วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555
ทางเลือกการแก้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน
ทางเลือกการแก้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
12 กุมภาพันธ์ 2555
สถานการณ์นิวเคลียร์อิหร่าน
ตะวันตกได้กล่าวหาอิหร่านมาตลอดว่า แอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านก็ปฏิเสธมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้ว IAEA ได้ออกมาประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้สถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯตึงเครียดขึ้นมาก และเมื่อช่วงเดือนมกราคมนี้ IAEA ยืนยันว่า อิหร่านเดินหน้าเสริมสร้างสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียมในระดับ 20% ในโรงงานนิวเคลียร์ใกล้เมือง Qom และ IAEA ยังได้รายงานว่า อิหร่านกำลังทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์
นั่นคือสิ่งที่เรารู้ แต่ยังมีที่ไม่รู้และไม่แน่ชัดอีกหลายเรื่อง อาทิ เราไม่รู้ว่าอิหร่านจะสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จเมื่อไหร่ มีการประเมินตั้งแต่จะใช้เวลาเพียงประมาณ 2-6 เดือน ไปจนถึงใช้เวลาอีกหลายปี และเราก็ไม่รู้และไม่แน่ใจว่า ผู้นำอิหร่านได้ตัดสินใจที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างแน่นอนแล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตาม วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านในขณะนี้ ทำให้ตะวันตกและประชาคมโลก กำลังเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก แต่ละทางเลือกก็มีข้อดี-ข้อเสีย และความเสี่ยง และการพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย และความเสี่ยง ก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
ทางเลือกที่ 1: ยอมรับนิวเคลียร์อิหร่าน
ทางเลือกนี้ จะยอมรับและปล่อยให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีสมมติฐานว่า อิหร่านคงจะถูกป้องปรามในการใช้อาวุธเหมือนกับประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์อื่นๆ และสหรัฐฯอาจแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธเพิ่มเติม และขยายขอบเขตการให้หลักประกันความมั่นคงในระดับที่จะทำให้อิหร่านเข้าใจว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านจะต้องถูกตอบโต้จากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของทางเลือกนี้ คือ อิหร่านที่มีอาวุธนิวเคลียร์จะมีนโยบายที่ก้าวร้าวมากขึ้น และอาจถ่ายโอนวัตถุดิบ เทคโนโลยี หรืออาวุธนิวเคลียร์ให้กับพันธมิตรของอิหร่าน หรือให้กับองค์กรก่อการร้ายที่ใกล้ชิดกับอิหร่าน อาทิ Hezbollah และ Hamas นอกจากนี้ การที่อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์จะก่อให้เกิดการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และอียิปต์ อาจจะพยายามมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อถ่วงดุลอิหร่าน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เมื่อหลายประเทศในตะวันออกกลางมีอาวุธนิวเคลียร์ โอกาสที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์จะมีมากขึ้น
ทางเลือกที่ 2: การใช้กำลังโจมตีอิหร่าน
ทางเลือกที่ตรงข้ามกับทางเลือกที่ 1 คือ การใช้กำลัง โดยเฉพาะการโจมตีทำลายโรงงานอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ปฏิบัติการดังกล่าว น่าจะเป็นปฏิบัติการโดยอิสราเอลหรือสหรัฐฯ
แต่แนวโน้มของการโจมตีโดยอิสราเอลมีค่อนข้างสูง โดยเมื่อเร็วๆนี้ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล คือ Ehud Barak ได้ประกาศว่า เวลาที่จะหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านเหลือน้อยเต็มที และต่อมา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ คือ Leon Panetta ได้แสดงความวิตกกังวลว่า อิสราเอลอาจจะโจมตีอิหร่าน เช่นเดียวกับรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษ คือ Nick Clegg ก็ได้แสดงความห่วงใยว่า อิสราเอลกำลังใกล้ที่จะตัดสินใจโจมตีอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ผลเสียของทางเลือกนี้ คือ แม้ว่า การโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน อาจจะชะลอการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านไปได้ 2-3 ปี แต่ในที่สุด อิหร่านก็จะกลับมาสร้างโรงงานนิวเคลียร์ใหม่ และอาจจะอยู่ลึกลงไปใต้ดินมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การโจมตีทำลายโรงงานนิวเคลียร์ในอนาคตยากลำบากมากขึ้น นอกจากนั้น อิหร่านอาจตอบโต้ด้วยการโจมตีเป้าหมายทางทหารในอิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย อิรัก และอัฟกานิสถาน รวมทั้งเป้าหมายทางทหารของสหรัฐฯทั่วโลก Hezbollah ก็อาจจะโจมตีอิสราเอลด้วย ซึ่งหากเกิดสงครามขึ้น ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ การโจมตีอิหร่านจะยิ่งทำให้ชาวอิหร่านสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้มีความยากลำบากมากขึ้นในการที่จะโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งทางเลือกของการเปลี่ยนระบอบ หรือ regime change นี้ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ก็มีความยากลำบากมากที่จะประสบความสำเร็จ
ทางเลือกที่ 3: การคว่ำบาตร
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า 2 ทางเลือกข้างต้น น่าจะมีผลเสียเป็นอย่างมาก ดังนั้น ขณะนี้ หลายฝ่ายจึงมุ่งไปที่ทางเลือกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น ทางเลือกนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า มาตรการคว่ำบาตรจะก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนชาวอิหร่าน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ผู้นำอิหร่าน ซึ่งกลัวที่จะสูญเสียอำนาจ ต้องยอมประนีประนอมเจรจากับ UN หรือตะวันตก
แนวโน้มในขณะนี้ ก็เป็นไปในทิศทางนี้ คือ หลายฝ่ายสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้น ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรธนาคารกลางอิหร่าน ทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันได้อย่างยากลำบาก
นอกจากนี้ ที่ควบคู่ไปกับมาตรการคว่ำบาตร คือ มาตรการป้องกันไม่ให้อิหร่านนำเข้าเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อน การโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของอิหร่านด้วยไวรัส ทำให้ประสิทธิภาพของการเพิ่มสมรรถนะของแร่ยูเรเนียมลดลง และการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่านด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของทางเลือกนี้ คือ มาตรการเหล่านี้ อาจจะเป็นเพียงการชะลอการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้เท่านั้น แต่คงจะไม่สามารถยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ ประชาคมโลกกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านที่ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนว่า วิธีการแก้ปัญหาวิธีใดที่จะนำไปสู่การยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างยั่งยืน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น