้นสุดของการก่อการร้ายในอิรัก แต่กลับมีแนวโน้มว่า การก่อการร้ายในอิรักจะเพิ่มมากขึ้น เครือข่าย al-Qaeda ในอิรัก ยังคงปฏิบัติการก่อวินาศกรรม ได้มีเหตุการณ์ระเบิด โดยเป้า คือ รัฐบาลและกลุ่มชีอะห์ในกรุงแบกแดด ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กองกำลังของอิรักก็ไม่สามารถที่จะรักษาความมั่นคงปลอดภัยในอิรักได้ ซึ่งจะทำให้ขบวนการก่อการร้ายในอิรักได้ใจและเพิ่มการก่อการร้ายมากขึ้นในปีนี้ อัฟกานิสถาน ส่วนสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ยังคงน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก มีกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม Taliban ซึ่งได้กำลังใจมากขึ้น จากการที่สหรัฐฯถอนทหารออกจากอิรัก และคงจะเพิ่มการโจมตีรัฐบาลและกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานมากขึ้น นอกจากนั้น การประกาศจากทางฝ่ายสหรัฐฯที่จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014 นั้น ทำให้นักรบ Taliban และเครือข่าย al-Qaeda เป็นต่อมากขึ้น โดยคงจะทำสงครามยืดเยื้อ และรอให้สหรัฐฯถอนทหารออกไปในปี 2014 แม้ว่าทางฝ่ายสหรัฐฯจะพยายามเจรจากับกลุ่ม Taliban ในปีนี้ แต่ก็คาดว่า การเจรจาคงจะประสบความล้มเหลว Arab Spring ในช่วงปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ได้เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนชาวอาหรับได้ลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ แต่สถานการณ์ดังกล่าว ก็เป็นการเปิดช่องให้กับขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรง ซึ่งคอยฉวยโอกาสจากสถานการณ์สุญญากาศทางการเมือง การไร้เสถียรภาพทางการเมืองและรัฐบาลที่อ่อนแอ เพื่อเข้ายึดกุมอำนาจรัฐและจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้น al-Qaeda นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญสำหรับกลุ่ม al-Qaeda โดยคาดว่า ผู้นำของขบวนการจะมีการกระจายตัว แกนกลางของ al-Qaeda จะลดบทบาทความสำคัญลง ในที่สุด จะนำไปสู่การแตกสลายของขบวนการ ซึ่งจะทำให้ในอนาคต al-Qaeda จะมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น โดยจะมีองค์กรในระดับภูมิภาคร่วมอุดมการณ์ ที่จะผลักดันสงครามศาสนาในระดับโลก หรือ global jihad ต่อ องค์กร al-Qaeda ในระดับภูมิภาคที่จะมีบทบาทมากขึ้น ได้แก่ al-Qaeda in the Arabian Peninsula (AQAP) , al-Qaeda in Iraq (AQI), al-Qaeda in the Islamic Maghreb (AQIM) และ al-Shabaab โดยกลุ่ม AQAP จะมีบทบาทมากที่สุดในการผลักดัน global jihad ต่อไป แต่กลุ่ม AQI จะเน้นการก่อวินาศกรรมในอิรัก เพื่อโค่นล้มรัฐบาลชีอะห์ ส่วน AQIM และ al-Shabaab จะเน้นการก่อวินาศกรรมในท้องถิ่นมากกว่าการทำ global jihad สำหรับในตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ การก่อวินาศกรรมน่าจะมาจากผู้ก่อการร้ายที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเรียกว่า home-grown terrorist โดยอาจจะเป็นการปฏิบัติการเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเล็กๆ ที่มีอุดมการณ์ร่วมกับ al-Qaeda แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ และไม่ได้รับคำสั่งโดยตรงจาก al-Qaeda

ไม่มีความคิดเห็น: