วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555
ยุทธศาสตร์ตะวันตก ปี 2012
ยุทธศาสตร์ตะวันตก ปี 2012
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 9 – วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2555
เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา Philip Gordon อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ ที่ International Institute for Strategic Studies กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในหัวข้อ “The United States and Europe: Meeting Global Challenges” ซึ่งสุนทรพจน์ดังกล่าว ถือเป็นการประกาศยุทธศาสตร์ของตะวันตกล่าสุด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้
ตะวันตกในสมัยรัฐบาล Bush และ Obama
Gordon ได้กล่าวในตอนแรกว่า เอกภาพของตะวันตกมีปัญหาในสมัยรัฐบาล Bush โดยมีความแตกแยกกันหลายเรื่อง อาทิ สงครามอิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถาน ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับรัสเซียก็ตกต่ำลงอย่างมาก
ต่อมา ในสมัยรัฐบาล Obama เรื่องเร่งด่วนสำคัญ คือ การสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในโลกตะวันตก Obama กล่าวว่า ยุโรป คือ หุ้นส่วนที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล Obama ก็ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับยุโรป โดย Hillary Clinton เดินทางไปเยือนยุโรปเกือบ 30 ครั้ง ในขณะที่ Obama เยือนยุโรปมาแล้ว 10 ครั้ง Gordon ได้กล่าวประเมินว่า 3 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับยุโรปดีขึ้นมาก และได้มีความร่วมมือในการแก้ปัญหาของโลกต่างๆ ดังนี้
อัฟกานิสถาน
ขณะนี้ มีกองกำลังนาโต้ปฏิบัติการอยู่ในอัฟกานิสถาน ซึ่งประกอบด้วยทหารจากยุโรป เกือบ 40,000 คน ซึ่งถือเป็นกองกำลังนาโต้ที่มีจำนวนมากที่สุด นาโต้ยึดหลักการ “in together, out together” คือ อยู่ก็อยู่ด้วยกัน ถ้าถอนก็ถอนออกมาด้วยกัน เรื่องการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี 2014 จะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดนาโต้ ในเดือนพฤษภาคม ปีนี้ ที่ชิคาโก
ลิเบีย
สำหรับในกรณีของลิเบีย ตะวันตกก็ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยตะวันตกได้ผลักดันข้อมติของ UNSC และต่อมาสหรัฐฯได้ร่วมกับกองกำลังนาโต้ ในการโจมตีกองกำลังของ Gaddafi ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังร่วมมือกับยุโรปในการเปลี่ยนผ่านลิเบียไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย
อิหร่าน
เช่นเดียวกัน ในกรณีของอิหร่าน ตะวันตกก็ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯและยุโรปได้ร่วมมือกันในการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาทางการทูต แต่อิหร่านก็ไม่สนใจ ต่อมา ตะวันตกจึงต้องดำเนินยุทธศาสตร์ 2 ช่องทาง คือ เปิดช่องทางการเจรจาพร้อมกับกดดันด้วยมาตรการคว่ำบาตร EU ร่วมมือกับสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด ใน UNSC ใน IAEA และล่าสุด EU ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตร ไม่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน และอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางอิหร่าน
ซีเรีย
ท่าทีของตะวันตก คือ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ที่รัฐบาล Assad ใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายต่อต้าน ตะวันตกได้ร่วมมือกันผลักดันมาตรการคว่ำบาตร และมาตรการทางการทูต ในเวที UN เพื่อขอการสนับสนุนจากประชาคมโลก ให้ยุติการใช้ความรุนแรงโดยทันที ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Clinton ร่วมกับผู้นำยุโรป และผู้แทนจาก 60 ประเทศ ประชุมกันที่ตูนิเซีย เพื่อประสานท่าทีในการแก้ปัญหาซีเรีย ซึ่งในเรื่องนี้ ก็เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯกับยุโรปร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
ยุโรป
สำหรับปัญหาในคาบสมุทรบอลข่าน สหรัฐฯได้ร่วมมือกับ EU อย่างใกล้ชิด และสามารถผลักดันให้มีการทำข้อตกลงระหว่างเซอร์เบียกับโคโซโวได้สำเร็จในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับจอร์เจียนั้น ตะวันตก มีสวิตเซอร์แลนด์เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ซึ่งได้มีการบรรลุข้อตกลงระหว่างคู่กรณี และนำไปสู่การเชิญรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก WTO
สำหรับในกรณี วิกฤต Eurozone นั้น สหรัฐฯกับ EU ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด Obama ได้หารือกับผู้นำยุโรปอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ คือ Timonthy Geithner ก็ติดต่อกับรัฐมนตรีคลังของยุโรปอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน Gordon ได้กล่าวว่า สหรัฐฯยินดีที่ผู้นำยุโรปสามารถผลักดันมาตรการกอบกู้วิกฤต Eurozone ได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการประชุมสุดยอด EU ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ผลักดันให้มีบูรณาการทางการเงินที่เข้มข้นมากขึ้น และให้ประเทศที่ประสบกับภาวะหนี้สิน โดยเฉพาะกรีซ อิตาลี และสเปน มีมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
นาโต้
สำหรับนาโต้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพันธมิตรทางทหารของตะวันตกที่สำคัญที่สุด ก็กำลังจะมีการประชุมสุดยอดครั้งใหม่ที่ชิคาโก ในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะนี้ นาโต้มีสมาชิกถึง 28 ประเทศ และมีบทบาทสำคัญในยุโรป และได้ขยายบทบาทออกไปนอกยุโรปด้วย โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน อัฟริกา และลิเบีย โดยในการประชุมที่ชิคาโก เรื่องสำคัญ น่าจะเป็นแผนการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี 2014
ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ Gordon ได้กล่าวว่า ยังมีความร่วมมือของตะวันตกอีกหลายเรื่องที่เขาไม่มีเวลาได้กล่าวถึง อาทิ บทบาทของตะวันตกในการส่งเสริมประชาธิปไตยในอัฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ความสัมพันธ์กับจีนที่กำลังผงาดขึ้นมา รวมทั้งเรื่องเกาหลีเหนือ ภาวะโลกร้อน และปัญหาของโลกอีกมากมายหลายเรื่อง
กล่าวโดยสรุป สุนทรพจน์ของ Gordon ได้ชี้ให้เห็นว่า ตะวันตก ซึ่งมีสหรัฐฯและยุโรป เป็นแกน ยังคงมีบทบาทครอบงำการเมืองโลกและเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ตะวันตกก็คงจะครอบงำโลกต่อไปอีกนาน และประเด็นปัญหาของโลกในทุกๆเรื่อง ก็จะมีตะวันตกเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเหล่านี้เกือบทั้งหมด
แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน (ตอนที่ 2)
แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน (ตอนที่ 2)
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
4 มีนาคม 2555
ในคอลัมน์โลกปริทรรศน์ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มสงครามอิสราเอลกับอิหร่านไปบ้างแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ดังนี้
ภัยคุกคามจากอิหร่าน
อิสราเอลมองว่า อิหร่านเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 และกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งหากอิหร่านทำสำเร็จ จะเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลเป็นอย่างมาก แม้ว่าอิสราเอลจะมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง แต่ก็ไม่สามารถเป็นหลักประกันความอยู่รอดของอิสราเอล จากการถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านในอนาคตได้
ความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์มีมากขึ้นทุกที อิหร่านได้สร้างโรงงานอาวุธนิวเคลียร์หลายแห่ง และเพิ่มสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียม เกือบจะถึงจุดที่สามารถพัฒนาเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้แล้ว
Aviv Kochavi ผู้อำนวยการหน่วยงานข่าวกรองทางทหารของอิสราเอลบอกว่า อีกไม่นาน อิหร่านจะสามารถเพิ่มศักยภาพแร่ยูเรเนียมเพียงพอที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ 4 ลูก โดยน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ และหลังจากนั้น จะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ปี ที่จะสามารถพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ได้
ต่อมา Ehud Barak รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ได้กล่าวว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกำลังจะเข้าสู่จุดที่ปลอดภัยจากการโจมตี ขณะนี้ อิหร่านกำลังรีบเคลื่อนย้ายโรงงานนิวเคลียร์ไปอยู่ในภูเขา Fordow ใกล้เมือง Qom ซึ่งจะอยู่ลึกเข้าไปในภูเขา จะทำให้ปลอดภัยจากการโจมตีทางอากาศ
Leon Panetta รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า การโจมตีของอิสราเอลอาจจะถ่วงเวลาการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านออกไปได้ประมาณ 1-2 ปี ในขณะที่ Obama เรียกร้องให้อิสราเอลให้เวลากับมาตรการทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯพยายามส่งสัญญาณให้อิสราเอลรู้ว่า หากอิสราเอลตัดสินใจโจมตีอิหร่านในขณะนี้ สหรัฐฯจะไม่สนับสนุนและช่วยเหลืออิสราเอล อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Panetta ได้ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่อิสราเอลจะตัดสินใจโจมตีอิหร่าน โดยการโจมตีน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ปีนี้
แผนการโจมตี
สำหรับรายละเอียดแผนการโจมตีอิหร่านของอิสราเอลนั้น คงจะเป็นปฏิบัติการทางทหารที่สลับซับซ้อนกว่าตอนที่อิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิรัก ที่เมือง Osirak ในปี 1981 และโรงงานนิวเคลียร์ของซีเรีย ที่เมือง al-Kibar ในปี 2007 โดยการโจมตีอิหร่านจะเป็นปฏิบัติการที่ยุ่งยากมาก เพราะอิหร่านเตรียมรับมือกับการโจมตีทางอากาศมานานแล้ว โดยได้กระจายโครงงานนิวเคลียร์ไปอยู่ตามเมืองต่างๆทั่วประเทศกว่า 10 แห่ง
scenario การโจมตีทางอากาศของอิสราเอล น่าจะมุ่งเป้าไปที่โรงงานนิวเคลียร์ ที่เมือง Natanz และเมือง Fordow และเป้าหมายถัดมา น่าจะเป็นโรงงานนิวเคลียร์ ที่เมือง Isfahan และเมือง Arak
อิสราเอลมีระเบิดที่มีความสามารถทะลุทะลวงชั้นคอนกรีต อยู่อย่างน้อย 100 ลูก แต่ละลูกมีน้ำหนักประมาณ 5,000 ปอนด์ ซึ่งน่าจะทำลายโรงงานนิวเคลียร์ที่เมือง Natanz ได้ แต่คำถามสำคัญที่สุด ก็คือ การโจมตีด้วยระเบิดดังกล่าว จะสามารถทำลายโรงงานนิวเคลียร์ ที่เมือง Fordow ที่ฝังอยู่ลึกลงไปในภูเขากว่า 80 เมตร ได้หรือไม่
ผลกระทบ
ดังนั้น คำถามสำคัญ คือ ปฏิบัติการโจมตีอิหร่านของอิสราเอล จะสามารถทำลายโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านได้หรือไม่ และถึงแม้หากจะสามารถทำลายโรงงานได้ ผลที่ตามมา ก็คือ อิหร่านก็มีศักยภาพพอที่จะซ่อมแซมและสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่ ดังนั้น แม้ว่าปฏิบัติการทางทหารจะประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นเพียงการถ่วงเวลา การที่อิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์ออกไปได้เพียง 3-4 ปีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามจะเกิดขึ้นมากมายหลายด้าน
• ที่ชัดเจน คงหนีไม่พ้นเรื่องราคาน้ำมัน ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก
• อิหร่านได้ประกาศขู่เอาไว้แล้วว่า หากเกิดสงคราม จะปิดช่องแคบ Hormuz
• สงครามอาจลุกลามบานปลาย โดยอิหร่านได้ขู่ว่า จะโจมตีประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ที่มีฐานทัพของสหรัฐฯตั้งอยู่ ได้แก่ คูเวต บาห์เรน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE
• หากอิหร่านปิดช่องแคบ Hormuz และโจมตีประเทศในอ่าวเปอร์เซีย จะดึงสหรัฐฯเข้าสู่สงคราม จะทำให้สงครามลุกลามบานปลาย
• ประเทศอิสราเอลเอง ก็คงจะถูกโจมตีจากอิหร่าน โดยเฉพาะการยิงขีปนาวุธจากอิหร่านเพื่อโจมตีอิสราเอล รวมทั้ง กลุ่มก่อการร้ายที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน คือกลุ่ม Hizbollah และ Hamas ก็คงจะผสมโรงร่วมกันโจมตีอิสราเอลอย่างแน่นอน
• และสำหรับอิหร่านเอง แน่นอนว่า หากถูกอิสราเอลโจมตี อิหร่านก็คงจะโกรธแค้นอิสราเอลเป็นอย่างมาก และคงจะยิ่งมีความมุ่งมั่นมากขึ้น ในการที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้สำเร็จ โอกาสที่อิหร่านจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้สำเร็จ ก็มีมากขึ้นไปอีก
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน 2012 (ตอนที่ 2)
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน 2012 (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 2 – วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2555
สถานการณ์ล่าสุด
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านยืดเยื้อมานานหลายปี แต่เมื่อปีที่แล้ว IAEA ประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านน่าจะแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับอิหร่านตึงเครียดขึ้นมาก
ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนนี้ อิหร่านได้เปลี่ยนท่าที ต้องการหันกลับมาเจรจาในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ยอมให้คณะตรวจสอบจาก IAEA เข้าตรวจสอบในที่น่าสงสัยว่า อิหร่านอาจแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ในขณะนี้ มีแนวโน้มพัฒนาการความขัดแย้งตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ มีความห่วงกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า อิหร่านกำลังจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ การเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แนวโน้มสงครามโจมตีอิหร่าน และการวางระเบิดหลายจุด ที่กรุง New Delhi และกรุง Tbilisi เมืองหลวงของจอร์เจีย รวมทั้งที่กรุงเทพฯด้วย โดยอิสราเอลกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน ที่มุ่งเป้าไปที่นักการทูตของอิสราเอล
สงคราม
ขณะนี้ จึงมีความวิตกกังวลว่า จะเกิดสงครามขึ้น โดยอาจจะเป็นการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน จากอิสราเอลและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การโจมตีดังกล่าว น่าจะเป็นเพียงแค่การถ่วงเวลา ในการที่อิหร่านจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้เท่านั้น แต่คงจะไม่สามารถหยุดยั้งได้ นอกจากนั้น โรงงานที่ถูกทำลาย อิหร่านก็จะสร้างขึ้นใหม่ได้ และโรงงานใหม่ก็จะยากขึ้นที่จะถูกโจมตี และการโจมตีอิหร่านอาจจะส่งผลกระทบหลายเรื่อง ทั้งการตอบโต้จากอิหร่าน ซึ่งจะทำให้สงครามบานปลาย และกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน
นิวเคลียร์อิหร่าน
ความเป็นไปได้อีกทางหนึ่ง คือ การที่จะยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่การที่อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยอาจจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอิหร่าน เช่น อียิปต์และซาอุดิอาระเบีย ก็คงจะต้องรีบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตน อิหร่านที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองจะมีนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวมากขึ้น และอิหร่านก็จะกลายเป็นเจ้าครอบงำภูมิภาค นอกจากนั้น ยังมีโอกาสที่อิหร่านจะส่งต่อวัตถุดิบนิวเคลียร์ให้กับกลุ่มก่อการร้ายได้อีกด้วย
การคว่ำบาตร
ดังนั้น มาตรการในขณะนี้ที่ตะวันตกผลักดัน คือ มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นต่ออิหร่าน โดยสหรัฐฯ ได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อธนาคารกลางอิหร่าน ทำให้อิหร่านจะส่งออกน้ำมันไม่ได้ โดยจะมีมาตรการลงโทษสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารกลางอิหร่าน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้ออกมาตรการคว่ำบาตร ไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน การส่งออกน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 50-70% ของรายได้ของอิหร่าน International Energy Agency หรือ IEA ได้ประเมินว่า การส่งออกน้ำมันของอิหร่านจะลดลงถึง 60% หากมาตรการคว่ำบาตรถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
มีการประเมินว่า มาตรการคว่ำบาตรในขณะนี้ ได้สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจของอิหร่านแล้ว จึงมีการวิเคราะห์กันว่า การที่อิหร่านเปลี่ยนท่าที ทั้งในแง่ของการจะยอมกลับมาเจรจา รวมทั้งท่าทีที่ก้าวร้าวมากขึ้น และอาจรวมถึงการสนับสนุนการก่อการร้ายที่มุ่งเป้าไปที่อิสราเอล ก็อาจจะเป็นผลมาจากการถูกบีบจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของอิสราเอล กลับมองว่า มาตรการคว่ำบาตรไม่ได้ผล และถึงจะได้ผลก็ช้าเกินไปที่จะหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน จึงทำให้อิสราเอลมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจใช้กำลังโจมตีอิหร่าน
การเจรจา
ดังนั้น ฝ่ายเสรีนิยม ที่มองโลกในแง่ จึงสนับสนุนแนวทางในการเจรจาเพื่อยุติปัญหากับอิหร่าน โดยได้ชี้ให้เห็นว่า อิหร่านได้เปลี่ยนท่าทียอมกลับมาเจรจา โดยเฉพาะกับกลุ่มสมาชิกถาวรของ UNSC ทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย และบวกอีก 1 คือ เยอรมนี มีการวิเคราะห์ว่า การที่อิหร่านได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้อิหร่านประสบความยากลำบากในการขายน้ำมัน รวมทั้งความกังวลใจที่อิหร่านอาจถูกโจมตีจากอิสราเอลและสหรัฐฯ ทำให้ผู้นำอิหร่านหันกลับมาเจรจากับตะวันตก
สูตรการเจรจา ที่อาจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน คือ อิหร่านจะต้องยอมให้คณะผู้ตรวจสอบของ IAEA เข้าไปตรวจสอบแหล่งที่สงสัยว่า อิหร่านอาจแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะเดียวกัน ข้อแลกเปลี่ยนของทางตะวันตก คือ ตะวันตกและ UN จะต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ยังมีความยากลำบากที่จะหาสูตรการเจรจาที่ลงตัว โดยในที่สุด อิหร่านอาจจะปฏิเสธเงื่อนไขการเจรจา ผู้นำอิหร่านอาจมองว่า อาวุธนิวเคลียร์เป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของอิหร่าน และจะเป็นหลักประกันป้องกันการโจมตีจากตะวันตก
สำหรับในฟากของทางตะวันตก ก็มีหลายฝ่ายมองว่า การเปลี่ยนท่าทีของอิหร่าน หันกลับมาเจรจานั้น เป็นเพียงยุทธศาสตร์การเตะถ่วง เพื่อให้อิหร่านมีเวลาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะใช้ไม้อ่อนหรือไม้แข็ง ก็ดูจะมีปัญหาแทบทั้งสิ้น ดูแล้ว ยังเลือนรางว่า วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านจะจบลงอย่างสันติได้อย่างไร
วิกฤต Eurozone ปี 2012
วิกฤต Eurozone ปี 2012
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
26 กุมภาพันธ์ 2555
ภูมิหลัง
วิกฤตหนี้ของยุโรป ที่เรียกว่า วิกฤต Eurozone นั้น ปีที่แล้ว เข้าขั้นวิกฤต โดยในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบภาวะหนี้สิน ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส แต่ต่อมา วิกฤตได้ลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน วิกฤต Eurozone ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า กำลังจะเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่
สถานการณ์ปี 2012
ในปีนี้ สถานการณ์ดูมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลังของ EU และได้มีสัญญาณในทางที่ดี โดยได้มีแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจเกิดขึ้นในหลายประเทศสมาชิก Eurozone
ที่เป็นศูนย์กลางของวิกฤต ยังคงเป็นกรีซ รัฐมนตรีคลังของ EU ได้กดดันให้รัฐบาลกรีซปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเร็ว แม้ว่า จะมีการจราจลเกิดขึ้นในกรุงเอเธนส์ เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด แต่รัฐสภาของกรีซ ก็ได้ผ่านกฎหมายปฏิรูป รวมถึงมาตรการรัดเข็มขัด หลังจากนั้น ที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง EU จึงได้ตัดสินใจปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ให้กับกรีซ เป็นเงิน 170,000 ล้านเหรียญ โดยมีการตั้งเป้าหมายว่า จะพยายามลดหนี้ภาครัฐของกรีซลงให้เหลือ 120% ของ GDP ภายในปี 2020 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับประมาณเกือบ 200% ของ GDP
สำหรับประเทศอื่นๆใน Eurozone ก็ได้มีการส่งสัญญาณการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง อาทิ ความสามารถในการแข่งขันของไอร์แลนด์ได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลใหม่ของสเปนมีแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนในช่วงปลายปีที่แล้ว สำหรับอิตาลี นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ Mario Monti ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนสูงที่สุดในรอบหลายปี โดย Monti ได้ผ่านกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายด้าน และกำลังเสนอกฎหมายปฏิรูปทางด้านแรงงานเข้าสู่สภาของอิตาลี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า จะมีแนวโน้มในทางบวกข้างต้น แต่สัญญาณในเชิงลบก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลข GDP ซึ่งปรากฏว่า GDP ของกรีซ ติดลบถึง 7% ส่วนอิตาลี สเปน และโปรตุเกส GDP ในปีนี้ มีแนวโน้มจะลดลงมาก ในภาพรวม เศรษฐกิจของ Eurozone ยังคงติดลบอยู่ สำหรับตลาดพันธบัตร ก็มีแนวโน้มในเชิงลบเช่นเดียวกัน หลังจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ Eurozone ลง นอกจากนี้ นักลงทุน แม้ว่าจะมองว่าสเปนและอิตาลีดีขึ้น แต่ยังคงเป็นห่วงสถานการณ์ในโปรตุเกส
นอกจากนี้ แม้ว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจ จะส่งผลในระยะยาว แต่คงจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะเห็นผล ดังนั้น ในระยะสั้น มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ กลับจะส่งผลกระทบในเชิงลบ คือ จะเพิ่มอัตราการว่างงาน และลดรายได้ของประชาชนลง
แนวโน้ม
ดังนั้น แม้ว่า ในปีนี้ สถานการณ์วิกฤต Eurozone จะดูดีขึ้น แต่ยังไม่พ้นวิกฤต และยังคงน่าเป็นห่วง โดยยังมีหลายปัจจัยที่จะทำให้วิกฤตลุกลามบานปลาย จนอาจเกิดเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ได้
ปัจจัยประการแรก คือ ยังมีความไม่แน่นอนว่า กรีซจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลายได้หรือไม่ และหากกรีซล้มละลาย ก็อาจเกิดภาวะ domino effect ทำให้วิกฤตลามเข้าสู่อิตาลีและสเปนได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กองทุน EFSF ซึ่งขณะนี้ มีเงินอยู่เพียง 500,000 ล้านยูโร ก็คงจะไม่สามารถกอบกู้วิกฤตหนี้ของอิตาลีและสเปนได้
อีกปัจจัย คือ ปัญหาของธนาคารในยุโรป แม้ว่า จะมีการเพิ่มทุนอีก 100,000 ล้านยูโร แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะธนาคารยุโรป ได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่มีปัญหาหนี้ เป็นเงินกว่า 4 ล้านล้านยูโร
ยุทธศาสตร์ทหารต่อเอเชีย ปี 2012
ยุทธศาสตร์ทหารต่อเอเชีย ปี 2012
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555
ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกขึ้นมาก เมื่อเร็วๆนี้ ประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯต่อเอเชีย โดยยุทธศาสตร์ใหม่ที่สำคัญ คือ จะส่งทหารมาประจำการทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ที่เมือง Darwin จำนวน 2,500 นาย กองทัพเรือ และกองทัพอากาศของสหรัฐฯ จะเพิ่มการปฏิบัติการ และซ้อมรบมากขึ้น โดยเมือง Darwin จะทำให้สหรัฐฯเข้าถึงเส้นทางการเดินเรือในทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรอินเดียได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯมีแผนจะส่งเครื่องบิน B52 มาประจำการที่ฐานทัพอากาศเมือง Tindal ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Darwin 300 กิโลเมตร ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลียทางตอนเหนือของออสเตรเลีย จะทำให้เขตดังกล่าว กลายเป็นจุดสำคัญของความเคลื่อนไหวทางทหารในภูมิภาค
เมือง Darwin ตั้งอยู่ห่างจากอินโดนีเซีย เพียง 800 กิโลเมตร ดังนั้น จึงมีการวิเคราะห์และจับตามองความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด จีนได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยมองว่า การส่งทหารมาที่ Darwin แสดงถึง “Cold War mentality” ของสหรัฐฯ และจะเป็นการเพิ่มกำลังทหารเข้ามาในภูมิภาค โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้จีนกับอาเซียนขัดแย้งกัน สำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย คือ Marty Natalegawa ได้ออกมากล่าวเตือนว่า นโยบายของสหรัฐฯจะทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็พยายามสงวนท่าที ในขณะที่ญี่ปุ่นกลับแสดงความยินดีต่อข่าวดังกล่าว
สำหรับในออสเตรเลีย ก็มีการถกเถียงกันในเรื่องนี้ โดยนักวิชาการออสเตรเลียมองว่า การประจำการของทหารสหรัฐฯในออสเตรเลีย จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีน และจีนคงจะมองว่า ออสเตรเลียกำลังเป็นแนวร่วมกับสหรัฐฯในการดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ น่าจะเป็นการตอบสนองต่อความห่วงใยของสหรัฐฯต่อการเพิ่มอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาค
การส่งกองกำลังทหารไปประจำการที่เมือง Darwin นั้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ต้องการที่จะจัดวางกองกำลังของสหรัฐฯไกลกว่าพิสัยของขีปนาวุธจีน แต่ก็ใกล้ต่อประเทศพันธมิตรที่เป็นเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสหรัฐฯมีแผนที่จะประจำการเรือรบของสหรัฐฯที่สิงคโปร์ รวมทั้งกำลังมีความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือและกองทัพอากาศของสหรัฐฯกับอินโดนีเซียด้วย
ยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่จะสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค มีชื่อยุทธศาสตร์ว่า “Offshore Asia” โดยแบ่งเอเชียตะวันออกเป็น 2 เขต คือ เขตตะวันออกเฉียงเหนือ และเขตตะวันออกเฉียงใต้ เขตตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ค่อนข้างจะลงตัวแล้ว ด้วยการคงฐานทัพไว้ที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเกาะกวม ซึ่งมีทหารประจำการอยู่กว่า 80,000 คน สำหรับในเขตตะวันออกเฉียงใต้นั้น สหรัฐฯกำลังดำเนินการจัดวางกองกำลังอยู่ โดยเน้นยุทธศาสตร์ “Offshore Asia” หรือยุทธศาสตร์นอกชายฝั่งเอเชีย ซึ่งรวมถึง ประเทศอาเซียนที่เป็นเกาะ โดยเฉพาะ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ด้วย ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นกุญแจสำคัญในการคงดุลยภาพแห่งอำนาจ และป้องกันการผงาดขึ้นมาของเจ้าในภูมิภาค หรือ regional hegemon ซึ่งในสายตาของสหรัฐฯก็คือ การผงาดขึ้นมาของจีนนั่นเอง
คำถามสำคัญ คือ ทำไมสหรัฐฯถึงเน้นยุทธศาสตร์ “Offshore Asia” ทำไมถึงเน้นยุทธศาสตร์นอกชายฝั่ง คำตอบก็คือ เส้นทางการเดินเรือ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่มีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ แต่คำตอบที่น่าจะสำคัญที่สุด คือ สหรัฐฯเลือกยุทธศาสตร์นี้ เพราะสหรัฐฯและพันธมิตรมีความได้เปรียบจีนเป็นอย่างมากในแง่พลังอำนาจของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรือสหรัฐฯในภูมิภาค ประกอบด้วย เรือรบถึง 180 ลำ เครื่องบินรบเกือบ 2,000 ลำ และทหารกว่า 125,000 คน
ประเด็นสำคัญที่ต้องวิเคราะห์ต่อ คือ สถานการณ์ในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อาจกล่าวได้ว่า อาเซียนนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเกาะ กับส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ สำหรับส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่นั้น จีนมีอิทธิพลอย่างมาก และได้ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินนโยบายในเชิงรุก กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้อย่างเต็มที่ โดยได้เน้นการเชื่อมโยง ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน นอกจากนี้ ยังมีกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) ซึ่งเชื่อมจีนกับแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยแผนการสร้างเครือข่ายการคมนาคม ทั้งทางถนนและทางรถไฟ เชื่อมแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะกับยูนนาน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้พยายามริเริ่มกรอบความร่วมมือ Lower Mekong Initiative เพื่อมาแข่งกับจีน แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะลดอิทธิพลของจีนลงไปได้
กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ทหารใหม่ของสหรัฐฯต่อภูมิภาค คือ ยุทธศาสตร์ “Offshore Asia” โดยจะมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง Darwin จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคเป็นอย่างมากในอนาคต และน่าจะทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับจีนในอนาคตด้วย
นโยบายต่างประเทศของ Mitt Romney (ตอนที่ 2)
นโยบายต่างประเทศของ Mitt Romney (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ – วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2555
คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของ Mitt Romney ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรครีพับลิกัน โดยขณะนี้ Romney เป็นตัวเต็งที่น่าจะเป็นตัวแทนพรรคแข่งกับประธานาธิบดี Obama จากพรรคเดโมแครต ในช่วงปลายปีนี้ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของ Romney ต่อ โดยจะวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวนโยบายต่อจีน ดังนี้
ศตวรรษที่ 21 : ศตวรรษของอเมริกา หรือ ศตวรรษของจีน
เมื่อเร็วๆนี้ Romney ได้เขียนบทความนำเสนอแนวนโยบายต่อการผงาดขึ้นมาของจีน โดยในตอนต้นของบทความ เขาได้ตั้งเป็นคำถามว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของอเมริกา หรือศตวรรษของจีนกันแน่ เขาได้บอกว่า มีหลายคนมองว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของจีน ซึ่งมีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 10% อำนาจทางทหารก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นไปได้ว่า จีนอาจจะผงาดขึ้นมาครอบงำเอเชียในอนาคต
อย่างไรก็ตาม Romney ไม่เชื่อว่าศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของจีน เขาเชื่อว่า จะเป็นศตวรรษของสหรัฐฯ ทั้งนี้เพราะ สหรัฐฯมีความแข็งแกร่งที่ทำให้ได้เปรียบจีน แต่สหรัฐฯก็ต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งนี้ให้เพิ่มมากขึ้นโดยเร็ว ซึ่งหมายความว่า สหรัฐฯจะต้องมีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เสริมสร้างกำลังทหาร รวมทั้งให้ความสำคัญกับค่านิยมของอเมริกัน ดังนั้น นโยบายของสหรัฐฯต่อจีนจะต้องตั้งอยู่บนความแข็งแกร่งทั้ง 3 ด้านของสหรัฐฯ โดยเน้นการที่จะทำให้จีนกลายเป็นสมาชิกในสังคมโลกที่มีความรับผิดชอบ แทนที่จะผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค
Romney ได้โจมตี Obama ว่า มีนโยบายต่อจีนที่ผิดพลาด ตั้งแต่แรก Obama มีนโยบายที่อ่อนข้อให้กับจีน โดยอ้อนวอนให้จีนซื้อหนี้สินของสหรัฐฯ รัฐบาล Obama ไม่กล้าที่จะหยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเล่นงานจีน เพราะกลัวจีนจะไม่ร่วมมือในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก และกลัวจีนจะไม่ร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน แต่ความอ่อนแอของ Obama ก็ยิ่งทำให้จีนได้ใจและเหิมเกริม และมีนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯในภูมิภาคตั้งคำถามถึงอำนาจและบทบาทของสหรัฐฯในภูมิภาค
แม้ว่า ในช่วงปีที่แล้ว Obama จะได้หันมาให้ความสำคัญต่อเอเชียมากขึ้น แต่ก็สายเกินไป แม้ว่า Obama จะประกาศเพิ่มกำลังทางทหารในเอเชีย แต่การกระทำของ Obama กลับทำให้บทบาททางทหารของสหรัฐฯในเอเชียอ่อนแอลง ด้วยการตัดงบประมาณทางทหาร ซึ่งในช่วงทศวรรษหน้านี้ Obama ตั้งใจจะตัดลดงบประมาณทางทหารลงกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ
นโยบายต่อจีน
Romney จึงได้เสนอว่า สหรัฐฯจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่อจีนใหม่
ทางด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯจะต้องมีนโยบายตอบโต้พฤติกรรมของจีน ทั้งในด้านการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และเรื่องค่าเงินหยวน Romney เน้นว่า เขาจะไม่ยอมมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ในลักษณะที่ให้รางวัลกับการคดโกงของจีน ในขณะที่ลงโทษบริษัทและคนงานอเมริกัน
ดังนั้น หากจีนไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในวันแรกของการเป็นประธานาธิบดี Romney จะประกาศว่า จีนเป็นประเทศที่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน (currency manipulator) และจะต้องมีมาตรการตอบโต้ สงครามการค้ากับจีน เป็นสิ่งที่ Romney ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เขาก็ไม่สามารถทนต่อการเป็นฝ่ายยอมจำนนทางการค้าของสหรัฐฯได้
สำหรับนโยบายทางด้านการทหารนั้น สหรัฐฯจะต้องเพิ่มกำลังทางทหารในภูมิภาค เพื่อเผชิญกับภัยท้าทายทางด้านการทหารของจีนในระยะยาว เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่จีนเพิ่มงบประมาณทางทหารเกินกว่า 10% ดังนั้น เพื่อที่จะดำรงบทบาททางทหารในเอเชีย Romney จะเพิ่มงบประมาณทางทหาร (ไม่ใช่ตัดงบประมาณเหมือนกับในสมัยรัฐบาล Obama) และจะคงบทบาททางทหารที่แข็งแกร่งในภูมิภาคต่อไป
เรื่องสุดท้ายที่ Romney โจมตีจีน คือ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน ซึ่ง Romney ได้นำเสนอนโยบายว่า สหรัฐฯจะต้องเผชิญหน้ากับจีนในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา
ในตอนท้ายของบทความ Romney ได้สรุปว่า แนวนโยบายของเขา จะทำให้ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของอเมริกา และจะไม่ใช่ศตวรรษของจีนอย่างแน่นอน โดยเขาเน้นในตอนท้ายว่า สหรัฐฯจะต้องมองว่า จีนเป็นประเทศเผด็จการที่มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และกำลังจะสร้างปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ให้กับสหรัฐฯ ให้กับประเทศเพื่อนบ้านของจีน และให้กับประชาคมโลกโดยรวม
แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน
แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
19 กุมภาพันธ์ 2555
ท่าทีของอิสราเอล
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล Ehud Barak ได้ประกาศว่า เวลาที่จะหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน กำลังเหลือน้อยลงทุกที ทั้งนี้ เพราะอิหร่านกำลังเคลื่อนย้ายโรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมไปสถานที่ใหม่ ชื่อ Fordow ซึ่งอยู่ในภูเขาใกล้เมือง Qom ทำให้ไม่สามารถทิ้งระเบิดทำลายได้
ต่อมา ผู้นำหน่วยงานข่าวกรองทางทหารของอิสราเอล คือ นายพล Aviv Kochavi ได้กล่าวว่า ขณะนี้ อิหร่านมีวัตถุดิบที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ 4 ลูกแล้ว และสามารถทำได้ภายในปีนี้ หากผู้นำอิหร่านสั่งการ
ต่อมา หนังสือพิมพ์ Washington Post ได้รายงานว่า รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ Leon Panetta ได้คาดการณ์ว่า อิสราเอลจะโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในช่วงประมาณเมษายน-มิถุนายนนี้
อย่างไรก็ตาม วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านเกิดขึ้นมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว และมีหลายครั้งที่อิสราเอลและสหรัฐฯขู่ว่าจะโจมตีอิหร่าน แต่ก็ไม่ได้มีการโจมตีจริง ในครั้งนี้ จึงมีคำถามสำคัญว่า การออกมาพูดเช่นนี้ของอิสราเอลและสหรัฐฯ จะเป็นแค่เพียงการขู่ให้อิหร่านกลัว และบีบให้อิหร่านหันกลับมาเจรจา หรือครั้งนี้อาจจะมีสงครามเกิดขึ้นจริงๆ
แรงกดดันเรื่องเวลา
มีหลายปัจจัยและเหตุผลที่ทำให้น่าวิตกว่า คราวนี้อาจจะเกิดสงครามขึ้นจริงๆ
ปัจจัยแรก คือ แรงกดดันเรื่องเวลา มีคำถามว่า ทำไมอิสราเอลถึงจะต้องรีบร้อนโจมตีอิหร่านในช่วงเมษายน-มิถุนายนนี้ เหตุผลมาจากรายงานของ Bipartisan Policy Center วิเคราะห์ว่า อิหร่านกำลังเดินหน้าเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมอย่างเต็มที่ แต่ที่สำคัญต่ออิสราเอล คือ อิหร่านกำลังจะย้ายโรงงานเสริมสร้างแร่ยูเรเนียมเข้าไปในภูเขา Fordow ใกล้เมือง Qom ซึ่งโรงงานจะอยู่ลึกเข้าไปในภูเขา ลึกเกินกว่าที่อิสราเอลจะโจมตีด้วยระเบิดได้ ดังนั้น อิสราเอลจึงต้องรีบโจมตีก่อน
ทางเลือกอื่นๆ
อีกเหตุผลหนึ่งที่อิสราเอลตัดสินใจโจมตีอิหร่าน คือ ความล้มเหลวของทางเลือกอื่นๆที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน แม้ว่า ในขณะนี้ ประชาคมโลกกำลังดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ก็ไม่สามารถชะลอการเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ และตราบใดที่รัสเซีย จีน และอินเดีย ยังคงสนับสนุนอิหร่าน ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง มาตรการคว่ำบาตรก็จะไม่ได้ผล
ในขณะนี้ ชาติตะวันตกพยายามหว่านล้อมให้อิสราเอลอดทน และพยายามบอกอิสราเอลว่า มาตรการคว่ำบาตรกำลังจะได้ผล แต่ทางฝ่ายอิสราเอลได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า หากไม่มีความคืบหน้าในมาตรการคว่ำบาตรในช่วง 1-2 เดือนนี้ อิสราเอลอาจจะตัดสินใจโจมตีอิหร่าน
อิสราเอลจะได้ประโยชน์ หากความขัดแย้งลุกลามบานปลาย
มีคำถามว่า หากอิสราเอลโจมตีอิหร่าน จะทำให้สงครามบานปลาย ซึ่งก็มีการวิเคราะห์กันว่า อิสราเอลคงอยากจะเห็นความขัดแย้งลุกลามบานปลายอยู่แล้ว ซึ่งตามทฤษฎีนี้ มองว่า เมื่ออิสราเอลโจมตีอิหร่าน อิหร่านคงจะตอบโต้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้อิสราเอลในการขยายวงการโจมตีอิหร่าน และหากอิหร่านตัดสินใจปิดช่องแคบ Hormuz และโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ ก็จะดึงให้สหรัฐฯเข้าสู่สงคราม ซึ่งจะเข้าทางอิสราเอล
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านจะจบลงอย่างไร
อิสราเอลมียุทธศาสตร์ที่มองว่า การโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน คงจะไม่สามารถยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างถาวร อิหร่านคงจะกลับมาสร้างโรงงานนิวเคลียร์ใหม่ต่อ แต่อิสราเอลก็คงจะมีแผนที่จะทำสงครามยืดเยื้อกับอิหร่าน โดยน่าจะเป็นการบุกโจมตีอิหร่านไปเรื่อยๆ เพื่อชะลอการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน และเพื่อรอการเปลี่ยนระบอบของอิหร่าน อิสราเอลหวังว่า การทำสงครามยืดเยื้อกับอิหร่านโดยการโจมตีทางอากาศไปเรื่อยๆ จะชะลอการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจะทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านอ่อนแอลง ซึ่งจะทำให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลอิหร่านน้อยลง นำไปสู่การเปลี่ยนระบอบ
อิสราเอลคงจะคาดว่า อิหร่านคงจะเสริมสร้างกำลังทางทหารมากขึ้น และคงจะล็อบบี้ให้ประชาคมโลกสนับสนุนอิหร่าน และต่อต้านความก้าวร้าวของอิสราเอล และแม้ว่า การโจมตีอิหร่านจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน และอิสราเอลคงจะได้รับการตำหนิและประณามจากประชาคมโลก แต่สิ่งเหล่านี้ก็คงจะไม่สามารถหยุดยั้งการตัดสินใจโจมตีอิหร่านของอิสราเอลได้
กล่าวโดยสรุป เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า วิกฤตคราวนี้จะเป็นเพียงแค่การขู่ หรือจะกลายเป็นสงครามจริงกันแน่
นโยบายต่างประเทศของ Mitt Romney
นโยบายต่างประเทศของ Mitt Romney
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 – วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์2555
Mitt Romney คือ ตัวเต็งผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ลงชิงชัยกับ Barack Obama จากพรรคเดโมแครต
เมื่อเร็วๆนี้ Romney ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศวิสัยทัศน์นโยบายต่างประเทศของเขา ที่รัฐ South Carolina คอลัมน์โลกทรรศน์วันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้
สภาวะแวดล้อมโลก
ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Romney ได้วิเคราะห์สภาวะแวดล้อมโลก ซึ่งเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเป็นอย่างมาก โดยมีเรื่องสำคัญ ดังนี้
อิหร่าน: กำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะคุกคามประเทศเพื่อนบ้าน และครอบงำแหล่งน้ำมันใหญ่ของโลก และควบคุมช่องแคบ Hormuz
อัฟกานิสถาน: หลังจากสหรัฐฯและนาโต้ถอนกำลังออกมา ฝ่าย Taliban จะกลับคืนสู่อำนาจได้หรือไม่ และอัฟกานิสถานจะกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของขบวนการก่อการร้ายได้อีกหรือไม่
สำหรับปากีสถาน: ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่กว่า 100 ลูก กำลังตกอยู่ในอนาคตที่ไม่แน่นอน ฝันร้ายของโลก คือ การที่อาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถานจะตกอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง
สำหรับจีน: ได้มีเจตจำนงชัดเจนที่จะผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางทหาร ยังมีความไม่แน่นอนว่า การเป็นอภิมหาอำนาจของจีน จะคุกคามประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ และจะผลักดันกองกำลังทหารของสหรัฐฯให้ออกไปจากภาคพื้นแปซิฟิก รวมทั้ง จีนจะสร้างแนวร่วมของประเทศเผด็จการในโลกหรือไม่
รัสเซีย: กำลังอยู่ในทางแพร่งสำคัญ Putin มองว่า การล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียต คือ โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของรัสเซีย จึงมีคำถามสำคัญว่า Putin จะทำให้รัสเซียกลับมาเป็นเหมือนอดีตสหภาพโซเวียตหรือไม่ โดยจะข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้าน และทำลายเศรษฐกิจของยุโรป ด้วยการตัดเส้นทางพลังงานจากรัสเซียไปยุโรปหรือไม่
Romney บอกว่า สภาวะแวดล้อมโลกดังกล่าว เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ เป็นอันตรายที่อเมริกากำลังประสบ โดยเฉพาะอันตรายดังกล่าวจะเป็นจริงมากขึ้น หากสหรัฐฯยังคงเดินหน้าตามนโยบายที่ผิดพลาดของ Obama ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ศตวรรษของอเมริกา
Romney ได้เสนอวิสัยทัศน์นโยบายต่างประเทศ โดยมองว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของอเมริกา หรือ American Century โดยศตวรรษนี้ อเมริกาจะมีเศรษฐกิจและกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และอเมริกาจะเป็นผู้นำของโลกเสรี Romney กล่าวว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อทำให้เกิดศตวรรษของอเมริกา และจะไม่ยอมที่จะขอโทษต่อชาวโลกต่อความผิดของอเมริกา (อย่างที่ Obama ได้ทำมาโดยตลอด)
Romney ได้วิเคราะห์ต่อว่า ขณะนี้ มีภัยคุกคามต่อสหรัฐฯหลายด้าน
ภัยคุกคามแรก คือ กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ซึ่งสหรัฐฯได้ทำสงครามกับกลุ่มนี้ มาตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยาฯ
ภัยคุกคามที่ 2 คือ การต่อสู้ในตะวันออกกลาง ระหว่างกลุ่มที่เรียกร้องเสรีภาพกับกลุ่มที่ปฏิเสธเสรีภาพ
ภัยคุกคามที่ 3 คือ อันตรายจากรัฐที่ล้มเหลว ซึ่งรัฐเหล่านี้ ในที่สุด จะกลายเป็นแหล่งซ่องสุมใหญ่ของขบวนการก่อการร้าย
ภัยคุกคามที่ 4 คือ รัฐบาลที่ต่อต้านอเมริกา โดยเฉพาะอิหร่าน เกาหลีเหนือ เวเนซูเอล่า และคิวบา
และภัยคุกคามที่ 5 คือ ภัยคุกคามที่มาจากมหาอำนาจใหม่ ที่มีวาระซ่อนเร้น ต้องการจะเป็นอภิมหาอำนาจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนและรัสเซีย ซึ่งมีผู้นำที่เชื่อว่า สหภาพโซเวียต คือ จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่จักรวรรดิที่ชั่วร้าย
Romney ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้ ซึ่งยุทธศาสตร์หลักของเขา คือ การที่จะทำให้อเมริกาเข้มแข็ง และเมื่ออเมริกาเข้มแข็ง โลกก็จะปลอดภัย ความแข็งแกร่งของอเมริกาจะมาจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง กองทัพที่แข็งแกร่ง และค่านิยมอันสูงส่งของอเมริกา แต่ Romney ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล Obama ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Obama ได้ทำให้ความแข็งแกร่งของอเมริกาลดน้อยถอยลงไปในทุกด้าน
ดังนั้น Romney จึงประกาศกร้าวว่า ในวันแรกที่เขาเป็นประธานาธิบดี เขาจะสร้างเศรษฐกิจอเมริกาให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง และจะปรับนโยบายสวนทางกับ Obama ที่ปรับลดงบประมาณทางทหารลงไปเป็นอย่างมาก โดยเขาจะเพิ่มงบประมาณทางทหาร และจะสร้างกองทัพอเมริกาให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง
ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ Romney ได้กล่าวสรุปว่า ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาของอเมริกา หรือ America’s moment โดยสหรัฐฯจะต้องแข็งแกร่งในการเผชิญกับภัยคุกคาม ไม่ใช่หวาดกลัวและ “หดหัว” เข้าไปอยู่ใน “กระดอง” ของลัทธิโดดเดี่ยวนิยม และอเมริกาจะต้องไม่ยกธงขาว และยอมแพ้ต่อภัยคุกคามต่างๆ Romney ปฏิเสธคนที่กล่าวว่า “เวลาของความยิ่งใหญ่ของอเมริกาได้หมดสิ้นไปแล้ว” เขาจะไม่ยอมจำนนบทบาทผู้นำโลกของอเมริกา และกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หากชาวอเมริกันต้องการให้อเมริกาเป็นประเทศที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ก็คงจะต้องเลือกเขาเป็นประธานาธิบดี
กล่าวโดยสรุป ผมมองว่า สุนทรพจน์ของ Romney ในการประกาศวิสัยทัศน์นโยบายต่างประเทศในครั้งนี้ เป็นการมองโลกในแนวอนุรักษ์นิยม ในแนวรีพับลิกัน ที่มองโลกในแง่ร้ายแบบสุดโต่ง และมองไปที่ไหนก็เจอแต่ศัตรูแทบทั้งสิ้น ผมดูนโยบายของ Romney แล้ว ก็นึกถึงนโยบายสายเหยี่ยวของรัฐบาล Bush ซึ่งได้ทำให้โลกปั่นป่วนมาแล้วในช่วง 8 ปีของรัฐบาล Bush ดังนั้น คงจะคาดการณ์ได้ว่า หาก Romney ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เขาคงจะดำเนินนโยบายต่างประเทศในแนวสายเหยี่ยว ก้าวร้าว และใช้ความรุนแรง ซึ่งจะกระทบต่อโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น สถานการณ์โลกก็คงจะเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความปั่นป่วนอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับในสมัยของรัฐบาล Bush
ทางเลือกการแก้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน
ทางเลือกการแก้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
12 กุมภาพันธ์ 2555
สถานการณ์นิวเคลียร์อิหร่าน
ตะวันตกได้กล่าวหาอิหร่านมาตลอดว่า แอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านก็ปฏิเสธมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้ว IAEA ได้ออกมาประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้สถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯตึงเครียดขึ้นมาก และเมื่อช่วงเดือนมกราคมนี้ IAEA ยืนยันว่า อิหร่านเดินหน้าเสริมสร้างสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียมในระดับ 20% ในโรงงานนิวเคลียร์ใกล้เมือง Qom และ IAEA ยังได้รายงานว่า อิหร่านกำลังทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์
นั่นคือสิ่งที่เรารู้ แต่ยังมีที่ไม่รู้และไม่แน่ชัดอีกหลายเรื่อง อาทิ เราไม่รู้ว่าอิหร่านจะสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จเมื่อไหร่ มีการประเมินตั้งแต่จะใช้เวลาเพียงประมาณ 2-6 เดือน ไปจนถึงใช้เวลาอีกหลายปี และเราก็ไม่รู้และไม่แน่ใจว่า ผู้นำอิหร่านได้ตัดสินใจที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างแน่นอนแล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตาม วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านในขณะนี้ ทำให้ตะวันตกและประชาคมโลก กำลังเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก แต่ละทางเลือกก็มีข้อดี-ข้อเสีย และความเสี่ยง และการพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย และความเสี่ยง ก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
ทางเลือกที่ 1: ยอมรับนิวเคลียร์อิหร่าน
ทางเลือกนี้ จะยอมรับและปล่อยให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีสมมติฐานว่า อิหร่านคงจะถูกป้องปรามในการใช้อาวุธเหมือนกับประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์อื่นๆ และสหรัฐฯอาจแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธเพิ่มเติม และขยายขอบเขตการให้หลักประกันความมั่นคงในระดับที่จะทำให้อิหร่านเข้าใจว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านจะต้องถูกตอบโต้จากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของทางเลือกนี้ คือ อิหร่านที่มีอาวุธนิวเคลียร์จะมีนโยบายที่ก้าวร้าวมากขึ้น และอาจถ่ายโอนวัตถุดิบ เทคโนโลยี หรืออาวุธนิวเคลียร์ให้กับพันธมิตรของอิหร่าน หรือให้กับองค์กรก่อการร้ายที่ใกล้ชิดกับอิหร่าน อาทิ Hezbollah และ Hamas นอกจากนี้ การที่อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์จะก่อให้เกิดการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และอียิปต์ อาจจะพยายามมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อถ่วงดุลอิหร่าน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เมื่อหลายประเทศในตะวันออกกลางมีอาวุธนิวเคลียร์ โอกาสที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์จะมีมากขึ้น
ทางเลือกที่ 2: การใช้กำลังโจมตีอิหร่าน
ทางเลือกที่ตรงข้ามกับทางเลือกที่ 1 คือ การใช้กำลัง โดยเฉพาะการโจมตีทำลายโรงงานอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ปฏิบัติการดังกล่าว น่าจะเป็นปฏิบัติการโดยอิสราเอลหรือสหรัฐฯ
แต่แนวโน้มของการโจมตีโดยอิสราเอลมีค่อนข้างสูง โดยเมื่อเร็วๆนี้ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล คือ Ehud Barak ได้ประกาศว่า เวลาที่จะหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านเหลือน้อยเต็มที และต่อมา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ คือ Leon Panetta ได้แสดงความวิตกกังวลว่า อิสราเอลอาจจะโจมตีอิหร่าน เช่นเดียวกับรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษ คือ Nick Clegg ก็ได้แสดงความห่วงใยว่า อิสราเอลกำลังใกล้ที่จะตัดสินใจโจมตีอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ผลเสียของทางเลือกนี้ คือ แม้ว่า การโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน อาจจะชะลอการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านไปได้ 2-3 ปี แต่ในที่สุด อิหร่านก็จะกลับมาสร้างโรงงานนิวเคลียร์ใหม่ และอาจจะอยู่ลึกลงไปใต้ดินมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การโจมตีทำลายโรงงานนิวเคลียร์ในอนาคตยากลำบากมากขึ้น นอกจากนั้น อิหร่านอาจตอบโต้ด้วยการโจมตีเป้าหมายทางทหารในอิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย อิรัก และอัฟกานิสถาน รวมทั้งเป้าหมายทางทหารของสหรัฐฯทั่วโลก Hezbollah ก็อาจจะโจมตีอิสราเอลด้วย ซึ่งหากเกิดสงครามขึ้น ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ การโจมตีอิหร่านจะยิ่งทำให้ชาวอิหร่านสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้มีความยากลำบากมากขึ้นในการที่จะโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งทางเลือกของการเปลี่ยนระบอบ หรือ regime change นี้ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ก็มีความยากลำบากมากที่จะประสบความสำเร็จ
ทางเลือกที่ 3: การคว่ำบาตร
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า 2 ทางเลือกข้างต้น น่าจะมีผลเสียเป็นอย่างมาก ดังนั้น ขณะนี้ หลายฝ่ายจึงมุ่งไปที่ทางเลือกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น ทางเลือกนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า มาตรการคว่ำบาตรจะก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนชาวอิหร่าน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ผู้นำอิหร่าน ซึ่งกลัวที่จะสูญเสียอำนาจ ต้องยอมประนีประนอมเจรจากับ UN หรือตะวันตก
แนวโน้มในขณะนี้ ก็เป็นไปในทิศทางนี้ คือ หลายฝ่ายสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้น ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรธนาคารกลางอิหร่าน ทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันได้อย่างยากลำบาก
นอกจากนี้ ที่ควบคู่ไปกับมาตรการคว่ำบาตร คือ มาตรการป้องกันไม่ให้อิหร่านนำเข้าเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อน การโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของอิหร่านด้วยไวรัส ทำให้ประสิทธิภาพของการเพิ่มสมรรถนะของแร่ยูเรเนียมลดลง และการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่านด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของทางเลือกนี้ คือ มาตรการเหล่านี้ อาจจะเป็นเพียงการชะลอการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้เท่านั้น แต่คงจะไม่สามารถยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ ประชาคมโลกกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านที่ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนว่า วิธีการแก้ปัญหาวิธีใดที่จะนำไปสู่การยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างยั่งยืน
ภัยคุกคามโลก ปี 2012
ภัยคุกคามโลก ปี 2012
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555
ในช่วงต้นปีของทุกปี สภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ จะทำรายงานประเมินสถานการณ์ภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ เสนอต่อสภาคองเกรส ซึ่งเอกสารดังกล่าว เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Worldwide Threat Assessment คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ เอกสารดังกล่าว ดังนี้
การก่อการร้าย
ในสายตาของหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ มองว่า ภัยคุกคามอันดับ 1 คือ การก่อการร้ายสากล ภัยคุกคามอันดับ 2 คือ การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และภัยคุกคามอันดับ 3 คือ ภัยคุกคามทางอินเตอร์เนต โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน สหรัฐฯไม่ได้เผชิญกับภัยคุกคามเพียงมิติเดียวเหมือนกับในสมัยสงครามเย็น แต่สหรัฐฯกำลังเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ที่มีลักษณะหลายมิติ เชื่อมโยงกัน และมีหลายตัวแสดง
สำหรับในเรื่องภัยคุกคามจากการก่อการร้ายนั้น หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯมองว่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ สำหรับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย โดยเฉพาะจากกลุ่ม al-Qaeda โดยคาดการณ์ว่า ผู้นำของขบวนการจะมีการกระจายตัว โดยแกนกลางของ al-Qaeda จะลดบทบาทความสำคัญลง ซึ่งในที่สุด จะนำไปสู่การแตกสลายของขบวนการ ทำให้ในอนาคต al-Qaeda จะมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น โดยจะมีองค์กรในระดับภูมิภาคร่วมอุดมการณ์ที่จะผลักดันสงครามศาสนาในระดับโลก หรือ global jihad ต่อ
สำหรับการโจมตีจากขบวนการก่อการร้ายโดยการใช้อาวุธร้ายแรงนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯยังคงเป็นห่วง โดยถึงแม้จะไม่มีการโจมตีที่จะมีการสูญเสียครั้งใหญ่ แต่อาจจะมีการโจมตีโดยการใช้อาวุธร้ายแรงในระดับย่อยๆ
นอกจากนี้ แกนกลางของ al-Qaeda กำลังเสื่อมลง โดยเฉพาะการเสียชีวิตของ Bin Laden ทำให้ขบวนการขาดผู้นำ และผู้นำคนใหม่ คือ Ayman al-Zawahiri ก็ไม่มีบารมีเท่ากับ Bin Laden นอกจากนี้ ได้มีการจับกุมและสังหารผู้นำ al-Qaeda เป็นจำนวนมาก ทำให้องค์กร al-Qaeda อ่อนแอลงไปมาก
อย่างไรก็ตาม องค์กร al-Qaeda ในระดับภูมิภาคจะมีบทบาทมากขึ้น ที่สำคัญ คือ al-Qaeda in the Arabian Peninsula (AQAP), al-Qaeda in Iraq (AQI), al-Qaeda in the Islamic Maghreb (AQIM) และ al-Shabaab โดยกลุ่ม AQAP จะมีบทบาทมากที่สุดในการผลักดัน global jihad ต่อ แต่กลุ่ม AQI จะเน้นการก่อวินาศกรรมในอิรัก เพื่อโค่นล้มรัฐบาลชีอะห์ ส่วน AQIM และ al-Shabaab จะเน้นการก่อวินาศกรรมในระดับท้องถิ่นมากกว่าการทำ global jihad
สำหรับในตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ การก่อวินาศกรรมน่าจะมาจากผู้ก่อการร้ายที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเรียกว่า home-grown terrorist โดยอาจจะเป็นการปฏิบัติการเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเล็กๆ ที่มีอุดมการณ์ร่วมกับ al-Qaeda แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ หรือได้รับคำสั่งโดยตรงจาก al-Qaeda
การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง
อีกเรื่องหนึ่งที่จะเป็นภัยคุกคามโลก คือ การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์ จะยังคงมีประเทศที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธร้ายแรงต่อไป ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ เรื่องสำคัญ คือ การแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงการแพร่ขยายของวัตถุดิบและเทคโนโลยี ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพได้
ประเทศสำคัญที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม คือ อิหร่านและเกาหลีเหนือ โดยอิหร่านยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อ โดยเฉพาะการพัฒนาโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อทำให้อิหร่านสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ อิหร่านได้เดินหน้าเพิ่มสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียม ซึ่งสามารถนำมาใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้
สำหรับอีกประเทศ คือ เกาหลีเหนือ ซึ่งมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ถือเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในอดีต เกาหลีเหนือได้ส่งออกขีปนาวุธให้กับหลายประเทศ อาทิ อิหร่านและซีเรีย และได้ช่วยเหลือซีเรียในการพัฒนาโรงงานนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2006 และครั้งที่ 2 ในปี 2009 ต่อมาในปี 2010 เกาหลีเหนือได้เปิดเผยโรงงานเพิ่มสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียมให้กับคณะของสหรัฐฯที่เดินทางมาเยือนศูนย์วิจัยด้านนิวเคลียร์ที่เมือง Yongbyon
เกาหลีเหนือมองว่า อาวุธนิวเคลียร์จะเป็นการป้องปรามการโจมตีจากสหรัฐฯ และเป็นการเพิ่มสถานะของประเทศ และใช้เป็นเครื่องมือทางการทูต ในการกดดันให้สหรัฐฯยอมอ่อนข้อให้กับเกาหลีเหนือ แต่เกาหลีเหนือคงจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อสหรัฐฯ ยกเว้นในกรณีที่รัฐบาลเกาหลีเหนือกำลังจะประสบความพ่ายแพ้ทางทหารเท่านั้น
ภัยคุกคามทางอินเตอร์เนต
นอกจากนี้ ภัยคุกคามต่อโลกในรูปแบบใหม่ คือ ภัยคุกคามทางอินเตอร์เนต ทั้งนี้ ก็เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆต้องพึ่งพาอินเตอร์เนตเป็นอย่างมาก แนวโน้มก็คือ ได้มีการก่อวินาศกรรมทางอินเตอร์เนตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศที่สหรัฐฯจับตามองมากเป็นพิเศษ คือ จีนและรัสเซีย โดยสหรัฐฯกล่าวหาว่า แฮคเกอร์จากจีนและรัสเซีย ได้เข้ามาแฮคเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ และขโมยข้อมูลไปเป็นจำนวนมาก
ขณะนี้ โลกกำลังประสบกับสภาวะแวดล้อมที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก จนรัฐบาลตามไม่ทัน ในช่วงปีที่แล้ว ได้มีการแฮคข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ หรือ NASDAQ และได้มีการแฮคข้อมูลจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ IMF ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกต่อภัยคุกคามในรูปแบบใหม่นี้
แนวโน้มสถานการณ์การก่อการร้ายสากล ปี 2012
แนวโน้มสถานการณ์การก่อการร้ายสากล ปี 2012
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 – วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์2555
ภาพรวม
สถานการณ์การก่อการร้ายสากลยืดเยื้อมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 สำหรับในปีนี้ การก่อการร้ายสากลจะยังคงเป็นภัยคุกคามต่อประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง โดยในบางมิติ สถานการณ์อาจจะดูดีขึ้น โดยเฉพาะองค์กร al-Qaeda ซึ่งหลังจาก Osama Bin Laden ถูกสังหาร ทำให้องค์กรอ่อนแอลง แต่ในบางมิติ สถานการณ์มีแนวโน้มจะเลวร้ายลง โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯถอนทหารออกจากอิรักในช่วงปีที่แล้ว และประกาศจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014 ซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและปากีสถานเลวร้ายลง นอกจากนี้ กลุ่มก่อการร้าย ได้พยายามสร้างภาพว่า การถอนทหารของสหรัฐฯออกจากอิรักและอัฟกานิสถานนั้น ถือเป็นความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯทั้ง 2 สมรภูมิ และแม้ว่า องค์กร al-Qaeda จะอ่อนแอลง แต่อุดมการณ์และเครือข่ายองค์กรร่วมอุดมการณ์ทั่วโลก ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อประชาคมโลกอยู่
ในปีนี้ โลกจะยังคงประสบกับปัญหาการก่อการร้ายใน 4 มิติด้วยกัน
มิติแรก คือ จะเป็นการก่อการร้ายโดยกลุ่มก่อการร้ายที่อาศัยอยู่ในตะวันตกซึ่งเรียกว่า home-grown terrorist
มิติที่ 2 การก่อการร้ายและการก่อวินาศกรรม มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอิรักและในอัฟกานิสถาน
มิติที่ 3 คือ การลุกลามขยายตัวของการก่อการร้ายเข้าสู่เยเมนและโซมาเลีย
และมิติที่ 4 คือ การลุกลามขยายวงของขบวนการก่อการร้าย จากทางตอนเหนือของอัฟริกาเข้าสู่ทางตะวันตกของอัฟริกา
อิรัก
แม้ว่า สหรัฐฯจะถอนทหารออกจากอิรักไปในปีที่แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความถึงการสิ้นสุดของการก่อการร้ายในอิรัก แต่กลับมีแนวโน้มว่า การก่อการร้ายในอิรักจะเพิ่มมากขึ้น เครือข่าย al-Qaeda ในอิรัก ยังคงปฏิบัติการก่อวินาศกรรม ได้มีเหตุการณ์ระเบิด โดยเป้า คือ รัฐบาลและกลุ่มชีอะห์ในกรุงแบกแดด ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กองกำลังของอิรักก็ไม่สามารถที่จะรักษาความมั่นคงปลอดภัยในอิรักได้ ซึ่งจะทำให้ขบวนการก่อการร้ายในอิรักได้ใจและเพิ่มการก่อการร้ายมากขึ้นในปีนี้
อัฟกานิสถาน
ส่วนสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ยังคงน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก มีกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม Taliban ซึ่งได้กำลังใจมากขึ้น จากการที่สหรัฐฯถอนทหารออกจากอิรัก และคงจะเพิ่มการโจมตีรัฐบาลและกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานมากขึ้น นอกจากนั้น การประกาศจากทางฝ่ายสหรัฐฯที่จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014 นั้น ทำให้นักรบ Taliban และเครือข่าย al-Qaeda เป็นต่อมากขึ้น โดยคงจะทำสงครามยืดเยื้อ และรอให้สหรัฐฯถอนทหารออกไปในปี 2014 แม้ว่าทางฝ่ายสหรัฐฯจะพยายามเจรจากับกลุ่ม Taliban ในปีนี้ แต่ก็คาดว่า การเจรจาคงจะประสบความล้มเหลว
Arab Spring
ในช่วงปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ได้เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนชาวอาหรับได้ลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ แต่สถานการณ์ดังกล่าว ก็เป็นการเปิดช่องให้กับขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรง ซึ่งคอยฉวยโอกาสจากสถานการณ์สุญญากาศทางการเมือง การไร้เสถียรภาพทางการเมืองและรัฐบาลที่อ่อนแอ เพื่อเข้ายึดกุมอำนาจรัฐและจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้น
al-Qaeda
นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญสำหรับกลุ่ม al-Qaeda โดยคาดว่า ผู้นำของขบวนการจะมีการกระจายตัว แกนกลางของ al-Qaeda จะลดบทบาทความสำคัญลง ในที่สุด จะนำไปสู่การแตกสลายของขบวนการ ซึ่งจะทำให้ในอนาคต al-Qaeda จะมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น โดยจะมีองค์กรในระดับภูมิภาคร่วมอุดมการณ์ ที่จะผลักดันสงครามศาสนาในระดับโลก หรือ global jihad ต่อ
องค์กร al-Qaeda ในระดับภูมิภาคที่จะมีบทบาทมากขึ้น ได้แก่ al-Qaeda in the Arabian Peninsula (AQAP) , al-Qaeda in Iraq (AQI), al-Qaeda in the Islamic Maghreb (AQIM) และ al-Shabaab โดยกลุ่ม AQAP จะมีบทบาทมากที่สุดในการผลักดัน global jihad ต่อไป แต่กลุ่ม AQI จะเน้นการก่อวินาศกรรมในอิรัก เพื่อโค่นล้มรัฐบาลชีอะห์ ส่วน AQIM และ al-Shabaab จะเน้นการก่อวินาศกรรมในท้องถิ่นมากกว่าการทำ global jihad
สำหรับในตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ การก่อวินาศกรรมน่าจะมาจากผู้ก่อการร้ายที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเรียกว่า home-grown terrorist โดยอาจจะเป็นการปฏิบัติการเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเล็กๆ ที่มีอุดมการณ์ร่วมกับ al-Qaeda แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ และไม่ได้รับคำสั่งโดยตรงจาก al-Qaeda
Global Risks 2012
Global Risks 2012
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
5 กุมภาพันธ์ 2555
การประชุม World Economic Forum ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการเผยแพร่รายงาน “Global Risks 2012” ซึ่งเป็นการประเมินสถานการณ์โลกในปี 2012 โดยเน้นความเสี่ยงสำคัญๆของโลก ซึ่งมีอยู่ 50 เรื่อง คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ รายงานดังกล่าว ดังนี้
เกริ่นนำ
ในคำนำของรายงานดังกล่าว Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธาน World Economic Forum ได้กล่าวนำว่า ในทศวรรษหน้า วิถีชีวิตของมนุษย์ จะได้รับอิทธิพลจากพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ด้านสังคม และด้านเทคโนโลยี
สัญญาณได้ชี้ชัดว่า กำลังมีการเปลี่ยนแปลงดุลยภาพครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจโลก ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ล้านคน พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกัน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งมีความยุ่งยากสลับซับซ้อน กำลังเป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติ เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาตัวแบบ แนวคิดใหม่ๆ เพื่อเผชิญกับสิ่งท้าทายดังกล่าว ดังนั้น รายงานฉบับนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “Global Risks 2012” ได้วิเคราะห์ปัญหาความเสี่ยงของโลก 50 เรื่องโดยมุ่งเป้าเพื่อที่จะปรับปรุงความพยายาม ทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่จะเข้าใจ ติดตาม และลดความเสี่ยงดังกล่าวของโลก รายงานดังกล่าว ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันในการแก้ปัญหาของโลก
นอกจากนี้ Lee Howell แห่ง Risk Response Network ซึ่งเป็นหน่วยงานในการจัดทำรายงานฉบับนี้ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเสี่ยงของโลก 50 เรื่อง ใน 5 มิติ ได้แก่ มิติทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี โดยได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 469 คนทั่วโลก ซึ่งมีทั้งนักธุรกิจอุตสาหกรรม ข้าราชการ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม แบบสำรวจได้เน้นศึกษาความเป็นไปได้ของความเสี่ยงต่างๆ ในห้วงเวลา 10 ปี และรวมถึงการเน้นสำรวจความรุนแรงและผลกระทบของความเสี่ยงดังกล่าว
Global Risks
การสำรวจดังกล่าว ได้พิจารณาถึงความเสี่ยง 50 เรื่อง และจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยง ดังนี้
ปัญหาหรือความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด 5 เรื่อง คือ
1. ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน
2. ความไม่สมดุลของระบบการเงินโลก
3. การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก
4. ภัยคุกคามทางอินเตอร์เนต
5. วิกฤตการขาดแคลนน้ำ
สำหรับปัญหาหรือความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อโลกมากที่สุด 5 เรื่อง คือ
1. ความล้มเหลวของระบบการเงินโลก
2. วิกฤตการขาดแคลนน้ำ
3. วิกฤตการขาดแคลนอาหาร
4. ความไม่สมดุลของระบบการเงิน การคลัง
5. วิกฤตด้านราคาพลังงานและสินค้าเกษตร
ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง
รายงานฉบับนี้ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง หรือ Centres of Gravity ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงหรือปัญหาของโลก ที่มีความสำคัญสูงสุดต่อระบบโลก โดยมีศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง 5 ศูนย์ด้วยกัน ใน 5 มิติ คือ
1. ในมิติด้านเศรษฐกิจ ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง คือ การไร้ดุลยภาพของระบบการเงินโลก
2. ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง คือ ก๊าซเรือนกระจก
3. ในมิติด้านภูมิรัฐศาสตร์ ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง คือ ความล้มเหลวของกลไกจัดการปัญหาโลก
4. ในมิติด้านสังคม ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก
5. ในมิติด้านเทคโนโลยี ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง คือ ความล้มเหลวของระบบเทคโนโลยีโลก
โลกแห่งความสับสนวุ่นวาย (Dystopia)
รายงานดังกล่าว ได้เน้นว่า โลกกำลังจะเข้าสู่ยุคแห่งความสับสนวุ่นวาย หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Dystopia ซึ่งเป็นคำตรงข้ามกับคำว่า Utopia รายงานได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงของความเสี่ยงและปัญหาของโลก ที่เผยให้เห็นความเสี่ยงทางด้านการเงิน ด้านประชากร และด้านสังคม ที่เป็นสัญญาณของการเข้าสู่โลกแห่ง Dystopia โดยจะมีปัญหาในเรื่องประชากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะประสบปัญหาการว่างงาน ในขณะที่โลกจะมีสัดส่วนของประชากรที่เป็นผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลที่จะต้องจัดการในเรื่องของสวัสดิการให้แก่คนเหล่านี้ และผลที่ตามมา คือ จะทำให้รัฐบาลประสบกับภาวะหนี้สินมากขึ้น นอกจากนี้ ประชากรโลกจะประสบกับปัญหาช่องว่างทางรายได้ ระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม และในที่สุด จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม นำไปสู่ยุคสมัยของการปกป้องทางการค้า ลัทธิชาตินิยม และลัทธิประชานิยม
การไร้ประสิทธิภาพของกลไกโลก
ในขณะที่โลกมีความสลับซับซ้อน และมีการพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น แต่กลไกโลกที่จะจัดการกับระบบ กลับไร้ประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงและปัญหาของโลกจะเพิ่มมากขึ้น และจะท้าทายกลไกการจัดการของโลก ทั้งมิติทางด้านเทคโนโลยี การพึ่งพาอาศัยกันทางการเงิน การลดลงของทรัพยากร และปัญหาภาวะโลกร้อน กลไกโลกในปัจจุบันและในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย บรรทัดฐาน กฎ ระเบียบ และสถาบัน จะไร้ประสิทธิภาพมากขึ้น
ภัยคุกคามในอินเตอร์เนต
อีกเรื่องที่รายงานฉบับนี้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ด้านมืดของอินเตอร์เนต ในอนาคต มีแนวโน้มที่จะมีอาชญากรรม การก่อการร้าย และสงคราม ในโลกอินเตอร์เนต ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบไม่น้อยไปกว่า อาชญากรรม การก่อการร้าย และสงครามในโลกนอกอินเตอร์เนต ในขณะนี้ มีจำนวนโทรศัพท์มือถือกว่า 5,000 ล้านเครื่อง ดังนั้น วิถีชีวิตของมนุษย์จะเปราะบางมากต่อภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ คือ ภัยคุกคามในโลกอินเตอร์เนต หรือ cyber threat โลกในอนาคต พรมแดนจะมีความหมายลดลง อำนาจจะเปลี่ยนผ่านจากโลกที่ไม่ใช่อินเตอร์เนตไปสู่โลกอินเตอร์เนต คือ เปลี่ยนจาก physical world ไปสู่ virtual world
Obama ประกาศนโยบายต่างประเทศ ปี 2012
Obama ประกาศนโยบายต่างประเทศ ปี 2012
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 3– วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์2555
ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายประจำปีต่อสภาคองเกรส ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า State of the Union Address คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ สุนทรพจน์ดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ ดังนี้
ภาพรวม
สุนทรพจน์ประกาศนโยบายคราวนี้ Obama เน้นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ สำหรับในด้านนโยบายต่างประเทศนั้น เป็นการประกาศความสำเร็จของการดำเนินนโยบายต่างประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะความสำเร็จในการถอนทหารออกจากอิรัก และความสำเร็จในการสังหาร Osama Bin Laden โดย Obama กล่าวว่า ผู้นำของ al-Qaeda กำลังประสบความพ่ายแพ้ เช่นเดียวกับนักรบ Taliban ในอัฟกานิสถาน และสหรัฐฯกำลังเริ่มถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน Obama ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า เขาได้รื้อฟื้นการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ ความสัมพันธ์กับพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งในยุโรปและในเอเชีย ก็กระชับแน่นแฟ้น
นโยบายการค้า
สำหรับในด้านนโยบายการค้านั้น Obama ได้ตั้งเป้าว่า จะเพิ่มการส่งออกของสหรัฐฯให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายใน 5 ปี และได้มีการทำ FTA กับปานามา โคลัมเบีย และเกาหลีใต้ ซึ่งจะทำให้การส่งออกของสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น Obama ประกาศกร้าวว่า จะเดินหน้าเปิดตลาดให้กับสินค้าอเมริกันทั่วโลก และจะไม่ยอมอยู่เฉยๆ หากคู่แข่งของสหรัฐฯไม่เล่นตามเกม ซึ่งสหรัฐฯก็ได้ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับประเทศเหล่านี้ไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะกับจีน และในอนาคต สหรัฐฯจะมีมาตรการตอบโต้ทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และมาตรการอุดหนุนการส่งออก Obama ได้ตั้งกลไกใหม่ คือ Trade Enforcement Unit เพื่อสอบสวนประเทศที่มีนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ
การก่อการร้าย
สำหรับมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายนั้น Obama กล่าวว่า การยุติสงครามในอิรัก ทำให้สหรัฐฯมีทรัพยากรมากขึ้นในการจัดการกับขบวนการก่อการร้าย โดยเฉพาะองค์กร al-Qaeda ซึ่งก็กำลังระส่ำระสาย เช่นเดียวกับสงครามในอัฟกานิสถาน สหรัฐฯก็กำลังเริ่มถอนทหารออกจากประเทศนี้แล้ว
Arab Spring
Obama กล่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในโลกอาหรับ ปีที่แล้ว Gaddafi ยังเป็นผู้นำเผด็จการที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในโลก แต่วันนี้ Gaddafi ก็ไม่อยู่แล้ว ในซีเรีย รัฐบาล Assad ก็คงจะพบว่า คงไม่สามารถต่อต้านพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกอาหรับยังคงมีความไม่แน่นอน แต่สหรัฐฯก็จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะจุดยืนของสหรัฐ คือ สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ต่อต้านความรุนแรง และสนับสนุนประชาธิปไตยทั่วโลกอาหรับ
อิหร่าน
สำหรับอิหร่าน ซึ่งเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ Obama ได้ประกาศว่า จากความสำเร็จทางการทูตของสหรัฐฯ ทำให้ประชาคมโลกมีจุดยืนร่วมกันในวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน รัฐบาลอิหร่านกำลังถูกโดดเดี่ยว และมาตรการคว่ำบาตรก็จะเดินหน้าต่อไป สหรัฐฯมุ่งมั่นที่จะป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ และ Obama ก็จะพิจารณาทางเลือกทั้งหมดที่มีอยู่ (รวมถึงทางเลือกการใช้กำลังทางทหาร) อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาอย่างสันติวิธียังมีความเป็นไปได้ และน่าจะดีกว่าทางเลือกอื่น
บทวิเคราะห์
ผมมองว่า สุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่างประเทศของ Obama ล่าสุด เน้นความสำเร็จในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และเห็นได้ชัดว่า tone ของนโยบายต่างประเทศของ Obama ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากนโยบายสายพิราบ ในตอนที่ Obama เป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ มาเป็นนโยบายสายเหยี่ยวในปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Obama มีนโยบายแข็งกร้าวมากขึ้น เพราะปีนี้เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ Obama ก็รู้ดีว่า จุดอ่อนของตน ที่ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันจะโจมตี คือ การที่ Obama มีนโยบายที่อ่อนแอ ยอมอ่อนข้อให้กับศัตรู Obama จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีความแข็งกร้าวมากขั้น เพื่อลดจุดอ่อนของตน
อย่างไรก็ตาม Obama พยายามบอกเราว่า นโยบายต่างประเทศของตนประสบความสำเร็จในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ผมกลับมองว่า Obama ประสบความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ในด้านการต่างประเทศ
โดยปัญหาการก่อการร้ายสากล ยังคงลุกลามบานปลายไปทั่วโลก และไม่มีทีท่าว่าสงครามนี้จะสิ้นสุดได้เมื่อไร แม้ว่า Bin Laden จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ สงครามในอัฟกานิสถานก็ยังคงลุกลามบานปลาย นักรบ Taliban ได้รุกคืบมากขึ้นเรื่อยๆ อนาคตของอัฟกานิสถานยังคงมืดมน และยังไม่มีเค้าว่า สหรัฐฯจะชนะสงครามนี้ได้เมื่อใด นอกจากนี้ สถานการณ์ในปากีสถาน ก็น่าเป็นห่วงและเลวร้ายลงเรื่อยๆเช่นเดียวกัน
สำหรับนโยบายในตะวันออกกลางนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านก็เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Obama ล้มเหลวในการที่จะหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน และสำหรับความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์นั้น Obama ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของกระบวนการเสรีภาพครั้งใหม่เพื่อแก้ไขความขัดแย้งได้ เช่นเดียวกับ Arab Spring ผมก็มองว่า สหรัฐฯล้มเหลวในการสนับสนุนประชาธิปไตยในโลกอาหรับ
สำหรับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจนั้น โดยเฉพาะกับรัสเซียและจีน ก็ไม่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม กลับเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีแนวโน้มขัดแย้งกันหนักขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับนโยบายต่อเอเชีย การแก้ปัญหาเกาหลีเหนือก็ไม่คืบหน้า และเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อ และการเพิ่มบทบาททางทหารของสหรัฐในภูมิภาคนั้น ก็เป็นดาบ 2 คม คือ อาจมีผลดีในการถ่วงดุลอำนาจจีน แต่ผลเสีย ก็คือ อาจทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคเกิดความตึงเครียดมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับจีนอย่างรุนแรงในอนาคตได้
สำหรับนโยบายต่อปัญหาอื่นๆของโลก อย่างเช่น เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลก และวิกฤต Eurozone รัฐบาล Obama ก็ไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นในการกอบกู้วิกฤตแต่อย่างใด เช่นเดียวกับปัญหาภาวะโลกร้อน Obama ก็ล้มเหลว โดยเฉพาะบทบาทของสหรัฐฯในการประชุมที่โคเปนเฮเกนในปี 2009 ก็เป็นที่น่าผิดหวัง
กล่าวโดยสรุป แม้ว่า Obama จะประกาศกร้าวถึงความสำเร็จของนโยบายต่างประเทศของตน แต่ผมกลับมองว่า นโยบายต่างประเทศของ Obama นั้น ล้มเหลวและเป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง
วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555
ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2011-2012
ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2011-2012
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
29 มกราคม 2555
ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯต่อภูมิภาคเอเชีย ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากจีน ในหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งคงจะทอดยาวถึงปี 2012 นี้ โดยเรื่องที่ขัดแย้งกัน มีหลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้
ฐานทัพสหรัฐฯในออสเตรเลีย
ในช่วงปลายปีที่แล้ว Obama ได้ประกาศที่จะส่งกองกำลังทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ถือเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางทหารครั้งใหญ่ของสหรัฐฯต่อภูมิภาค
แผนการของสหรัฐฯทำให้จีนมีปฏิกิริยาไม่พอใจ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ตั้งคำถามว่า การขยายพันธมิตรทางทหาร จะเหมาะสมกับเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคได้อย่างไร ในขณะที่โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน ได้โจมตีข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลียว่า จะก่อให้เกิดผลเสียต่อผลประโยชน์โดยรวมในภูมิภาค และมองว่า การขยายพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯยังคงมีแนวคิดแบบสงครามเย็นอยู่ (cold war mentality) นอกจากนี้ บทความในหนังสือพิมพ์ China Youth Daily ได้มองว่า การส่งกองกำลังทหารสหรัฐฯเข้าไปประจำการในออสเตรเลีย ซึ่งในอนาคตอาจจะขยายเป็นฐานทัพใหม่ในออสเตรเลียนั้น เท่ากับเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนอย่างชัดเจน
ทะเลจีนใต้
อีกเรื่องที่จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก คือ การที่สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ Obama ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นหารือในที่ประชุม East Asia Summit ในช่วงปลายปีที่แล้ว สื่อจีนได้โจมตีสหรัฐฯว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสหรัฐฯในการเข้ามาวุ่นวายในปัญหานี้ คือ เพื่อยุแหย่ให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อภูมิภาค นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ตอกย้ำท่าทีของจีนว่า ความขัดแย้งดังกล่าว ควรจะเจรจาผ่านเวทีทวิภาคี และว่า การแทรกแซงจากประเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง (สหรัฐฯ) จะไม่ช่วยในการแก้ปัญหานี้
พม่า
ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ต่อพม่า โดย Clinton ได้เดินทางไปเยือนพม่าในช่วงปลายปีที่แล้ว และกำลังเดินหน้าสู่การปรับความสัมพันธ์ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม สื่อจีน อาทิ Global Times ได้มองว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐฯในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพม่า คือ การป้องกันไม่ให้จีนใช้ประโยชน์จากท่อก๊าซและน้ำมันจากพม่า และมองว่า การเดินทางไปเยือนพม่าของ Clinton ทำให้จีนจะยิ่งกลัวว่า เป้าหมายของสหรัฐฯในเอเชีย คือ การโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีน
ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ
ในช่วงปี 2011 ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีน ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น สหรัฐฯได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายค่าเงินหยวนของจีน โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม วุฒิสภาสหรัฐฯได้ผ่านร่างกฎหมายที่จะให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กำหนดว่า ประเทศที่มีนโยบายทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง ถือเป็นการอุดหนุนการส่งออก ซึ่งจะต้องได้รับการตอบโต้จากสหรัฐฯ
กระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้ร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และธนาคารกลางจีน ก็ได้บอกว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้มีผลทำให้จีนได้ดุลทางการค้า และการเพิ่มค่าเงินหยวนก็จะไม่มีผลต่อดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน โดยฝ่ายจีนแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง และมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าว จะนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง
TPP
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา และคงจะต่อเนื่องถึงปี 2012 นี้ คือ การที่สหรัฐฯผลักดัน FTA ตัวใหม่ ที่มีชื่อย่อว่า TPP โดยได้มีการประชุมระหว่างสหรัฐฯกับอีก 8 ประเทศ ที่ฮาวาย เมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อบรรลุข้อตกลง TPP โดยจีนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจา TPP
สื่อจีน ได้วิพากษ์วิจารณ์ TPP อย่างกว้างขวาง โดยมองว่า เป้าหมายของ TPP คือ การลดบทบาทของจีน และเพิ่มบทบาทการครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของสหรัฐฯ โดยสื่อจีนมองว่า TPP จะมาแทนที่เอเปค และจะเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ
ไต้หวัน
สำหรับเรื่องสุดท้ายที่จีนกับสหรัฐฯขัดแย้งกันในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การที่สหรัฐฯประกาศขายอาวุธให้กับไต้หวัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6,000 ล้านเหรียญ ทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ได้เรียกทูตสหรัฐฯเข้าพบเพื่อทำการประท้วง และต่อมา กองทัพจีนก็ได้ยกเลิกและเลื่อนการแลกเปลี่ยนทางทหารกับสหรัฐฯ
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯกับจีนขัดแย้งกันหลายเรื่องในช่วงปีผ่านมา และความขัดแย้งเหล่านี้ คงจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2012 นี้ โดยมีแนวโน้มว่า ในปีนี้ ความขัดแย้งอาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจัยสำคัญ คือ ปี 2012 เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ และขณะนี้ ผู้สมัครทุกคนก็กำลังชูนโยบายต่อต้านจีนมาเป็นจุดขายในการหาเสียงเลือกตั้ง
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
29 มกราคม 2555
ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯต่อภูมิภาคเอเชีย ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากจีน ในหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งคงจะทอดยาวถึงปี 2012 นี้ โดยเรื่องที่ขัดแย้งกัน มีหลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้
ฐานทัพสหรัฐฯในออสเตรเลีย
ในช่วงปลายปีที่แล้ว Obama ได้ประกาศที่จะส่งกองกำลังทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ถือเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางทหารครั้งใหญ่ของสหรัฐฯต่อภูมิภาค
แผนการของสหรัฐฯทำให้จีนมีปฏิกิริยาไม่พอใจ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ตั้งคำถามว่า การขยายพันธมิตรทางทหาร จะเหมาะสมกับเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคได้อย่างไร ในขณะที่โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน ได้โจมตีข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลียว่า จะก่อให้เกิดผลเสียต่อผลประโยชน์โดยรวมในภูมิภาค และมองว่า การขยายพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯยังคงมีแนวคิดแบบสงครามเย็นอยู่ (cold war mentality) นอกจากนี้ บทความในหนังสือพิมพ์ China Youth Daily ได้มองว่า การส่งกองกำลังทหารสหรัฐฯเข้าไปประจำการในออสเตรเลีย ซึ่งในอนาคตอาจจะขยายเป็นฐานทัพใหม่ในออสเตรเลียนั้น เท่ากับเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนอย่างชัดเจน
ทะเลจีนใต้
อีกเรื่องที่จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก คือ การที่สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ Obama ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นหารือในที่ประชุม East Asia Summit ในช่วงปลายปีที่แล้ว สื่อจีนได้โจมตีสหรัฐฯว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสหรัฐฯในการเข้ามาวุ่นวายในปัญหานี้ คือ เพื่อยุแหย่ให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อภูมิภาค นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ตอกย้ำท่าทีของจีนว่า ความขัดแย้งดังกล่าว ควรจะเจรจาผ่านเวทีทวิภาคี และว่า การแทรกแซงจากประเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง (สหรัฐฯ) จะไม่ช่วยในการแก้ปัญหานี้
พม่า
ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ต่อพม่า โดย Clinton ได้เดินทางไปเยือนพม่าในช่วงปลายปีที่แล้ว และกำลังเดินหน้าสู่การปรับความสัมพันธ์ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม สื่อจีน อาทิ Global Times ได้มองว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐฯในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพม่า คือ การป้องกันไม่ให้จีนใช้ประโยชน์จากท่อก๊าซและน้ำมันจากพม่า และมองว่า การเดินทางไปเยือนพม่าของ Clinton ทำให้จีนจะยิ่งกลัวว่า เป้าหมายของสหรัฐฯในเอเชีย คือ การโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีน
ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ
ในช่วงปี 2011 ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีน ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น สหรัฐฯได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายค่าเงินหยวนของจีน โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม วุฒิสภาสหรัฐฯได้ผ่านร่างกฎหมายที่จะให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กำหนดว่า ประเทศที่มีนโยบายทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง ถือเป็นการอุดหนุนการส่งออก ซึ่งจะต้องได้รับการตอบโต้จากสหรัฐฯ
กระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้ร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และธนาคารกลางจีน ก็ได้บอกว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้มีผลทำให้จีนได้ดุลทางการค้า และการเพิ่มค่าเงินหยวนก็จะไม่มีผลต่อดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน โดยฝ่ายจีนแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง และมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าว จะนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง
TPP
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา และคงจะต่อเนื่องถึงปี 2012 นี้ คือ การที่สหรัฐฯผลักดัน FTA ตัวใหม่ ที่มีชื่อย่อว่า TPP โดยได้มีการประชุมระหว่างสหรัฐฯกับอีก 8 ประเทศ ที่ฮาวาย เมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อบรรลุข้อตกลง TPP โดยจีนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจา TPP
สื่อจีน ได้วิพากษ์วิจารณ์ TPP อย่างกว้างขวาง โดยมองว่า เป้าหมายของ TPP คือ การลดบทบาทของจีน และเพิ่มบทบาทการครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของสหรัฐฯ โดยสื่อจีนมองว่า TPP จะมาแทนที่เอเปค และจะเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ
ไต้หวัน
สำหรับเรื่องสุดท้ายที่จีนกับสหรัฐฯขัดแย้งกันในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การที่สหรัฐฯประกาศขายอาวุธให้กับไต้หวัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6,000 ล้านเหรียญ ทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ได้เรียกทูตสหรัฐฯเข้าพบเพื่อทำการประท้วง และต่อมา กองทัพจีนก็ได้ยกเลิกและเลื่อนการแลกเปลี่ยนทางทหารกับสหรัฐฯ
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯกับจีนขัดแย้งกันหลายเรื่องในช่วงปีผ่านมา และความขัดแย้งเหล่านี้ คงจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2012 นี้ โดยมีแนวโน้มว่า ในปีนี้ ความขัดแย้งอาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจัยสำคัญ คือ ปี 2012 เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ และขณะนี้ ผู้สมัครทุกคนก็กำลังชูนโยบายต่อต้านจีนมาเป็นจุดขายในการหาเสียงเลือกตั้ง
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2012 : ผลกระทบต่อโลก
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2012 : ผลกระทบต่อโลก
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2555
ในช่วงปลายปีนี้ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ขณะนี้ การรณรงค์หาเสียง เริ่มเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในฟากของรีพับลิกัน ซึ่งกำลังมีการขับเคี่ยวกันอย่างหนัก เพื่อเลือกตัวแทนพรรคมาแข่งกับประธานาธิบดี Obama จากพรรคเดโมแครต ซึ่ง Obama ได้ประกาศตัวแล้วว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีก 1 สมัย ประเด็นที่ชาวโลกสนใจ คือ การเลือกตั้งสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร ซึ่งก็คงจะต้องมาวิเคราะห์ถึงแนวนโยบายต่างประเทศของผู้สมัครแต่ละคนว่า แตกต่างกันอย่างไร คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ จะวิเคราะห์แนวนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างกันในเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่อง คือ
อิหร่าน
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านกำลังเป็นประเด็นร้อนที่สุดสำหรับนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯในขณะนี้ ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ถึงการป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ที่ผ่านมา Obama ใช้มาตรการคว่ำบาตรในการกดดันอิหร่าน แต่ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันหลายคน นอกจากจะสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรแล้ว ยังสนับสนุนการใช้กำลังทางทหารโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย
สำหรับประธานาธิบดี Obama นั้น ในตอนเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือในช่วงต้นปี 2009 ได้เคยประกาศต่อผู้นำอิหร่านว่า สหรัฐฯต้องการปฏิสัมพันธ์และเจรจากับอิหร่านอย่างจริงใจ แต่ในที่สุดความพยายามของ Obama ก็ล้มเหลว อิหร่านปฏิเสธที่จะเจรจากับสหรัฐฯ และเดินหน้าที่จะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ต่อ ซึ่งทำให้รัฐบาล Obama ต้องปรับนโยบายใหม่ โดยเน้นมาตรการคว่ำบาตร และใช้ไม้แข็งเพิ่มขึ้น ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว IAEA ได้ประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาล Obama จึงได้เพิ่มแรงกดดันอิหร่านมากขึ้น แต่ Obama ก็ยังคงเน้นเครื่องมือทางการทูตในการกดดันอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ในฟากพรรครีพับลิกัน ซึ่งขณะนี้ มีตัวเต็งอยู่ 4 คน ที่เป็นตัวเต็งอันดับ 1 คือ Mitt Romney รองลงมาคือ Newt Gingrich, Rick Santorum และ Ron Paul
สำหรับท่าทีของ Romney นั้น ได้ประกาศว่า สหรัฐฯยอมรับไม่ได้ที่จะให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ และจะใช้เครื่องมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การทูต และเครื่องมือทางทหาร ในการป้องปรามอิหร่าน Romney ถึงกับประกาศกร้าวว่า ถ้าชาวอเมริกันเลือก Obama มาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย อิหร่านก็จะมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ถ้าหากเลือกเขาเป็นประธานาธิบดี อิหร่านก็จะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ Romney ยังได้ประกาศจะสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพื่อโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน
สำหรับ Gingrich ซึ่งเป็นอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็สนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน การลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่าน รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้กำลังทางทหาร โดยเฉพาะในกรณีถ้าอิหร่านกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯก็จำเป็นที่จะต้องใช้กำลังทางทหาร Gingrich เน้นการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน โดยจะให้มีกองทุนสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ตัดเส้นทางการส่งน้ำมัน และทำสงครามเศรษฐกิจ เพื่อบีบให้รัฐบาลอิหร่านล่มสลาย
สำหรับ Santorum มีแนวนโยบายสายเหยี่ยวมากที่สุด โดยเสนอให้สหรัฐฯร่วมกับอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยบอกว่า อิสราเอลเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ในอิรักและซีเรีย นอกจากนี้ Santorum ยังประกาศกร้าวว่า นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน ถือได้ว่าเป็นศัตรูของสหรัฐฯ เปรียบเสมือนสมาชิก al-Qaeda และนักรบ Taliban จึงเข้าข่ายที่จะเป็นเป้าในการลอบสังหารได้
เกาหลีเหนือ
สำหรับในกรณี วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือนั้น ในตอนแรก Obama ประกาศจะปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือก็ไม่ตอบสนอง และยังคงเดินหน้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงกลางปี 2009 หลังจากนั้น Obama จึงต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ได้ผล
สำหรับในฟากรีพับลิกัน ส่วนใหญ่เป็นสายเหยี่ยวเกือบทั้งหมด โดย Romney มองว่าเกาหลีเหนือเป็นรัฐอันธพาล เช่นเดียวกับอิหร่าน จึงเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง และได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล Obama ว่า มีนโยบายที่อ่อนแอ ทั้งต่อเกาหลีเหนือและต่ออิหร่าน
สำหรับ Gingrich ก็ได้โจมตีรัฐบาล Obama ว่า ปล่อยปละละเลย และไม่ได้มีมาตรการป้องกันที่จะไม่ให้เกาหลีเหนือ ทดลองขีปนาวุธพิสัยไกล ในปี 2009
จีน
สำหรับในประเด็นนโยบายต่อจีนนั้น ก็เป็นประเด็นร้อนที่มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในตอนแรก Obama ประกาศจะปฏิสัมพันธ์กับจีน และต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน แต่ต่อมาความสัมพันธ์ก็เสื่อมลงไปเรื่อยๆ และความขัดแย้งก็เพิ่มมากขึ้น
สำหรับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันนั้น มองจีนเป็นลบมากกว่า Obama โดย Romney สนับสนุนการเพิ่มกำลังทางทหารของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกระชับความสัมพันธ์กับอินเดียและพันธมิตร รวมทั้งกดดันจีนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และในเรื่องนโยบายทางการค้า โดยเฉพาะในเรื่องค่าเงินหยวน Romney ได้โจมตีจีนอย่างรุนแรง ในเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว Romney ประกาศว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี จะผลักดันกฎหมายที่ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า currency manipulator
สำหรับ Santorum มองว่า จีนเป็นเหมือนพายุที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยเขาอยากเห็นสหรัฐฯใช้มาตรการไม้แข็งต่อจีน และต้องการให้สหรัฐฯแข็งแกร่งมากขึ้นในเวทีโลก เพื่อแข่งและประสบชัยชนะต่อการท้าทายจากจีน
สหประชาชาติ
อีกเรื่องที่ผมอยากจะวิเคราะห์ เกี่ยวกับความแตกต่างของนโยบายต่างประเทศของผู้สมัครประธานาธิบดี คือ แนวนโยบายต่อสหประชาชาติ หรือ UN
โดย Obama มีแนวนโยบายที่สนับสนุน UN มาโดยตลอด ในสุนทรพจน์ที่กล่าวในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Obama ได้กล่าวถึง UN ในด้านดี โดยเฉพาะด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และการรักษาสันติภาพ
อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ทั้ง 3 คน มีแนวนโยบายต่อต้าน UN โดย Romney ได้วิพากษ์วิจารณ์ UN มาโดยตลอด ได้กล่าวว่า UN ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และได้เสนอให้สหรัฐฯลาออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN
ส่วน Gingrich ก็ได้ผลักดันการปฏิรูป UN ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Gingrich ได้เสนอให้สหรัฐฯยุติการให้ความช่วยเหลือ UN ซึ่งคิดเป็นเงิน 7.6 พันล้านเหรียญต่อปี
สำหรับ Ron Paul ซึ่งผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันอีกคนหนึ่ง ก็มีแนวนโยบายต่อต้าน UN อย่างสุดโต่ง โดยมองว่า UN เป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ และได้เรียกร้องให้สหรัฐฯลาออกจาก UN
ผลกระทบต่อโลก
จากที่ได้วิเคราะห์มาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างแนวนโยบายต่างประเทศของ Obama กับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน โดย Obama ยังคงมีแนวนโยบายในแนวเสรีนิยม สายพิราบ และต้องการใช้ไม้อ่อน ในขณะที่ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันเกือบทั้งหมด มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยม สายเหยี่ยว และต้องการใช้ไม้แข็งเป็นหลัก
ดังนั้น ก็คงจะพอคาดการณ์ได้ว่า หากผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันได้เป็นประธานาธิบดี นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯจะมีความแข็งกร้าวมากขึ้น อาจจะกลับไปคล้ายๆกับนโยบายในสมัยรัฐบาล Bush ซึ่งก้าวร้าวมาก ดังนั้น ผลกระทบต่อโลก ก็คือ จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนและความวุ่นวายขึ้นในโลกอีกยุคสมัยหนึ่ง เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล Bush
แต่หาก Obama ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีต่อ แนวนโยบายของสหรัฐฯก็คงจะเหมือนเดิม และคงจะมีความต่อเนื่อง แม้ว่า อาจจะไม่มีอะไรดีขึ้นมาก แต่ก็คงจะไม่กลับไปวุ่นวายเหมือนกับในสมัยรัฐบาล Bush
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2555
ในช่วงปลายปีนี้ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ขณะนี้ การรณรงค์หาเสียง เริ่มเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในฟากของรีพับลิกัน ซึ่งกำลังมีการขับเคี่ยวกันอย่างหนัก เพื่อเลือกตัวแทนพรรคมาแข่งกับประธานาธิบดี Obama จากพรรคเดโมแครต ซึ่ง Obama ได้ประกาศตัวแล้วว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีก 1 สมัย ประเด็นที่ชาวโลกสนใจ คือ การเลือกตั้งสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร ซึ่งก็คงจะต้องมาวิเคราะห์ถึงแนวนโยบายต่างประเทศของผู้สมัครแต่ละคนว่า แตกต่างกันอย่างไร คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ จะวิเคราะห์แนวนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างกันในเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่อง คือ
อิหร่าน
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านกำลังเป็นประเด็นร้อนที่สุดสำหรับนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯในขณะนี้ ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ถึงการป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ที่ผ่านมา Obama ใช้มาตรการคว่ำบาตรในการกดดันอิหร่าน แต่ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันหลายคน นอกจากจะสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรแล้ว ยังสนับสนุนการใช้กำลังทางทหารโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย
สำหรับประธานาธิบดี Obama นั้น ในตอนเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือในช่วงต้นปี 2009 ได้เคยประกาศต่อผู้นำอิหร่านว่า สหรัฐฯต้องการปฏิสัมพันธ์และเจรจากับอิหร่านอย่างจริงใจ แต่ในที่สุดความพยายามของ Obama ก็ล้มเหลว อิหร่านปฏิเสธที่จะเจรจากับสหรัฐฯ และเดินหน้าที่จะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ต่อ ซึ่งทำให้รัฐบาล Obama ต้องปรับนโยบายใหม่ โดยเน้นมาตรการคว่ำบาตร และใช้ไม้แข็งเพิ่มขึ้น ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว IAEA ได้ประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาล Obama จึงได้เพิ่มแรงกดดันอิหร่านมากขึ้น แต่ Obama ก็ยังคงเน้นเครื่องมือทางการทูตในการกดดันอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ในฟากพรรครีพับลิกัน ซึ่งขณะนี้ มีตัวเต็งอยู่ 4 คน ที่เป็นตัวเต็งอันดับ 1 คือ Mitt Romney รองลงมาคือ Newt Gingrich, Rick Santorum และ Ron Paul
สำหรับท่าทีของ Romney นั้น ได้ประกาศว่า สหรัฐฯยอมรับไม่ได้ที่จะให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ และจะใช้เครื่องมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การทูต และเครื่องมือทางทหาร ในการป้องปรามอิหร่าน Romney ถึงกับประกาศกร้าวว่า ถ้าชาวอเมริกันเลือก Obama มาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย อิหร่านก็จะมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ถ้าหากเลือกเขาเป็นประธานาธิบดี อิหร่านก็จะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ Romney ยังได้ประกาศจะสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพื่อโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน
สำหรับ Gingrich ซึ่งเป็นอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็สนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน การลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่าน รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้กำลังทางทหาร โดยเฉพาะในกรณีถ้าอิหร่านกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯก็จำเป็นที่จะต้องใช้กำลังทางทหาร Gingrich เน้นการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน โดยจะให้มีกองทุนสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ตัดเส้นทางการส่งน้ำมัน และทำสงครามเศรษฐกิจ เพื่อบีบให้รัฐบาลอิหร่านล่มสลาย
สำหรับ Santorum มีแนวนโยบายสายเหยี่ยวมากที่สุด โดยเสนอให้สหรัฐฯร่วมกับอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยบอกว่า อิสราเอลเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ในอิรักและซีเรีย นอกจากนี้ Santorum ยังประกาศกร้าวว่า นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน ถือได้ว่าเป็นศัตรูของสหรัฐฯ เปรียบเสมือนสมาชิก al-Qaeda และนักรบ Taliban จึงเข้าข่ายที่จะเป็นเป้าในการลอบสังหารได้
เกาหลีเหนือ
สำหรับในกรณี วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือนั้น ในตอนแรก Obama ประกาศจะปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือก็ไม่ตอบสนอง และยังคงเดินหน้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงกลางปี 2009 หลังจากนั้น Obama จึงต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ได้ผล
สำหรับในฟากรีพับลิกัน ส่วนใหญ่เป็นสายเหยี่ยวเกือบทั้งหมด โดย Romney มองว่าเกาหลีเหนือเป็นรัฐอันธพาล เช่นเดียวกับอิหร่าน จึงเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง และได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล Obama ว่า มีนโยบายที่อ่อนแอ ทั้งต่อเกาหลีเหนือและต่ออิหร่าน
สำหรับ Gingrich ก็ได้โจมตีรัฐบาล Obama ว่า ปล่อยปละละเลย และไม่ได้มีมาตรการป้องกันที่จะไม่ให้เกาหลีเหนือ ทดลองขีปนาวุธพิสัยไกล ในปี 2009
จีน
สำหรับในประเด็นนโยบายต่อจีนนั้น ก็เป็นประเด็นร้อนที่มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในตอนแรก Obama ประกาศจะปฏิสัมพันธ์กับจีน และต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน แต่ต่อมาความสัมพันธ์ก็เสื่อมลงไปเรื่อยๆ และความขัดแย้งก็เพิ่มมากขึ้น
สำหรับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันนั้น มองจีนเป็นลบมากกว่า Obama โดย Romney สนับสนุนการเพิ่มกำลังทางทหารของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกระชับความสัมพันธ์กับอินเดียและพันธมิตร รวมทั้งกดดันจีนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และในเรื่องนโยบายทางการค้า โดยเฉพาะในเรื่องค่าเงินหยวน Romney ได้โจมตีจีนอย่างรุนแรง ในเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว Romney ประกาศว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี จะผลักดันกฎหมายที่ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า currency manipulator
สำหรับ Santorum มองว่า จีนเป็นเหมือนพายุที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยเขาอยากเห็นสหรัฐฯใช้มาตรการไม้แข็งต่อจีน และต้องการให้สหรัฐฯแข็งแกร่งมากขึ้นในเวทีโลก เพื่อแข่งและประสบชัยชนะต่อการท้าทายจากจีน
สหประชาชาติ
อีกเรื่องที่ผมอยากจะวิเคราะห์ เกี่ยวกับความแตกต่างของนโยบายต่างประเทศของผู้สมัครประธานาธิบดี คือ แนวนโยบายต่อสหประชาชาติ หรือ UN
โดย Obama มีแนวนโยบายที่สนับสนุน UN มาโดยตลอด ในสุนทรพจน์ที่กล่าวในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Obama ได้กล่าวถึง UN ในด้านดี โดยเฉพาะด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และการรักษาสันติภาพ
อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ทั้ง 3 คน มีแนวนโยบายต่อต้าน UN โดย Romney ได้วิพากษ์วิจารณ์ UN มาโดยตลอด ได้กล่าวว่า UN ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และได้เสนอให้สหรัฐฯลาออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN
ส่วน Gingrich ก็ได้ผลักดันการปฏิรูป UN ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Gingrich ได้เสนอให้สหรัฐฯยุติการให้ความช่วยเหลือ UN ซึ่งคิดเป็นเงิน 7.6 พันล้านเหรียญต่อปี
สำหรับ Ron Paul ซึ่งผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันอีกคนหนึ่ง ก็มีแนวนโยบายต่อต้าน UN อย่างสุดโต่ง โดยมองว่า UN เป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ และได้เรียกร้องให้สหรัฐฯลาออกจาก UN
ผลกระทบต่อโลก
จากที่ได้วิเคราะห์มาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างแนวนโยบายต่างประเทศของ Obama กับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน โดย Obama ยังคงมีแนวนโยบายในแนวเสรีนิยม สายพิราบ และต้องการใช้ไม้อ่อน ในขณะที่ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันเกือบทั้งหมด มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยม สายเหยี่ยว และต้องการใช้ไม้แข็งเป็นหลัก
ดังนั้น ก็คงจะพอคาดการณ์ได้ว่า หากผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันได้เป็นประธานาธิบดี นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯจะมีความแข็งกร้าวมากขึ้น อาจจะกลับไปคล้ายๆกับนโยบายในสมัยรัฐบาล Bush ซึ่งก้าวร้าวมาก ดังนั้น ผลกระทบต่อโลก ก็คือ จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนและความวุ่นวายขึ้นในโลกอีกยุคสมัยหนึ่ง เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล Bush
แต่หาก Obama ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีต่อ แนวนโยบายของสหรัฐฯก็คงจะเหมือนเดิม และคงจะมีความต่อเนื่อง แม้ว่า อาจจะไม่มีอะไรดีขึ้นมาก แต่ก็คงจะไม่กลับไปวุ่นวายเหมือนกับในสมัยรัฐบาล Bush
ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2011-2012
ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2011-2012
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม – วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555
ภาพรวม
ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯยังคงเดินหน้าดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง โดยวาระซ่อนเร้นที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ยุทธศาสตร์สหรัฐฯมีความหลากหลาย ทั้งผ่านช่องทางทวิภาคีและพหุภาคี และมีทั้งมิติทางด้านทหารและทางเศรษฐกิจ อาทิ การผลักดัน FTA ในกรอบ TPP การส่งกองกำลังทหารมาประจำที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย การดำเนินการทูตในเชิงรุกกับพม่า และการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับพันธมิตร โดยเฉพาะกับฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ในระหว่างการเยือนออสเตรเลียของ Obama ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Obama ได้ประกาศว่า สหรัฐฯกำลังจะปรับเปลี่ยนนโยบายทางทหารครั้งใหญ่ต่อเอเชีย โดยจะให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นลำดับสูงสุด และจะเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น และจะส่งทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ซึ่งอาจเป็นก้าวแรกของการจัดตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในอนาคต เมือง Darwin มีภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับทะเลจีนใต้มาก จะทำให้สหรัฐฯเคลื่อนย้ายกองกำลังเข้าสู่ทะเลจีนใต้ได้ง่ายขึ้น
East Asia Summit หรือ EAS
เวทีพหุภาคีที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ East Asia Summit หรือ EAS Obama ได้เข้าร่วมประชุม EAS ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้เน้นการที่สหรัฐฯจะเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งสถาปัตยกรรมในภูมิภาค สหรัฐฯเน้นว่า เอเปคเป็นกลไกหารือทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ที่ขาดอยู่ คือ กลไกทางด้านความมั่นคง ซึ่งสหรัฐฯต้องการผลักดันให้ EAS เป็นกลไกหารือทางด้านนี้
จุดเริ่มต้นของการผลักดัน คือ การที่ Obama หยิบยกเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ขึ้นหารือในการประชุม EAS มี 16 ประเทศที่ได้พูดถึงเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ในเวที EAS โดยสหรัฐฯได้เน้นว่า สหรัฐฯเป็นประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก และสหรัฐฯเป็นผู้ให้หลักประกันความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องมีส่วนได้ส่วนเสียในความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะในการแก้ไขความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และเน้นว่า จะต้องใช้กฎหมายทะเลเป็นพื้นฐานสำคัญของการเจรจา และจะต้องมีการจัดทำ Code of conduct เพื่อแก้ไขปัญหาด้วย
ผมมองว่า การที่สหรัฐฯเข้ามาเป็นสมาชิก EAS ก็เพื่อต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียตะวันออกรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนด้วย นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯเข้ามายุ่งกับปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ และยุแหย่ให้จีนกับประเทศอาเซียนทะเลาะกัน ก็เป็นเป้าหมายเพื่อเปิดช่องให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาททางทหารในภูมิภาค และเพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร
ฟิลิปปินส์
ในปี 2011 และต่อเนื่องถึงปี 2012 สหรัฐฯยังคงเดินหน้าตอกย้ำยุทธศาสตร์ hub and spokes ต่อไป โดยเน้นความสัมพันธ์ทวิภาคีทางทหารกับพันธมิตร
สำหรับพันธมิตรที่สหรัฐฯให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงปีที่ผ่านมา คือ ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯมองว่า ฟิลิปปินส์ยังมีสมรรถนะภาพทางทหารที่อ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากจีนในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯจึงพยายามที่จะเข้ามาช่วยพัฒนากองทัพฟิลิปปินส์ให้เข้มแข็ง
ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Clinton ได้เดินทางมาเยือนฟิลิปปินส์ และหารือถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ โดยได้มีการลงนามในปฏิญญามะนิลา หรือ Manila Declaration ซึ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง
อินโดนีเซีย
อีกประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ อินโดนีเซีย โดย Obama ได้เดินทางไปเยือนอินโดนีเซียมาแล้ว 2 ครั้ง และสหรัฐฯได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลืออินโดนีเซียในการพัฒนาสมรรถนะภาพทางทหาร โดยเฉพาะขีดความสามารถของกองทัพอากาศและกองทัพเรือ โดยจะเน้นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับอินโดนีเซีย ในการปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือ โดยเฉพาะในเขตทะเลจีนใต้
พม่า
อีกประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก คือ พม่า ในอดีต ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อพม่า คือ การโดดเดี่ยวและการคว่ำบาตร แต่พอมาถึงรัฐบาล Obama ก็ได้ข้อสรุปว่า ยุทธศาสตร์ที่ดำเนินมากว่า 20 ปี นั้นล้มเหลว โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไม่ได้ทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่กลับทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียน และยังทำให้จีนเข้าครอบงำพม่าอีกด้วย
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือ การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 ซึ่งทำให้สหรัฐฯเปลี่ยนนโยบายต่อพม่าใหม่ โดยเริ่มปฏิสัมพันธ์ด้วยการส่งผู้แทนพิเศษของ Obama คือ Derek Mitchell เงื่อนไขของสหรัฐฯ คือ รัฐบาลพม่าจะต้องปล่อยนักโทษทางการเมือง 2,000 คน ต้องมีการปรองดองกับฝ่ายค้านและชนกลุ่มน้อย ต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลง UN เรื่องการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดย Mitchell ได้เดินทางไปเยือนพม่า 3 ครั้ง และได้ประกาศว่า ได้มีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในพม่า หลังจากนั้น Clinton ก็ได้เดินทางไปเยือนพม่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นการเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯดำเนินยุทธศาสตร์การทูตในเชิงรุกต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2010 เรื่อยมาจนถึงปี 2011 และในปี 2012 เราก็คงจะต้องจับตามองกันต่อว่า สหรัฐฯจะมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคอย่างไรต่อไป
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม – วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555
ภาพรวม
ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯยังคงเดินหน้าดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง โดยวาระซ่อนเร้นที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ยุทธศาสตร์สหรัฐฯมีความหลากหลาย ทั้งผ่านช่องทางทวิภาคีและพหุภาคี และมีทั้งมิติทางด้านทหารและทางเศรษฐกิจ อาทิ การผลักดัน FTA ในกรอบ TPP การส่งกองกำลังทหารมาประจำที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย การดำเนินการทูตในเชิงรุกกับพม่า และการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับพันธมิตร โดยเฉพาะกับฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ในระหว่างการเยือนออสเตรเลียของ Obama ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Obama ได้ประกาศว่า สหรัฐฯกำลังจะปรับเปลี่ยนนโยบายทางทหารครั้งใหญ่ต่อเอเชีย โดยจะให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นลำดับสูงสุด และจะเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น และจะส่งทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ซึ่งอาจเป็นก้าวแรกของการจัดตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในอนาคต เมือง Darwin มีภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับทะเลจีนใต้มาก จะทำให้สหรัฐฯเคลื่อนย้ายกองกำลังเข้าสู่ทะเลจีนใต้ได้ง่ายขึ้น
East Asia Summit หรือ EAS
เวทีพหุภาคีที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ East Asia Summit หรือ EAS Obama ได้เข้าร่วมประชุม EAS ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้เน้นการที่สหรัฐฯจะเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งสถาปัตยกรรมในภูมิภาค สหรัฐฯเน้นว่า เอเปคเป็นกลไกหารือทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ที่ขาดอยู่ คือ กลไกทางด้านความมั่นคง ซึ่งสหรัฐฯต้องการผลักดันให้ EAS เป็นกลไกหารือทางด้านนี้
จุดเริ่มต้นของการผลักดัน คือ การที่ Obama หยิบยกเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ขึ้นหารือในการประชุม EAS มี 16 ประเทศที่ได้พูดถึงเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ในเวที EAS โดยสหรัฐฯได้เน้นว่า สหรัฐฯเป็นประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก และสหรัฐฯเป็นผู้ให้หลักประกันความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องมีส่วนได้ส่วนเสียในความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะในการแก้ไขความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และเน้นว่า จะต้องใช้กฎหมายทะเลเป็นพื้นฐานสำคัญของการเจรจา และจะต้องมีการจัดทำ Code of conduct เพื่อแก้ไขปัญหาด้วย
ผมมองว่า การที่สหรัฐฯเข้ามาเป็นสมาชิก EAS ก็เพื่อต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียตะวันออกรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนด้วย นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯเข้ามายุ่งกับปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ และยุแหย่ให้จีนกับประเทศอาเซียนทะเลาะกัน ก็เป็นเป้าหมายเพื่อเปิดช่องให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาททางทหารในภูมิภาค และเพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร
ฟิลิปปินส์
ในปี 2011 และต่อเนื่องถึงปี 2012 สหรัฐฯยังคงเดินหน้าตอกย้ำยุทธศาสตร์ hub and spokes ต่อไป โดยเน้นความสัมพันธ์ทวิภาคีทางทหารกับพันธมิตร
สำหรับพันธมิตรที่สหรัฐฯให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงปีที่ผ่านมา คือ ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯมองว่า ฟิลิปปินส์ยังมีสมรรถนะภาพทางทหารที่อ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากจีนในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯจึงพยายามที่จะเข้ามาช่วยพัฒนากองทัพฟิลิปปินส์ให้เข้มแข็ง
ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Clinton ได้เดินทางมาเยือนฟิลิปปินส์ และหารือถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ โดยได้มีการลงนามในปฏิญญามะนิลา หรือ Manila Declaration ซึ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง
อินโดนีเซีย
อีกประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ อินโดนีเซีย โดย Obama ได้เดินทางไปเยือนอินโดนีเซียมาแล้ว 2 ครั้ง และสหรัฐฯได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลืออินโดนีเซียในการพัฒนาสมรรถนะภาพทางทหาร โดยเฉพาะขีดความสามารถของกองทัพอากาศและกองทัพเรือ โดยจะเน้นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับอินโดนีเซีย ในการปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือ โดยเฉพาะในเขตทะเลจีนใต้
พม่า
อีกประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก คือ พม่า ในอดีต ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อพม่า คือ การโดดเดี่ยวและการคว่ำบาตร แต่พอมาถึงรัฐบาล Obama ก็ได้ข้อสรุปว่า ยุทธศาสตร์ที่ดำเนินมากว่า 20 ปี นั้นล้มเหลว โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไม่ได้ทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่กลับทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียน และยังทำให้จีนเข้าครอบงำพม่าอีกด้วย
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือ การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 ซึ่งทำให้สหรัฐฯเปลี่ยนนโยบายต่อพม่าใหม่ โดยเริ่มปฏิสัมพันธ์ด้วยการส่งผู้แทนพิเศษของ Obama คือ Derek Mitchell เงื่อนไขของสหรัฐฯ คือ รัฐบาลพม่าจะต้องปล่อยนักโทษทางการเมือง 2,000 คน ต้องมีการปรองดองกับฝ่ายค้านและชนกลุ่มน้อย ต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลง UN เรื่องการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดย Mitchell ได้เดินทางไปเยือนพม่า 3 ครั้ง และได้ประกาศว่า ได้มีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในพม่า หลังจากนั้น Clinton ก็ได้เดินทางไปเยือนพม่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นการเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯดำเนินยุทธศาสตร์การทูตในเชิงรุกต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2010 เรื่อยมาจนถึงปี 2011 และในปี 2012 เราก็คงจะต้องจับตามองกันต่อว่า สหรัฐฯจะมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคอย่างไรต่อไป
จีนมองอาเซียน ปี 2011-2012
จีนมองอาเซียน ปี 2011-2012
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
22 มกราคม 2555
คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เกี่ยวกับท่าทีของจีนต่ออาเซียน และต่อมหาอำนาจในภูมิภาค ซึ่งจะแบ่งเป็นหัวข้อได้ ดังนี้
อาเซียน-จีน
ในช่วงปีที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก โดยเน้นปฏิสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์ โดยได้มีการเยือนประเทศอาเซียนหลายประเทศจากผู้นำระดับสูงของจีนหลายครั้ง
สำหรับในกรอบของความสัมพันธ์จีนกับองค์กรอาเซียน ในช่วงปลายปีที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ที่อินโดนีเซีย และในเดือนตุลาคม ได้มีการจัด China-ASEAN Business and Investment Summit ครั้งที่ 8 ที่เมืองหนานหนิง ในขณะนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 4 ของจีน การค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ในปี 2011 สำหรับในด้านการลงทุน ปีที่แล้ว อาเซียนลงทุนในจีน มีมูลค่า 67,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่จีน ลงทุนในอาเซียน มูลค่า 13,500 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม EAS ที่อินโดนีเซีย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จีนต้องตกเป็นฝ่ายรับ เมื่อปัญหาในทะเลจีนใต้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมดังกล่าว
แต่การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ในเดือนพฤศจิกายน จีนก็ได้กระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับอาเซียน โดยจีนได้ประกาศวงเงินกู้สำหรับอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านเหรียญ จากที่เคยประกาศให้กู้ไปแล้ว 15,000 ล้านเหรียญ
แต่จีนก็ได้แสดงความไม่พอใจ เมื่อเวียดนามได้ลงนามกับอินเดีย ในโครงการร่วมขุดเจาะน้ำมันในเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นของตน โดยจีนมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและอินเดียเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขัดแย้งกับจีนในกรณีทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเวียดนามกับฟิลิปปินส์ ได้พยายามดึงเอามหาอำนาจอื่นเข้ามาวุ่นวายกับปัญหานี้ เพื่อถ่วงดุลจีน สื่อของจีนได้วิเคราะห์ว่า มีความเคลื่อนไหวหลายเรื่อง ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของจีนในเรื่องนี้ อาทิ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับอินเดีย การที่ญี่ปุ่นกระชับความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ และโดยเฉพาะยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯในการกระชับความสัมพันธ์กับเวียดนามและกับฟิลิปปินส์
สำหรับในกรณีของฟิลิปปินส์ หนังสือพิมพ์ China Daily ได้กล่าวโจมตีการเสริมสร้างสมรรถนะภาพของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ โดยได้กล่าวหาว่า การที่สหรัฐฯได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหานี้ ก็เพื่อที่จะปิดล้อมจีน และป้องกันไม่ให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่นในภูมิภาค โดย Hillary Clinton ได้เดินทางไปเยือนฟิลิปปินส์ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน และได้ลงนามในปฏิญญามะนิลา หรือ Manila Declaration กระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง
สหรัฐฯ
เห็นได้ชัดว่า จีนมองว่าสหรัฐฯคืออุปสรรคสำคัญในการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค สื่อของจีนได้โจมตีสหรัฐฯอย่างรุนแรงในหลายๆเรื่อง โดยโจมตีสหรัฐฯ ที่หยิบยกเรื่องทะเลจีนใต้ขึ้นหารือในระหว่างการประชุม EAS ที่บาหลี ทั้งๆที่จีนได้ยืนกรานว่า EAS ควรจะเน้นหารือความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ
สำหรับข้อเสนอ TPP ของสหรัฐฯนั้น จีนได้สงวนท่าทีมาโดยตลอด โดยจีนได้วิเคราะห์ว่า หากญี่ปุ่น และประเทศอาเซียน คือ เวียดนาม และมาเลเซีย ตัดสินใจที่จะเข้าร่วม TPP ผลก็คือ จะเป็นการโดดเดี่ยวจีน
นอกจากนี้ การเยือนพม่าของ Hillary Clinton ในเดือนธันวาคม นักวิเคราะห์จีนได้มองว่า จะทำให้อิทธิพลของจีนในพม่าลดลง นอกจากนี้ การที่พม่าตัดสินใจ ในเดือนกันยายน ที่จะระงับการก่อสร้างเขื่อน ที่เมือง Myitsone ซึ่งจีนตั้งใจว่าจะลงทุนสร้างให้กับพม่า ทำให้นักวิเคราะห์จีนมองว่า ผู้นำพม่ากำลังเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจ โดยพยายามลดความสัมพันธ์กับจีนลง และพยายามเพิ่มความสัมพันธ์กับตะวันตก สหรัฐฯ อินเดีย และประเทศอาเซียน เพื่อมาถ่วงดุลจีน บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Global Times ของจีน ได้วิเคราะห์ว่า กรณีการระงับการสร้างเขื่อนดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า พม่ากำลังต้องการใกล้ชิดกับตะวันตก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีน นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จีนยังมองว่า การเยือนพม่าของ Clinton วาระซ่อนเร้น ก็คือ การต้องการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีนนั่นเอง
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จีนยังมองว่า การที่ออสเตรเลียยอมให้สหรัฐฯส่งทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลียนั้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐฯในการปิดล้อมจีนทางทหาร โดยนอกจากออสเตรเลียแล้ว สหรัฐฯก็กำลังกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร ทั้งกับฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ชัดว่า แนวโน้มที่จีนมองมาที่อาเซียนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะการมองสหรัฐฯนั้น เป็นการมองในแง่ลบเป็นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯน่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
22 มกราคม 2555
คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เกี่ยวกับท่าทีของจีนต่ออาเซียน และต่อมหาอำนาจในภูมิภาค ซึ่งจะแบ่งเป็นหัวข้อได้ ดังนี้
อาเซียน-จีน
ในช่วงปีที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก โดยเน้นปฏิสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์ โดยได้มีการเยือนประเทศอาเซียนหลายประเทศจากผู้นำระดับสูงของจีนหลายครั้ง
สำหรับในกรอบของความสัมพันธ์จีนกับองค์กรอาเซียน ในช่วงปลายปีที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ที่อินโดนีเซีย และในเดือนตุลาคม ได้มีการจัด China-ASEAN Business and Investment Summit ครั้งที่ 8 ที่เมืองหนานหนิง ในขณะนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 4 ของจีน การค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ในปี 2011 สำหรับในด้านการลงทุน ปีที่แล้ว อาเซียนลงทุนในจีน มีมูลค่า 67,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่จีน ลงทุนในอาเซียน มูลค่า 13,500 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม EAS ที่อินโดนีเซีย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จีนต้องตกเป็นฝ่ายรับ เมื่อปัญหาในทะเลจีนใต้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมดังกล่าว
แต่การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ในเดือนพฤศจิกายน จีนก็ได้กระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับอาเซียน โดยจีนได้ประกาศวงเงินกู้สำหรับอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านเหรียญ จากที่เคยประกาศให้กู้ไปแล้ว 15,000 ล้านเหรียญ
แต่จีนก็ได้แสดงความไม่พอใจ เมื่อเวียดนามได้ลงนามกับอินเดีย ในโครงการร่วมขุดเจาะน้ำมันในเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นของตน โดยจีนมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและอินเดียเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขัดแย้งกับจีนในกรณีทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเวียดนามกับฟิลิปปินส์ ได้พยายามดึงเอามหาอำนาจอื่นเข้ามาวุ่นวายกับปัญหานี้ เพื่อถ่วงดุลจีน สื่อของจีนได้วิเคราะห์ว่า มีความเคลื่อนไหวหลายเรื่อง ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของจีนในเรื่องนี้ อาทิ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับอินเดีย การที่ญี่ปุ่นกระชับความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ และโดยเฉพาะยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯในการกระชับความสัมพันธ์กับเวียดนามและกับฟิลิปปินส์
สำหรับในกรณีของฟิลิปปินส์ หนังสือพิมพ์ China Daily ได้กล่าวโจมตีการเสริมสร้างสมรรถนะภาพของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ โดยได้กล่าวหาว่า การที่สหรัฐฯได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหานี้ ก็เพื่อที่จะปิดล้อมจีน และป้องกันไม่ให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่นในภูมิภาค โดย Hillary Clinton ได้เดินทางไปเยือนฟิลิปปินส์ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน และได้ลงนามในปฏิญญามะนิลา หรือ Manila Declaration กระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง
สหรัฐฯ
เห็นได้ชัดว่า จีนมองว่าสหรัฐฯคืออุปสรรคสำคัญในการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค สื่อของจีนได้โจมตีสหรัฐฯอย่างรุนแรงในหลายๆเรื่อง โดยโจมตีสหรัฐฯ ที่หยิบยกเรื่องทะเลจีนใต้ขึ้นหารือในระหว่างการประชุม EAS ที่บาหลี ทั้งๆที่จีนได้ยืนกรานว่า EAS ควรจะเน้นหารือความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ
สำหรับข้อเสนอ TPP ของสหรัฐฯนั้น จีนได้สงวนท่าทีมาโดยตลอด โดยจีนได้วิเคราะห์ว่า หากญี่ปุ่น และประเทศอาเซียน คือ เวียดนาม และมาเลเซีย ตัดสินใจที่จะเข้าร่วม TPP ผลก็คือ จะเป็นการโดดเดี่ยวจีน
นอกจากนี้ การเยือนพม่าของ Hillary Clinton ในเดือนธันวาคม นักวิเคราะห์จีนได้มองว่า จะทำให้อิทธิพลของจีนในพม่าลดลง นอกจากนี้ การที่พม่าตัดสินใจ ในเดือนกันยายน ที่จะระงับการก่อสร้างเขื่อน ที่เมือง Myitsone ซึ่งจีนตั้งใจว่าจะลงทุนสร้างให้กับพม่า ทำให้นักวิเคราะห์จีนมองว่า ผู้นำพม่ากำลังเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจ โดยพยายามลดความสัมพันธ์กับจีนลง และพยายามเพิ่มความสัมพันธ์กับตะวันตก สหรัฐฯ อินเดีย และประเทศอาเซียน เพื่อมาถ่วงดุลจีน บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Global Times ของจีน ได้วิเคราะห์ว่า กรณีการระงับการสร้างเขื่อนดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า พม่ากำลังต้องการใกล้ชิดกับตะวันตก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีน นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จีนยังมองว่า การเยือนพม่าของ Clinton วาระซ่อนเร้น ก็คือ การต้องการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีนนั่นเอง
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จีนยังมองว่า การที่ออสเตรเลียยอมให้สหรัฐฯส่งทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลียนั้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐฯในการปิดล้อมจีนทางทหาร โดยนอกจากออสเตรเลียแล้ว สหรัฐฯก็กำลังกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร ทั้งกับฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ชัดว่า แนวโน้มที่จีนมองมาที่อาเซียนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะการมองสหรัฐฯนั้น เป็นการมองในแง่ลบเป็นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯน่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน 2012
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน 2012
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 – วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2555
ภูมิหลัง
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านยืดเยื้อมานานหลายปี โดยตะวันตกได้กล่าวหาอิหร่านมาตลอดว่า แอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านก็ปฏิเสธมาโดยตลอด
แต่เมื่อปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ IAEA ออกมาประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้สถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ตึงเครียดขึ้นมาก
และเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา IAEA ได้ยืนยันว่า อิหร่านกำลังเดินหน้าเสริมสร้างสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียมถึง 20% ในโรงงานนิวเคลียร์ใต้ดินใกล้เมือง Qom นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกวิเคราะห์ว่า หากอิหร่านสามารถเสริมสร้างสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียมได้ถึง 20% อิหร่านจะสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายใน 2-6 เดือน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯเพิ่งได้ประกาศกฎหมายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านล่าสุด โดยรวมถึงการคว่ำบาตรธนาคารกลางของอิหร่านด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่านเป็นอย่างมาก
สำหรับมาตรการตอบโต้ของอิหร่านนั้น ในช่วงต้นเดือนมกราคม อิหร่านได้ขู่ว่า จะปิดช่องแคบ Hormuz เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด อิหร่านตัดสินประหารชีวิตชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่าน ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นสายลับ CIA และต่อมา ได้มีการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอิหร่านก็กล่าวหาว่า น่าจะเป็นฝีมือของสหรัฐฯ หรืออิสราเอล
บทบาทของสหรัฐฯ
สำหรับในสหรัฐฯ เรื่องอิหร่านกลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก ในหมู่นักการเมือง ทั้งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครต โดยเฉพาะในปีนี้ เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันหลายคน ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันในเรื่องนโยบายต่ออิหร่าน โดยได้โจมตีประธานาธิบดี Obama ว่า ประสบความล้มเหลวในนโยบายต่ออิหร่าน และมีนโยบายที่อ่อนข้อให้อิหร่านมากเกินไป Mitt Romney ตัวเต็งอันดับ 1 ที่จะมาแข่งกับ Obama ประกาศกร้าวว่า อิหร่านคือภัยคุกคามอันดับ 1 ของสหรัฐฯ และโจมตี Obama ว่า ล้มเหลวที่จะเข้าใจถึงอันตรายดังกล่าว เช่นเดียวกับ Newt Gingrich ก็ได้กล่าวว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะดำเนินนโยบายในการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน
สำหรับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Obama ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน ในตอนแรก ได้ประกาศจะปฏิสัมพันธ์และเจรจากับอิหร่าน แต่อิหร่านก็ไม่เล่นด้วย ต่อมา Obama หันกลับมาใช้ไม้แข็งมากขึ้น ด้วยมาตรการคว่ำบาตรด้วยรูปแบบต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ผล อิหร่านยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อ
เมื่อเร็วๆนี้ รัฐมนตรีคลัง Timonthy Geithner ได้เดินทางไปจีนและญี่ปุ่น เพื่อให้ทั้ง 2 ประเทศ ลดหรือยุติการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน แต่ดูเหมือนกับว่า จีนคงไม่ยอมทำตามสหรัฐฯ เพราะอิหร่านเป็นแหล่งป้อนน้ำมันรายใหญ่ของจีน
ล่าสุด Obama ได้ประกาศเป็นนโยบายว่า สหรัฐฯกำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆอยู่ทุกทางเลือก ซึ่งรวมถึงทางเลือกในการใช้กำลังทางทหารต่ออิหร่านด้วย
ในขณะที่พรรครีพับลิกันโจมตี Obama ว่า ยอมอิหร่านมากเกินไป แต่นักวิจารณ์จากทางปีกซ้ายของพรรคเดโมแครต และพวกเสรีนิยม กลับกล่าวโจมตี Obama ว่า ข้อผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ของ Obama คือ Obama ยุติการปฏิสัมพันธ์กับอิหร่านเร็วเกินไป โดยได้โจมตี Obama ว่าล้มเหลว ที่ไม่ยอมรับข้อเสนอของบราซิลและตุรกี ที่พยายามเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเรื่องนี้ โดยกลุ่มนี้ มองว่า การทูตน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้
แนวโน้มสงคราม
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในขณะนี้ ที่หลายฝ่ายกำลังวิตกกังวล คือ สงครามระหว่างตะวันตกกับอิหร่าน โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯร่วมกับอิสราเอล ในการโจมตีอิหร่าน อาจจะเกิดขึ้น โดยหากวิเคราะห์สถานการณ์ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่า มีหลายเหตุการณ์ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ และอาจลุกลามไปถึงขั้นการใช้กำลังได้ โดย scenario ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ การที่สหรัฐฯหรืออิสราเอล ใช้เครื่องบินหรือขีปนาวุธโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน
แต่ก็มีหลายฝ่ายได้ออกมากล่าวเตือนถึงผลกระทบในทางลบ หากมีการใช้กำลังทางทหาร โดยเฉพาะสงครามอาจลุกลามบานปลาย อิหร่านอาจปิดช่องแคบ Hormuz และอาจโจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธ รวมทั้งสนับสนุนการก่อการร้าย
แต่สำหรับในมุมมองของอิหร่าน หนังสือพิมพ์ Tehran Times ได้วิเคราะห์ว่า ตะวันตกกำลังใช้เรื่องวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านมาเป็นข้ออ้างในการเปิดฉากสงครามครั้งใหม่ในภูมิภาค ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ต่ออิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคที่ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
สำหรับรัสเซียและจีน ก็ได้ออกมาต่อต้านแนวโน้มการใช้กำลังต่ออิหร่าน โดยหนังสือพิมพ์ Pravda ได้กล่าวเตือนสหรัฐฯว่า สหรัฐฯกำลังจะทำให้โลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งใหม่ ส่วนหนังสือพิมพ์ People’s Daily ของจีน ก็ได้มองว่า เป็นโอกาสของจีนที่จะได้เพิ่มอิทธิพลทางการทูตในภูมิภาค ด้วยการที่จีนจะต้องให้ความช่วยเหลือทางการทูตต่ออิหร่าน ทั้งนี้เพราะจีนไม่เห็นด้วยต่อการทำสงครามโจมตีอิหร่านของสหรัฐฯ
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 – วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2555
ภูมิหลัง
วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านยืดเยื้อมานานหลายปี โดยตะวันตกได้กล่าวหาอิหร่านมาตลอดว่า แอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านก็ปฏิเสธมาโดยตลอด
แต่เมื่อปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ IAEA ออกมาประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้สถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ตึงเครียดขึ้นมาก
และเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา IAEA ได้ยืนยันว่า อิหร่านกำลังเดินหน้าเสริมสร้างสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียมถึง 20% ในโรงงานนิวเคลียร์ใต้ดินใกล้เมือง Qom นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกวิเคราะห์ว่า หากอิหร่านสามารถเสริมสร้างสมรรถนะภาพแร่ยูเรเนียมได้ถึง 20% อิหร่านจะสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายใน 2-6 เดือน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯเพิ่งได้ประกาศกฎหมายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านล่าสุด โดยรวมถึงการคว่ำบาตรธนาคารกลางของอิหร่านด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่านเป็นอย่างมาก
สำหรับมาตรการตอบโต้ของอิหร่านนั้น ในช่วงต้นเดือนมกราคม อิหร่านได้ขู่ว่า จะปิดช่องแคบ Hormuz เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด อิหร่านตัดสินประหารชีวิตชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่าน ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นสายลับ CIA และต่อมา ได้มีการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอิหร่านก็กล่าวหาว่า น่าจะเป็นฝีมือของสหรัฐฯ หรืออิสราเอล
บทบาทของสหรัฐฯ
สำหรับในสหรัฐฯ เรื่องอิหร่านกลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก ในหมู่นักการเมือง ทั้งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครต โดยเฉพาะในปีนี้ เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันหลายคน ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันในเรื่องนโยบายต่ออิหร่าน โดยได้โจมตีประธานาธิบดี Obama ว่า ประสบความล้มเหลวในนโยบายต่ออิหร่าน และมีนโยบายที่อ่อนข้อให้อิหร่านมากเกินไป Mitt Romney ตัวเต็งอันดับ 1 ที่จะมาแข่งกับ Obama ประกาศกร้าวว่า อิหร่านคือภัยคุกคามอันดับ 1 ของสหรัฐฯ และโจมตี Obama ว่า ล้มเหลวที่จะเข้าใจถึงอันตรายดังกล่าว เช่นเดียวกับ Newt Gingrich ก็ได้กล่าวว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะดำเนินนโยบายในการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน
สำหรับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Obama ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน ในตอนแรก ได้ประกาศจะปฏิสัมพันธ์และเจรจากับอิหร่าน แต่อิหร่านก็ไม่เล่นด้วย ต่อมา Obama หันกลับมาใช้ไม้แข็งมากขึ้น ด้วยมาตรการคว่ำบาตรด้วยรูปแบบต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ผล อิหร่านยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อ
เมื่อเร็วๆนี้ รัฐมนตรีคลัง Timonthy Geithner ได้เดินทางไปจีนและญี่ปุ่น เพื่อให้ทั้ง 2 ประเทศ ลดหรือยุติการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน แต่ดูเหมือนกับว่า จีนคงไม่ยอมทำตามสหรัฐฯ เพราะอิหร่านเป็นแหล่งป้อนน้ำมันรายใหญ่ของจีน
ล่าสุด Obama ได้ประกาศเป็นนโยบายว่า สหรัฐฯกำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆอยู่ทุกทางเลือก ซึ่งรวมถึงทางเลือกในการใช้กำลังทางทหารต่ออิหร่านด้วย
ในขณะที่พรรครีพับลิกันโจมตี Obama ว่า ยอมอิหร่านมากเกินไป แต่นักวิจารณ์จากทางปีกซ้ายของพรรคเดโมแครต และพวกเสรีนิยม กลับกล่าวโจมตี Obama ว่า ข้อผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ของ Obama คือ Obama ยุติการปฏิสัมพันธ์กับอิหร่านเร็วเกินไป โดยได้โจมตี Obama ว่าล้มเหลว ที่ไม่ยอมรับข้อเสนอของบราซิลและตุรกี ที่พยายามเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเรื่องนี้ โดยกลุ่มนี้ มองว่า การทูตน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้
แนวโน้มสงคราม
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในขณะนี้ ที่หลายฝ่ายกำลังวิตกกังวล คือ สงครามระหว่างตะวันตกกับอิหร่าน โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯร่วมกับอิสราเอล ในการโจมตีอิหร่าน อาจจะเกิดขึ้น โดยหากวิเคราะห์สถานการณ์ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่า มีหลายเหตุการณ์ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ และอาจลุกลามไปถึงขั้นการใช้กำลังได้ โดย scenario ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ การที่สหรัฐฯหรืออิสราเอล ใช้เครื่องบินหรือขีปนาวุธโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน
แต่ก็มีหลายฝ่ายได้ออกมากล่าวเตือนถึงผลกระทบในทางลบ หากมีการใช้กำลังทางทหาร โดยเฉพาะสงครามอาจลุกลามบานปลาย อิหร่านอาจปิดช่องแคบ Hormuz และอาจโจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธ รวมทั้งสนับสนุนการก่อการร้าย
แต่สำหรับในมุมมองของอิหร่าน หนังสือพิมพ์ Tehran Times ได้วิเคราะห์ว่า ตะวันตกกำลังใช้เรื่องวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านมาเป็นข้ออ้างในการเปิดฉากสงครามครั้งใหม่ในภูมิภาค ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ต่ออิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคที่ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
สำหรับรัสเซียและจีน ก็ได้ออกมาต่อต้านแนวโน้มการใช้กำลังต่ออิหร่าน โดยหนังสือพิมพ์ Pravda ได้กล่าวเตือนสหรัฐฯว่า สหรัฐฯกำลังจะทำให้โลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งใหม่ ส่วนหนังสือพิมพ์ People’s Daily ของจีน ก็ได้มองว่า เป็นโอกาสของจีนที่จะได้เพิ่มอิทธิพลทางการทูตในภูมิภาค ด้วยการที่จีนจะต้องให้ความช่วยเหลือทางการทูตต่ออิหร่าน ทั้งนี้เพราะจีนไม่เห็นด้วยต่อการทำสงครามโจมตีอิหร่านของสหรัฐฯ
ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐฯ ปี 2012
ยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐฯ ปี 2012
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
15 มกราคม 2555
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เผยแพร่เอกสารยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯล่าสุด ซึ่งเอกสารมีชื่อว่า “Sustaining U.S. Global Leadership : Priorities for 21st Century Defense” คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์เอกสารดังกล่าว ดังนี้
ภาพรวม
สภาวะแวดล้อมทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งข้อจำกัดทางด้านการเงิน ทำให้ต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของสหรัฐฯใหม่ โดยเปลี่ยนจากการเน้นความพร้อมในการทำสงครามในปัจจุบัน ไปเป็นการเตรียมการสำหรับสิ่งท้าทายในอนาคต และเน้นการปฏิรูป และข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ทำให้ต้องมีการตัดลดงบประมาณด้านการป้องกันประเทศลง และทำให้สหรัฐฯจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของภัยคุกคาม และภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ
การก่อการร้าย
การก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของสหรัฐฯ แม้ว่าในปีที่แล้ว จะได้สังหาร Osama Bin Laden ได้ และมีการจับกุมและสังหารผู้นำ al-Qaeda เป็นจำนวนมาก ทำให้ al-Qaeda อ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม กลุ่ม al-Qaeda และองค์กรสาขาแนวร่วมต่างๆ ยังคงมีบทบาทสำคัญในปากีสถาน อัฟกานิสถาน เยเมน และโซมาเลีย ดังนั้น ความรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้ายจะยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯและพันธมิตร โดยภัยคุกคารมที่สำคัญจะอยู่ที่เอเชียใต้และตะวันออกกลาง และด้วยการแพร่กระจายของเทคโนโลยีอาวุธร้ายแรง จะทำให้กลุ่มก่อการร้ายมีศักยภาพที่จะโจมตีสหรัฐฯด้วยอาวุธร้ายแรงในอนาคต
ดังนั้น ยุทธศาสตร์สหรัฐฯในอนาคต คือ การเฝ้าระวังและติดตามภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ร่วมมือกับพันธมิตร และโจมตีกลุ่มก่อการร้ายโดยตรง
เอเชีย
สำหรับในแง่ของภูมิภาค เอเชียได้กลายเป็นภูมิภาคที่มีลำดับความสำคัญที่สุดต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯจะปรับเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยความสัมพันธ์กับพันธมิตรและหุ้นส่วนมีความสำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาค นอกจากนี้ สหรัฐฯจะขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหุ้นส่วนใหม่ๆทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะกับอินเดีย สหรัฐฯก็กำลังจะปรับความสัมพันธ์ให้เป็นลักษณะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในอนาคต
การดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ การค้าเสรี และอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาค ขึ้นอยู่กับการถ่วงดุลอำนาจทางทหารในภูมิภาค ในระยะยาว การผงาดขึ้นมาของจีนเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค จะกระทบต่อผลประโยชน์ ทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การเพิ่มขึ้นของอำนาจทางทหารของจีน หากไม่มีความชัดเจนในแง่ของเป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์ ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคได้ สหรัฐฯจึงจะต้องเพิ่มบทบาททางทหาร เพื่อปกป้องการเข้าถึงภูมิภาคและการปฏิบัติการอย่างเสรี เพื่อธำรงไว้ซึ่งพันธกรณีกับพันธมิตร และรักษากฎหมายระหว่างประเทศ
ผมมองว่า ยุทธศาตร์ทหารของสหรัฐฯในอนาคต จะให้ความสำคัญต่อเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยสำคัญ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน สหรัฐฯมองว่า จีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง และท้าทายความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย หรือ the rise of Asia ก็จะทำให้เอเชียเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งสหรัฐฯก็จะต้องใช้กำลังทางทหารในการปกป้องผลประโยชน์ ทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาคของตนไว้
ตะวันออกกลาง
สำหรับภูมิภาคที่มีความสำคัญรองลงมาจากเอเชีย คือ ตะวันออกกลาง ยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง จะเน้นการต่อต้านการก่อการร้าย และป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรงและขีปนาวุธ ยุทธศาสตร์สหรัฐฯจะเน้นป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ปกป้องความมั่นคงของอิสราเอล และหาหนทางสร้างสันติภาพที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จในตะวันออกกลาง การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น สหรัฐฯจะต้องคงกองกำลังทหารในภูมิภาคต่อไป รวมทั้งสนับสนุนพันธมิตรในภูมิภาค
กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ทหารใหม่ของสหรัฐฯในปี 2012 ยังคงให้ความสำคัญกับการก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ในแง่ของภูมิภาค เอเชียมีความสำคัญมากที่สุด รองลงมา คือ ตะวันออกกลาง ส่วนภูมิภาคอื่นๆมีความสำคัญลดลง โดยเฉพาะ ยุโรป อัฟริกา และลาตินอเมริกา
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
15 มกราคม 2555
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เผยแพร่เอกสารยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯล่าสุด ซึ่งเอกสารมีชื่อว่า “Sustaining U.S. Global Leadership : Priorities for 21st Century Defense” คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์เอกสารดังกล่าว ดังนี้
ภาพรวม
สภาวะแวดล้อมทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งข้อจำกัดทางด้านการเงิน ทำให้ต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของสหรัฐฯใหม่ โดยเปลี่ยนจากการเน้นความพร้อมในการทำสงครามในปัจจุบัน ไปเป็นการเตรียมการสำหรับสิ่งท้าทายในอนาคต และเน้นการปฏิรูป และข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ทำให้ต้องมีการตัดลดงบประมาณด้านการป้องกันประเทศลง และทำให้สหรัฐฯจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของภัยคุกคาม และภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ
การก่อการร้าย
การก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของสหรัฐฯ แม้ว่าในปีที่แล้ว จะได้สังหาร Osama Bin Laden ได้ และมีการจับกุมและสังหารผู้นำ al-Qaeda เป็นจำนวนมาก ทำให้ al-Qaeda อ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม กลุ่ม al-Qaeda และองค์กรสาขาแนวร่วมต่างๆ ยังคงมีบทบาทสำคัญในปากีสถาน อัฟกานิสถาน เยเมน และโซมาเลีย ดังนั้น ความรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้ายจะยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯและพันธมิตร โดยภัยคุกคารมที่สำคัญจะอยู่ที่เอเชียใต้และตะวันออกกลาง และด้วยการแพร่กระจายของเทคโนโลยีอาวุธร้ายแรง จะทำให้กลุ่มก่อการร้ายมีศักยภาพที่จะโจมตีสหรัฐฯด้วยอาวุธร้ายแรงในอนาคต
ดังนั้น ยุทธศาสตร์สหรัฐฯในอนาคต คือ การเฝ้าระวังและติดตามภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ร่วมมือกับพันธมิตร และโจมตีกลุ่มก่อการร้ายโดยตรง
เอเชีย
สำหรับในแง่ของภูมิภาค เอเชียได้กลายเป็นภูมิภาคที่มีลำดับความสำคัญที่สุดต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯจะปรับเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยความสัมพันธ์กับพันธมิตรและหุ้นส่วนมีความสำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาค นอกจากนี้ สหรัฐฯจะขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหุ้นส่วนใหม่ๆทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะกับอินเดีย สหรัฐฯก็กำลังจะปรับความสัมพันธ์ให้เป็นลักษณะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในอนาคต
การดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ การค้าเสรี และอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาค ขึ้นอยู่กับการถ่วงดุลอำนาจทางทหารในภูมิภาค ในระยะยาว การผงาดขึ้นมาของจีนเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค จะกระทบต่อผลประโยชน์ ทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การเพิ่มขึ้นของอำนาจทางทหารของจีน หากไม่มีความชัดเจนในแง่ของเป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์ ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคได้ สหรัฐฯจึงจะต้องเพิ่มบทบาททางทหาร เพื่อปกป้องการเข้าถึงภูมิภาคและการปฏิบัติการอย่างเสรี เพื่อธำรงไว้ซึ่งพันธกรณีกับพันธมิตร และรักษากฎหมายระหว่างประเทศ
ผมมองว่า ยุทธศาตร์ทหารของสหรัฐฯในอนาคต จะให้ความสำคัญต่อเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยสำคัญ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน สหรัฐฯมองว่า จีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง และท้าทายความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย หรือ the rise of Asia ก็จะทำให้เอเชียเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งสหรัฐฯก็จะต้องใช้กำลังทางทหารในการปกป้องผลประโยชน์ ทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาคของตนไว้
ตะวันออกกลาง
สำหรับภูมิภาคที่มีความสำคัญรองลงมาจากเอเชีย คือ ตะวันออกกลาง ยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง จะเน้นการต่อต้านการก่อการร้าย และป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรงและขีปนาวุธ ยุทธศาสตร์สหรัฐฯจะเน้นป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ปกป้องความมั่นคงของอิสราเอล และหาหนทางสร้างสันติภาพที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จในตะวันออกกลาง การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น สหรัฐฯจะต้องคงกองกำลังทหารในภูมิภาคต่อไป รวมทั้งสนับสนุนพันธมิตรในภูมิภาค
กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ทหารใหม่ของสหรัฐฯในปี 2012 ยังคงให้ความสำคัญกับการก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ในแง่ของภูมิภาค เอเชียมีความสำคัญมากที่สุด รองลงมา คือ ตะวันออกกลาง ส่วนภูมิภาคอื่นๆมีความสำคัญลดลง โดยเฉพาะ ยุโรป อัฟริกา และลาตินอเมริกา
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)